คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13996/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรมสรรพากรมีอำนาจจัดเก็บภาษีส่วนท้องถิ่นแทนกรุงเทพมหานคร โดยอาศัย พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มาตรา 112 บัญญัติว่า “กรุงเทพมหานครมีอำนาจออกข้อบัญญัติเพื่อเก็บภาษีอากร…เพิ่มขึ้นได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของภาษี …ประเภทใดประเภทหนึ่งหรือทุกประเภทดังต่อไปนี้ (1) ภาษีธุรกิจเฉพาะตาม ป.รัษฎากร… และวรรคสาม “ภาษีอากร… ตามมาตรานี้ ให้ถือเป็นภาษีอากร…ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น” ดังนั้น ภาษีส่วนท้องถิ่นร้อยละ 10 ของภาษีธุรกิจเฉพาะตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงถือเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะตาม ป.รัษฎากร ซึ่งมาตรา 5 แห่ง ป.รัษฎากรบัญญัติให้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมสรรพากร
ป.รัษฎากรลักษณะ 2 ภาษีอากรฝ่ายสรรพากร หมวด 2 วิธีการเกี่ยวแก่ภาษีอากรประเมิน ส่วน 2 การอุทธรณ์มีรายละเอียดตามมาตรา 28 ถึง 34 เป็นบทบัญญัติที่ได้กำหนดวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองในส่วนการพิจารณาอุทธรณ์ไว้โดยเฉพาะและไม่มีบทบัญญัติว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ต้องพิจารณาคำอุทธรณ์ไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ขั้นตอนพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวที่ป.รัษฎากรกำหนดไว้ จึงเข้าหลักเกณฑ์ตามข้อยกเว้นใน พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2535 มาตรา 3 วรรคสอง ที่ไม่นำความในวรรคหนึ่ง มาใช้บังคับในกรณีนี้ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่า ป.รัษฎากรในส่วนนี้ มีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรมหรือมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการต่ำหรือสูงกว่า พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 และไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 45

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ. 73.1) ที่ 02008390 – 25470130 – 006 – 00322 ลงวันที่ 30 มกราคม 2547 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ สก.2/อธ.4/11/19/48 ลงวันที่ 28 เมษายน 2548 และให้พิพากษาว่าโจทก์ไม่มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า การจัดเก็บภาษีส่วนท้องถิ่นเป็นการจัดเก็บรายได้แทนกรุงเทพมหานคร โดยอาศัยพระราชบัญญัติระเบียบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ซึ่งมาตรา 112 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “กรุงเทพมหานครมีอำนาจออกข้อบัญญัติเพื่อเก็บภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของภาษี และค่าธรรมเนียมประเภทใดประเภทหนึ่งหรือทุกประเภทดังต่อไปนี้ (1) ภาษีธุรกิจเฉพาะตามประมวลรัษฎากร (2) ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุราตามกฎหมายว่าด้วยสุรา (3) ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในการเล่นการพนันตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน” และวรรคสามบัญญัติว่า “ภาษีอากรและค่าธรรมเนียมตามมาตรานี้ ให้ถือเป็นภาษีอากรและค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น” ดังนั้น ภาษีส่วนท้องถิ่นร้อยละ 10 ของภาษีธุรกิจเฉพาะตามพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งโจทก์ไม่ยอมชำระนั้น ให้ถือเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะตามประมวลรัษฎากร ซึ่งมาตรา 5 แห่งประมวลรัษฎากรบัญญัติให้อยู่ในอำนาจหน้าที่และการควบคุมของกรมสรรพากร เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจึงมีอำนาจประเมินภาษีส่วนท้องถิ่นร้อยละ 10 ของภาษีธุรกิจเฉพาะตามประมวลรัษฎากรได้ ซึ่งเมื่อกรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะเพื่อราชการส่วนท้องถิ่นแล้ว ได้หักค่าใช้จ่ายตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ๆ แล้ว จำเลยส่งมอบภาษีธุรกิจเฉพาะทั้งจำนวนให้แก่กระทรวงมหาดไทย เพื่อให้กระทรวงมหาดไทยจัดสรรตามพระราชบัญญัติจัดสรรรายได้ประเภทภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่ราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2534 เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยมีอำนาจเรียกเก็บภาษีส่วนท้องถิ่นโดยประเมินภาษีส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้นได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของภาษีธุรกิจเฉพาะตามประมวลรัษฎากร อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในประการต่อไปว่า คณะกรรมการการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ เป็นคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ขัดต่อมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 หรือไม่ เห็นว่า ประมวลรัษฎากรลักษณะ 2 ภาษีอากรฝ่ายสรรพากร หมวด 2 วิธีการเกี่ยวแก่ภาษีอากรประเมิน ส่วน 2 การอุทธรณ์ มีรายละเอียดตามมาตรา 28 ถึง 34 เป็นบทบัญญัติที่ได้กำหนดวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองในส่วนการพิจารณาอุทธรณ์ไว้โดยเฉพาะ จึงเข้าหลักเกณฑ์ตามข้อยกเว้นในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2535 มาตรา 3 วรรคสอง ที่ไม่นำความในวรรคหนึ่ง มาใช้บังคับในกรณีนี้ ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่า ประมวลรัษฎากรในส่วนนี้ มีหลักเกณ์ที่ประกันความเป็นธรรมหรือมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการต่ำหรือสูงกว่าพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 และไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 45 อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น กรณีเช่นนี้ถือได้ว่า ศาลภาษีอากรกลางชี้ขาดตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อแล้ว คำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 (7) 142 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2548 มาตรา 17 อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลย 500 บาท

Share