คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1399/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระบุว่า ผู้กู้ผิดนัดไม่ส่งดอกเบี้ยตามอัตราและกำหนดในสัญญาแล้ว ผู้กู้ยินยอมให้ผู้ให้กู้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระนั้นทบเข้ากับต้นเงินได้เป็นรายเดือน และให้ดอกเบี้ยที่ทบเข้ากับต้นเงินกลายเป็นต้นเงินอันผู้กู้จะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันและมีกำหนดชำระอย่างเดียวกันกับที่ระบุในสัญญาข้อ 2(ภายในวันสิ้นเดือน) และสัญญาดังกล่าวไม่ได้มีกำหนดเวลาสิ้นสุดใช้บังคับได้จนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญาหรือมีการหักทอนบัญชีและเรียกให้ชำระหนี้คงเหลือก็ตามแต่เมื่อจำเลยได้ทำบันทึกข้อตกลงแก้ไขสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีครั้งที่ห้าและขอลดวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีลงจากวงเงินเดิมคงเหลือวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีภายในวงเงิน 1,700,000 บาท แล้วจำเลยเบิกถอนเงินครั้งสุดท้ายโดยวิธีถอนเงินสดบริการเงินด่วนเพียงครั้งเดียว หลังจากนั้นก็มีเพียงรายการที่จำเลยนำเงินสดเข้าฝาก และรายการที่โจทก์ คิดดอกเบี้ยแล้วนำไปทบกับต้นเงินในวันสิ้นเดือนเพื่อให้ เป็นต้นเงินต่อไป จากนั้นก็ไม่มีการถอนเงินออกจากบัญชีอีกเลย และมีการหักทอนบัญชีกันในวันที่ 31 ธันวาคม 2537 ซึ่งปรากฏว่า จำเลยเป็นหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีโจทก์ 1,696,182.61 บาท ใกล้เคียงกับวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี 1,700,000 บาทแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยว่าไม่ประสงค์จะให้มี การสะพัดทางบัญชีระหว่างกันอีกต่อไป และตาม สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีโจทก์และจำเลยกำหนดหักทอนบัญชีกัน ทุกวันสิ้นสุดของเดือน สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึง เป็นอันเลิกกันในวันที่ 31 ธันวาคม 2537 หาได้สิ้นสุด ในวันที่ 7 เมษายน 2538 อันเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาที่โจทก์ บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไม่ ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยต่อไป การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลดจำนวนต้นเงินต่ำกว่าที่ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเมื่อเป็นผลจากการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากำหนดระยะเวลาที่โจทก์จะคิดดอกเบี้ยทบต้นได้สั้นลงกว่าที่ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้ จึงเป็นการวินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นคิดดอกเบี้ยทบต้นโดยไม่ชอบ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ของประชาชน แม้จำเลยทั้งสองไม่อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ ก็มีอำนาจวินิจฉัยได้ จำเลยที่ 2 เข้ามาเกี่ยวข้องในกรณีนี้เพียงแต่เป็นผู้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยที่ 1ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์และโจทก์ชอบที่จะ ได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิ พักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยัง บุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่ ดังนี้จำเลยที่ 2 จึงต้องรับไป ทั้งสิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 1 อันมีต่อโจทก์เฉพาะที่ เกี่ยวกับทรัพย์สินซึ่งจำนองในฐานะผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง เท่านั้น แม้ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้ทำบันทึกตกลงขึ้นเงินจำนอง เป็นประกันครั้งที่สามอีกเป็นเงิน 56,000 บาท ทำให้ ยอดหนี้จำนองรวมเป็นเงิน 1,700,000 บาท ก็เป็นการจดทะเบียน เปลี่ยนแปลงจำนวนหนี้อันจำนองเป็นประกันเพื่อให้ยกขึ้น เป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกได้ โดยจำเลยที่ 2 กระทำในฐานะ เป็นผู้มีส่วนได้เสีย คือเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 746 ยอมขึ้นเงินจำนอง ในทรัพย์สินซึ่งจำนองอีกเพียง 56,000 บาท หาทำให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 หรือลูกหนี้จำนอง โดยตรงในหนี้จำนองทั้งหมด แม้บันทึกขึ้นเงินจำนองครั้งที่สาม จะมีข้อความว่า เงื่อนไขและข้อตกลงอื่น ๆ ให้เป็นไปตาม หนังสือสัญญาจำนองเดิมทุกประการ ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 2ต้องรับผิดในหนี้ที่ขาดจำนวน หากบังคับจำนองแล้วได้เงิน ไม่พอชำระหนี้ตามที่ระบุในบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนอง ที่จำเลยที่ 1 ผู้จำนองทำไว้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้เปิดบัญชีเดินสะพัดไว้กับโจทก์และต่อมาได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและเดินสะพัดทางบัญชีเรื่อยมาโดยจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันต่อมาจำเลยที่ 1 โอนให้ที่ดินซึ่งจำนองเป็นประกันดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 และไม่ชำระหนี้ให้โจทก์จนกระทั่งโจทก์บอกเลิกสัญญาขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้จำนวน 2,111,894.46 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีของต้นเงิน 2,088,605.08 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงิน 1,000,000 บาท และได้ชำระหนี้บางส่วนแล้วเหลือเพียงไม่เกิน 500,000 บาท สัญญาจำนองไม่มีผลบังคับเนื่องจากโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ได้ลงชื่อและโจทก์ไม่ได้บอกกล่าวบังคับจำนอง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ และจำเลยทั้งสองขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 1,836,298.20 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2538 ถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2538 อัตราร้อยละ 15.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2538 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2538 อัตราร้อยละ 16 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2538 ถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2538 อัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2538 ถึงวันที่ 7 ธันวาคม 2538 อัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2538 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2538 อัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2539 ถึงวันที่ 29 เมษายน 2539 และอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 93794 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน1,696,182.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 93794พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 ผู้รับโอนที่ดินแปลงดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน สำหรับจำเลยที่ 2 ให้รับผิดตามสัญญาจำนองที่จำเลยที่ 1 กระทำไว้ รวมทั้งมีบันทึกข้อตกลงขึ้นเงินจำนองเป็นประกันครั้งที่สาม รวมเป็นวงเงินจำนอง1,700,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงเมื่อใด ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.7 ข้อ 3 ระบุว่า ผู้กู้ผิดนัดไม่ส่งดอกเบี้ยตามอัตราและกำหนดในข้อ 2 แล้ว ผู้กู้ยินยอมให้ผู้ให้กู้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระนั้นทบเข้ากับต้นเงินได้เป็นรายเดือนและให้ดอกเบี้ยที่ทบเข้ากับต้นเงินกลายเป็นต้นเงินอันผู้กู้จะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราเดียวกัน และมีกำหนดชำระอย่างเดียวกันกับที่ระบุในข้อ 2 (ภายในวันสิ้นเดือน) แม้สัญญาดังกล่าวไม่ได้มีกำหนดเวลาสิ้นสุดใช้บังคับได้จนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญาหรือมีการหักทอนบัญชีและเรียกให้ชำระหนี้คงเหลือก็ตามแต่เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2537 จำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกข้อตกลงแก้ไขสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีครั้งที่ห้าขอลดวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีลงเป็นจำนวน 900,000 บาท จากวงเงินเดิม2,600,000 บาท คงเหลือวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีภายในวงเงิน1,700,000 บาท เมื่อตรวจดูใบแจ้งรายการบัญชีเดินสะพัดเอกสารหมาย จ.32 แล้ว ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินครั้งสุดท้ายโดยวิธีถอนเงินสดบริการเงินด่วนเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2537 หลังจากนั้นก็มีเพียงรายการที่จำเลยที่ 1 นำเงินสดเข้าฝากเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2537 และรายการที่โจทก์คิดดอกเบี้ยแล้วนำไปทบกับต้นเงินในวันสิ้นเดือนเพื่อให้เป็นต้นเงินต่อไป จากนั้นไม่มีการถอนเงินออกจากบัญชีอีกเลยมีการหักทอนบัญชีกันในวันที่ 31 ธันวาคม 2537 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีโจทก์ 1,696,182.61 บาทใกล้เคียงกับวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี 1,700,000 บาทตามบันทึกข้อตกลงลดวงเงินแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ไม่ประสงค์จะให้มีการสะพัดทางบัญชีระหว่างกันอีกต่อไปและตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.7 โจทก์และจำเลยที่ 1 กำหนดหักทอนบัญชีกันทุกวันสิ้นสุดของเดือนสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นอันเลิกกันในวันที่ 31 ธันวาคม 2537 หาได้สิ้นสุดในวันที่ 7 เมษายน 2538 อันเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาที่โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไม่และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 1 ต่อไป
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ไม่มีสิทธิพิพากษาลดจำนวนต้นเงินต่ำกว่าที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย เพราะจำเลยทั้งสองไม่ได้อุทธรณ์ด้วยนั้น เห็นว่า จำนวนต้นเงินที่ลดลงนั้นเป็นผลจากการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากำหนดระยะเวลาที่โจทก์จะคิดดอกเบี้ยทบต้นได้สั้นลงกว่าที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้เป็นการวินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นคิดดอกเบี้ยทบต้นโดยไม่ชอบเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยทั้งสองไม่อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจวินิจฉัยได้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ 2ต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด เห็นว่า จำเลยที่ 2 เข้ามาเกี่ยวข้องในกรณีนี้เพียงแต่เป็นผู้รับโอนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 93792ตำบลบางแคเหนือ (หลักสอง) อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานครพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์ โจทก์ชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่จำเลยที่ 2 จึงต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 1 อันมีต่อโจทก์เฉพาะที่เกี่ยวกับทรัพย์สินซึ่งจำนองในฐานะผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองเท่านั้น แม้ต่อมาเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2535 จำเลยที่ 2 ได้ทำบันทึกตกลงขึ้นเงินจำนองเป็นประกันครั้งที่สามอีกเป็นเงิน 56,000 บาท ทำให้ยอดหนี้จำนองรวมเป็นเงิน 1,700,000 บาท ก็เป็นการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงจำนวนหนี้อันจำนองเป็นประกันเพื่อให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกได้ โดยจำเลยที่ 2 กระทำในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้เสียคือเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 746 ยอมขึ้นเงินจำนองในทรัพย์สินซึ่งจำนองอีกเพียง 56,000 บาท หาทำให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 หรือลูกหนี้จำนองโดยตรงในหนี้จำนองทั้งหมดไม่ แม้บันทึกขึ้นเงินจำนองครั้งที่สามจะมีข้อความว่า เงื่อนไขและข้อตกลงอื่น ๆ ให้เป็นไปตามหนังสือสัญญาจำนองเดิมทุกประการ ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 2ต้องรับผิดในหนี้ที่ขาดจำนวนหากบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ตามบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองที่จำเลยที่ 1ผู้จำนองทำไว้แก่โจทก์แต่อย่างใด
พิพากษายืน

Share