คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1397/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้การต่อสู้ไว้ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยหาจำต้องอุทธรณ์ประเด็นนี้ไม่แต่เมื่อโจทก์อุทธรณ์ในประเด็นอื่นจำเลยได้กล่าวคำแก้อุทธรณ์ถึงประเด็นข้อนี้แล้วคดีจึงมีประเด็นตามคำแก้อุทธรณ์แต่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบศาลฎีกาหยิบยกปัญหาข้อนี้ขึ้นวินิจฉัยได้ โจทก์ฟ้องขอให้บังคับตามสิทธิที่โจทก์ได้ครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของมาเกินสิบปีการที่โจทก์บรรยายถึงการเป็นทายาทก็เพียงให้ทราบว่าโจทก์เข้ามาอยู่ในที่ดินพิพาทได้อย่างไรเท่านั้นไม่มีประเด็นเรื่องมรดกหรือขอแบ่งมรดกและที่ศาลชั้นต้นตั้งประเด็นไว้ข้อหนึ่งว่าโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทหรือไม่ก็หมายความว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในฐานะที่ได้ครอบครองปรปักษ์หรือไม่ตามที่กล่าวในฟ้องนั่นเองการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสองเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกแทนอ. ถือว่าเป็นเจ้าของรวมและมีสิทธิฟ้องขอแบ่งที่ดินพิพาทได้นั้นจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ทั้งสองร่วมกันครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลากว่า10ปีจำเลยทั้งหกเป็นทายาทผู้มีชื่อในโฉนดซึ่งยังมิได้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนขอให้จำเลยทั้งหกร่วมกันส่งมอบโฉนดเพื่อนำไปทำนิติกรรมแบ่งแยกที่ดินซึ่งจำเลยยึดถือโฉนดไว้ไม่ได้บรรยายว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งหกเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดดังกล่าวร่วมกันโจทก์ทั้งสองประสงค์จะแบ่งแยกทั้งมิได้มีคำขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าโจทก์ทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์แม้จะฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งหกอยู่ในที่ดินแปลงที่ฝ่ายจำเลยเป็นผู้ยึดถือโฉนดไว้แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยคนใดเป็นผู้มีชื่อในโฉนดจึงไม่มีหน้าที่จะต้องไปจดทะเบียนแบ่งแยกโฉนดที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสองโจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง เรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลยกขึ้นได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา142()ประกอบด้วยมาตรา246,247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 10116 เป็นของนางเต็มนางแตงและนางบุญ ซึ่งได้แบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดเนื้อที่เท่ากัน โดยนางเต็มครอบครองแปลงหมายสีแดงนางแตงครอบครองแปลงหมายสีเหลือง และนางบุญครอบครองแปลงหมายสีเขียวตามแผนที่สังเขปท้ายคำฟ้องก่อนนางเต็มถึงแก่ความตายได้ยกที่ดินให้แก่นายไหลกับนายอ่อนผู้เป็นบุตร ก่อนนายอ่อนถึงแก่ความตายได้ยกที่ดินให้นายอ่วนผู้เป็นบุตรกับโจทก์ที่ 2 ผู้เป็นบุตรสะใภ้ ก่อนนายอ่วนถึงแก่ความตายได้ยกที่ดินให้โจทก์ที่ 2 กับโจทก์ที่ 1 โดยเพียงแต่ส่งมอบที่ดินและมอบการครอบครองให้ต่อมานายไหลขายที่ดินส่วนของตนให้โจทก์ที่ 2 โจทก์ทั้งสองเข้าครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าว โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 10 ปี แล้ว จึงตกเป็นกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองเมื่อ 50 ปี ก่อนนี้ นางแตงกับนางบุญถึงแก่ความตาย ที่ดินแปลงหมายสีเหลืองเป็นมรดกตกได้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ดินแปลงหมายสีเขียวเป็นมรดกตกได้แก่จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 แล้วต่างครอบครองในฐานะเจ้าของโดยความสงบและโดยเปิดเผยต่อมา แต่ยังมิได้จดทะเบียนแก้ชื่อในโฉนดที่ดินจนบัดนี้ โจทก์ทั้งสองต้องการแบ่งแยกที่ดินส่วนของตน ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกส่งมอบโฉนดที่ดินแก่โจทก์ทั้งสองแล้วไปทำนิติกรรมแบ่งแยกโฉนดที่ดินเลขที่ 10116 แปลงหมายสีแดงตามแผนที่ท้ายคำฟ้อง หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา หากไม่อาจแบ่งแยกกันได้ก็ขอให้นำที่ดินออกประมูลระหว่างกันเองหรือขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันตามส่วน
จำเลยทั้งหกให้การว่า นางเต็มนางแตงและนางบุญผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินที่พิพาท ได้ครอบครองที่ดินร่วมระคนปนกันมิได้แบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัด เมื่อผู้มีชื่อในโฉนดถึงแก่ความตาย จำเลยทั้งหกซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมได้รับมรดกแล้วร่วมกันครอบครองที่ดินมาโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาเกินกว่า 10 ปีแล้วจำเลยทั้งหกจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาท ฟ้องโจทก์ทั้งสองเคลือบคลุมขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 10116 ให้แก่โจทก์ทั้งสองเพื่อนำไปขอรับมรดกส่วนของนางเต็มและแบ่งแยกออกเป็นโฉนดใหม่ต่อไปหากฝ่ายจำเลยไม่ยอมส่งมอบโฉนดก็ให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการแบ่งแยกที่ดินและออกโฉนดให้โจทก์ทั้งสองใหม่ตามคำพิพากษาต่อไปโดยให้บันทึกหมายเหตุไว้ในต้นฉบับโฉนดเลขที่10116 ฉบับราชการด้วย คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งหกฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งหมด ให้การต่อสู้คดีไว้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งหกหาจำต้องอุทธรณ์เฉพาะประเด็นข้อนี้ไม่เพราะจำเลยทั้งหกเป็นฝ่ายชนะคดีแล้ว เมื่อโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์คดีนี้ในประเด็นข้ออื่น จำเลยทั้งหกได้กล่าวคำแก้อุทธรณ์ถึงประเด็นข้อนี้แล้วคดีจึงมีประเด็นตามคำแก้อุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาชอบที่จะหยิบยกปัญหาข้อนี้ขึ้นวินิจฉัยได้ เมื่อคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองได้ระบุแนวอาณาเขตที่ดินพิพาทไว้ในแผนที่สังเขปท้ายคำฟ้อง โดยจำเลยทั้งหกก็ได้ให้การปฏิเสธสามารถนำสืบถึงได้ ส่วนเรื่องราคาที่ดินพิพาทโจทก์ทั้งสองก็ได้ตั้งเป็นทุนทรัพย์ไว้แล้ว อันเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา และโจทก์ทั้งสองก็ขอให้จำเลยทั้งหกแบ่งแยกที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ทั้งสองหรือให้ประมูลขายทอดตลาด อันเป็นคำขอบังคับทั้งยังได้บรรยายฟ้องถึงว่าโจทก์ทั้งสองได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองอีก อันเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นชอบแล้วดังนั้นฟ้องโจทก์จึงหาเคลือบคลุมไม่
แม้โจทก์จะได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์ที่ 1 เป็นบุตรนายอ่วนและโจทก์ที่ 2 เป็นภรรยานายอ่วน นายอ่วนเป็นบุตรนายอ่อนนายอ่อนเป็นบุตรนางเต็ม ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดแต่โจทก์ก็ขอให้บังคับตามสิทธิที่โจทก์ได้ครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของมาเกินสิบปี การที่โจทก์บรรยายถึงการเป็นทายาท ก็เพียงให้ทราบว่าโจทก์ทั้งสองเข้ามาอยู่ในที่ดินพิพาทได้อย่างไรเท่านั้น ไม่มีประเด็นเรื่องมรดกหรือขอแบ่งมรดกและที่ศาลชั้นต้นตั้งประเด็นไว้ในข้อ 2 ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหรือไม่ ก็หมายความว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในฐานะที่ได้ครอบครองปรปักษ์หรือไม่ตามที่กล่าวในฟ้องนั่นเอง การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสองเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่นายอ่วน ถือว่าเป็นเจ้าของรวมและมีสิทธิฟ้องขอแบ่งที่ดินพิพาทได้นั้น เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองร่วมกันครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีและบรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งหกเป็นทายาทของผู้มีชื่อในโฉนดซึ่งยังมิได้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน ขอให้จำเลยทั้งหกร่วมกันส่งมอบโฉนดเพื่อนำไปทำนิติกรรมแบ่งแยกที่ดินเพราะจำเลยเป็นฝ่ายยึดถือโฉนดไว้ ไม่ได้บรรยายว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งหกเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดดังกล่าวร่วมกันแล้ว โจทก์ทั้งสองมีความประสงค์จะแบ่งแยกที่ดินนั้นทั้งมิได้มีคำขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแสดงว่าโจทก์ทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ แม้จะฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งหกอยู่ในที่ดินแปลงที่ฝ่ายจำเลยเป็นผู้ยึดถือโฉนดที่ดินไว้ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยคนใดเป็นผู้มีชื่อในโฉนดดังกล่าวจึงไม่มีหน้าที่จะต้องไปจดทะเบียนแบ่งแยกโฉนดที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสองโจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง และเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งศาลยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share