แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดทั้งตามสัญญาจ้างแรงงานและในมูลละเมิด ในกรณีเช่นนี้โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องได้ทั้งสองทาง แม้โจทก์จะทราบการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดอย่างช้าในวันที่ 25 มกราคม 2554 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2555 เกินกว่า 1 ปี อันทำให้สิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดขาดอายุความดังที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 อ้างก็ตาม แต่สิทธิเรียกร้องอันเกิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะต้องถืออายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาแรงงานยักยอกเงินไประหว่างวันที่ 5 มกราคม 2552 ถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2553 เมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่พ้น 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์มอบอำนาจให้ ส. บ. และ จ. คนใดคนหนึ่งมีอำนาจกระทำการต่างๆ แทนโจทก์ไว้ 6 ข้อ จึงเป็นการมอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียว โดยให้บุคคลหลายคนกระทำกิจการแยกกันได้ค่าอากรแสตมป์จึงต้องคิดตามรายตัวบุคคลที่รับมอบอำนาจคนละ 30 บาท ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ข้อ 7 (ค) ท้าย ป.รัษฎากร ดังนั้นหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ต้องปิดอากรแสตมป์ 90 บาท แต่การปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนตาม ป.รัษฎากร มาตรา 113 และมาตรา 114 เพียงให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่เรียกเก็บเงินอากรจนครบพร้อมเงินเพิ่มอากรเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าในชั้นสืบพยานโจทก์ โจทก์ได้ปิดอากรแสตมป์เพิ่มเติมอีก 60 บาท จากที่ปิดอากรแสตมป์ไว้เดิมเพียง 30 บาท พร้อมขีดฆ่าแสตมป์นั้นแล้ว แม้ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เสียเงินเพิ่มอากร ศาลก็รับฟังหนังสือมอบอำนาจให้ดำเนินคดีเป็นพยานหลักฐานได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย และจำเลยที่ 3 ร่วมชดใช้จำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัด
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 4 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงิน 15,680,052 บาท และจำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ชำระเงินดังกล่าวจำนวน 19,360 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของยอดเงินที่จำเลยแต่ละคนต้องชำระ นับแต่วันที่ 30 มีนาคม 2555 (วันฟ้อง) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้หากโจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 หรือที่ 2 แล้วเพียงใด ให้ถือว่าได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 2 หรือที่ 1 แล้วแต่กรณี แล้วเพียงนั้นด้วย คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 4 วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ โจทก์มีอำนาจฟ้อง และรับฟังข้อเท็จจริงว่า ระหว่างวันที่ 5 มกราคม 2552 ถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2553 จำเลยที่ 1 ทุจริตเอาเงินของโจทก์ไป 16,180,052 บาท แล้วชดใช้คืนด้วยตนเอง 300,000 บาท และชดใช้คืนโดยผู้ค้ำประกันการทำงานจำเลยที่ 1 จำนวน 200,000 บาท คงเหลือความเสียหายที่โจทก์ยังไม่ได้รับชดใช้ 15,680,052 บาท จำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ไม่ควบคุมกำกับดูแลการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 ให้สมกับที่ตนทำงานในตำแหน่งผู้จัดการ เป็นการผิดสัญญาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ไม่เกินหกสิบเท่าของค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยของจำเลยที่ 2 คิดเป็นเงิน 19,360 บาท ตามประกาศกระทรวงแรงงานเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ประการแรกว่าคำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องพอที่จะทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับการกระทำของจำเลยที่ 1 อย่างไร จำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ในลักษณะใด จำเลยที่ 2 ไม่ได้กำกับดูแลการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 ให้ถูกต้องอย่างไร และฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 ผิดสัญญาจ้างแรงงานหรือละเมิดซึ่งขัดกันเอง เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 รับเงินค่าสมัคร ค่าบำรุงและเงินสงเคราะห์ศพล่วงหน้าจากสมาชิกของโจทก์แล้วนำฝากธนาคารในบัญชีโจทก์ไม่ครบ โดยยักยอกไปบางส่วนรวม 290 ครั้ง เป็นเงิน 16,383,199 บาท จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการของโจทก์มีหน้าที่ควบคุม กำกับ ดูแลการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่ควบคุม กำกับ ดูแลการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 ตามหน้าที่เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว ซึ่งคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว ย่อมเข้าใจได้ว่าโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับการกระทำของจำเลยที่ 1 ฐานปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานในขณะเดียวกันการกระทำของจำเลยที่ 2 ก็เป็นการละเมิดต่อโจทก์ด้วยซึ่งทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ทรัพย์สิน คำฟ้องของโจทก์ไม่ได้ขัดกันเอง ส่วนข้อที่ว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้กำกับดูแลการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 ให้ถูกต้องอย่างไร ประมาทเลินเล่ออย่างไร เป็นรายละเอียดที่โจทก์นำสืบในชั้นพิจารณาได้ คำฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อไปว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดทั้งตามสัญญาจ้างแรงงานและในมูลละเมิด ในกรณีเช่นนี้โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องได้ทั้งสองทาง แม้โจทก์จะทราบการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดอย่างช้าในวันที่ 25 มกราคม 2554 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2555 เกินกว่า 1 ปี อันทำให้สิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดขาดอายุความดังที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 อ้างก็ตาม แต่สิทธิเรียกร้องอันเกิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะต้องถืออายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาแรงงานยักยอกเงินไประหว่างวันที่ 5 มกราคม 2552 ถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2553 เมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่พ้น 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อไปอีกว่าหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 กล่าวอ้างว่าหนังสือมอบอำนาจไม่ได้ระบุให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 และไม่ได้ระบุให้ฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน กับหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวปิดอากรแสตมป์ไม่บริบูรณ์จึงใช้เป็นพยานหลักฐานไม่ได้ เห็นว่า หนังสือมอบอำนาจมีข้อความที่เป็นสาระสำคัญสรุปได้ว่า โจทก์โดยคณะกรรมการอำนวยการขอมอบอำนาจให้นายสมัย นายบุญลอด และนางสมจิตร์ คนใดคนหนึ่งมีอำนาจทำการแทนในนามและเพื่อประโยชน์ของโจทก์ในกิจการรวม 6 ข้อ โดยในข้อ 1 ระบุให้มีอำนาจในการดำเนินคดีแพ่งให้มีอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่งทั้งปวง อันเป็นการมอบอำนาจทั่วไป ซึ่งการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเช่นนี้ไม่จำต้องระบุบุคคลที่จะต้องถูกฟ้องไว้โดยเฉพาะ ทั้งการมอบอำนาจให้ฟ้องร้องดังกล่าวมีความหมายอยู่ในตัวว่าให้ฟ้องต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั่นเองซึ่งคดีนี้คือศาลแรงงานภาค 4 ดังนั้นนายสมัยจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 แทนโจทก์ ส่วนปัญหาการปิดอากรแสตมป์ ปรากฏข้อเท็จจริงว่าหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีลงวันที่ 13 กันยายน 2554 เดิมโจทก์ปิดอากรแสตมป์ 30 บาท โจทก์อ้างส่งสำเนาศาลแรงงานภาค 4 รับไว้ โดยส่งต้นฉบับคืนโจทก์ ต่อมาระหว่างสืบพยานโจทก์ โจทก์ยื่นคำร้องขอปิดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วนบริบูรณ์ ศาลแรงงานภาค 4 อนุญาต โจทก์จึงปิดอากรแสตมป์เพิ่มเติมในหนังสือมอบอำนาจต้นฉบับอีก 60 บาท พร้อมขีดฆ่าแสตมป์ฉบับนั้นแล้ว รวมเป็นปิดอากรแสตมป์ 90 บาท โดยโจทก์ส่งต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจต่อศาลแรงงานภาค 4 เห็นว่า หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์มอบอำนาจให้นายสมัย นายบุญลอดและนางสมจิตร์ คนใดคนหนึ่งมีอำนาจกระทำการต่างๆ แทนโจทก์ไว้ 6 ข้อ จึงเป็นการมอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียว โดยให้บุคคลหลายคนกระทำกิจการแยกกันได้ค่าอากรแสตมป์จึงต้องคิดตามรายตัวบุคคลที่รับมอบอำนาจคนละ 30 บาท ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ข้อ 7 (ค) ท้ายประมวลรัษฎากร ดังนั้นหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ต้องปิดอากรแสตมป์ 90 บาท แต่การปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 113 และมาตรา 114 เพียงให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่เรียกเก็บเงินอากรจนครบพร้อมเงินเพิ่มอากรเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าในชั้นสืบพยานโจทก์ โจทก์ได้ปิดอากรแสตมป์เพิ่มเติมอีก 60 บาท จากที่ปิดอากรแสตมป์ไว้เดิมเพียง 30 บาท พร้อมขีดฆ่าแสตมป์นั้นแล้ว แม้ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เสียเงินเพิ่มอากรศาลก็รับฟังหนังสือมอบอำนาจให้ดำเนินคดีเป็นพยานหลักฐานได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ทั้งพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยที่ 2 ข้อหายักยอกทรัพย์โจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่ผิดสัญญาจ้างแรงงานและไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานภาค 4 รับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ไม่ควบคุมกำกับดูแลการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 เป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วย ดังนี้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานภาค 4 รับฟังมา เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ว่าหนังสือค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 ทำไว้ต่อโจทก์ไม่มีข้อความว่าจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในการกระทำประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดตามหนังสือค้ำประกันนั้น เห็นว่า หนังสือค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 ทำไว้ต่อโจทก์ ข้อ 1 กำหนดว่า “ตามที่สมาคมได้บรรจุแต่งตั้งนางสาวพัชราภรณ์ ตำแหน่งผู้จัดการสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ลูกค้า ธ.ก.ส. จังหวัดร้อยเอ็ด 2 นั้น นับแต่เวลานี้เป็นต้นไป ถ้าปรากฏว่าพนักงานผู้นี้ก่อให้เกิดความเสียหายหรือหนี้สินแก่สมาคมฯ ไม่ว่าโดยประการใดๆ ข้าพเจ้ายินยอมชดใช้ความเสียหายหรือหนี้สินแทนเป็นจำนวนเงินไม่เกิน 200,000 บาท (สองแสนบาทถ้วน) ให้แก่สมาคมฯ…” ตามหนังสือดังกล่าวเป็นการค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 2 ในกรณีจำเลยที่ 2 กระทำการในทางการที่จ้างก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทุกกรณีไม่ว่าจะเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานหรือการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าว อุทธรณ์ส่วนนี้ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน