แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ความเกี่ยวพันระหว่างบริษัทกับกรรมการนั้น ป.พ.พ มาตรา 1167ให้บังคับตามกฎหมายว่าด้วยตัวแทน ดังนั้น ส. ในฐานะกรรมการย่อมบอกเลิกการเป็นผู้แทนโจทก์ในเวลาใด ๆ ก็ได้ และมีผลทันทีเมื่อแสดงเจตนาแก่โจทก์ตามมาตรา 826,827,386 หาใช่มีผลเมื่อโจทก์นำไปจดทะเบียนต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแล้วไม่ส่วนการบังคับให้จดทะเบียนตามมาตรา 1023 นั้น เป็นกรณีที่โจทก์จะถือเอาประโยชน์แก่บุคคลภายนอกถึงการเปลี่ยนแปลงยังไม่ได้จนกว่าจะได้พิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว แต่จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกย่อมถือเอาประโยชน์เช่นว่านั้นได้ โจทก์มอบอำนาจให้ จ. ฟ้องคดีโดยมี ส. ร่วมลงลายมือชื่อกับกรรมการอื่นของโจทก์กระทำการแทนโจทก์ แต่ ส. ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการของโจทก์ไปก่อนหน้านี้แล้ว การกระทำของ ส.จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจ จ. ผู้รับมอบอำนาจจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัดจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลโดยมอบอำนาจให้นายจิรัฐ ลาวัลย์ตระกูล เป็นผู้ฟ้องคดีแทนโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คที่จำเลยเป็นผู้สั่งจ่าย ต่อมาเช็คถึงกำหนดโจทก์นำไปเรียกเก็บธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า นายแสงชัย ชัยพัฒนาการ นายไชยยงค์ ฆังนิมิตรและนายเจริญ ประสิทธิ์วรากุล จะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์หรือไม่ จำเลยไม่รับรอง วันที่ 7 ธันวาคม 2530 บุคคลทั้งสามไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจไม่ใช่ลายมือชื่ออันแท้จริงของนายไชยยงค์ นายแสงชัยหรือนายเจริญ ตราประทับของโจทก์เป็นตราปลอม คดีโจทก์ขาดอายุความ 1 ปีนับจากวันที่ลงในเช็ค ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยออกเช็คให้โจทก์เพื่อเป็นหลักฐานทางบัญชีมิใช่ออกให้เพื่อชำระหนี้ หากเช็คมีมูลหนี้ก็เป็นหนี้ที่ไม่มีกำหนดเวลาชำระ จำเลยยังไม่ผิดนัด โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อแรกว่านายจิรัฐ ลาวัลย์ตระกูล ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ มีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ได้หรือไม่ เห็นว่า นายจิรัฐผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความยอมรับว่านายแสงชัย ชัยพัฒนาการ กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ซึ่งร่วมลงลายมือชื่อกับนายไชยยงค์ ฆังนิมิตร กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์อีกนายหนึ่งมอบอำนาจให้นายจิรัฐฟ้องจำเลยคดีนี้ได้ยื่นใบลาออกจากการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม2530 แล้วตามสำเนาหนังสือลาออกเอกสารหมาย จ.2 แต่ตามหนังสือมอบอำนาจให้นายจิรัฐฟ้องคดีนี้ตามเอกสารหมาย จ.6 ปรากฏว่าลงวันที่ 7 ธันวาคม 2530 เป็นวันที่หลังจากนายแสงชัยลาออกจากการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์แล้ว หนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งมีนายแสงชัยร่วมลงลายมือชื่อด้วย จึงไม่ต้องด้วยข้อบังคับของโจทก์ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.5ที่กำหนดให้กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ คือ นายแสงชัยชัยพัฒนาการ นายไชยยงค์ ฆังนิมิตร และนายเจริญ ประสิทธิ์วรากุลโดยกรรมการสองในสามคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราบริษัทจึงจะกระทำการผูกพันโจทก์ การที่นายแสงชัยพ้นจากสภาพเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ด้วยการลาออกแล้วยังมาร่วมลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้นายจิรัฐฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.6อีกเป็นการกระทำที่ปราศจากอำนาจ นายจิรัฐจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ ที่โจทก์ฎีกาโต้แย้งว่าการลาออกของนายแสงชัยยังไม่มีผลตามกฎหมายเพราะยังไม่ได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงนั้นเห็นว่าความเกี่ยวพันกันในระหว่างบริษัทโจทก์กับนายแสงชัยผู้เป็นกรรมการนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1167 กำหนดให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยตัวแทน ฉะนั้นนายแสงชัยย่อมจะบอกเลิกการเป็นผู้แทนของโจทก์เสียในเวลาใด ๆก็ได้ทุกเมื่อและย่อมมีผลทันทีเมื่อได้แสดงเจตนาแก่โจทก์ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 826, 827, 386 หาใช่มีผลต่อเมื่อโจทก์ได้นำไปจดทะเบียนต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแล้วไม่ ส่วนการบังคับให้จดทะเบียนตามมาตรา 1023 นั้น เป็นกรณีที่โจทก์จะถือเอาประโยชน์แก่บุคคลภายนอกถึงการเปลี่ยนแปลงยังไม่ได้ จนกว่าจะได้ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว แต่จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกย่อมจะถือเอาประโยชน์เช่นว่านั้นได้ ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นคดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์ในปัญหาข้ออื่นอีกต่อไป”
พิพากษายืน