แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
บทบัญญัติใน พ.ร.บ.กองทุนเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 45 ให้ความสำคัญเรื่องการเรียกเก็บเงินสมทบโดยคำนึงถึงตัวนายจ้างเป็นหลัก หากข้อเท็จจริงจากตัวนายจ้างเปลี่ยนแปลงไปย่อมทำให้การประเมินเพื่อเรียกเก็บเงินสมทบจากนายจ้างเปลี่ยนแปลงไปด้วย เมื่อโจทก์เกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการของบริษัทในเครือเดียวกันเข้าด้วยกันและก่อนควบรวมกิจการบริษัททั้ง 7 แห่ง ต่างก็มีฐานะเป็นนายจ้างแยกจากกันซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้แยกประเมินเพื่อเรียกเก็บเงินสมทบแยกกันไปตามรายกิจการ เมื่อบริษัททั้ง 7 แห่ง มาควบรวมกิจการกันเป็นบริษัทใหม่ย่อมทำให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวนายจ้างของแต่ละบริษัทเปลี่ยนแปลงไป ต้องถือว่าบริษัทโจทก์ที่จดทะเบียนก่อตั้งขึ้นใหม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลใหม่และเป็นนายจ้างใหม่ตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 ใหม่ด้วย เมื่อโจทก์ขึ้นทะเบียนกองทุนเงินทดแทนใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2551 โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนในอัตราเงินสมทบร้อยละ 0.40 ของค่าจ้าง การที่โจทก์จะขอนำระยะเวลาในการจ่ายเงินสมทบของบริษัทในเครือมารวมคำนวณเพื่อขอลดอัตราดังกล่าวเพื่อชำระเงินสมทบน้อยลงย่อมไม่ชอบ ทั้งการควบรวมบริษัทในเครือเข้าด้วยกันก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ของโจทก์ในการดำเนินธุรกิจ มิใช่เพื่อประโยชน์ของลูกจ้างโดยตรง และวิธีการในการประเมินเงินสมทบได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วใน พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 โจทก์จะยกอ้างเอาสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1243 ซึ่งเป็นหลักทั่วไปมาปรับใช้แก่กรณีของโจทก์หาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 14 ตามคำวินิจฉัยที่ 423/2551 โดยถือว่าสิทธิและประวัติในการจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนที่กลุ่มบริษัทโจทก์เดิมจ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อนควบรวมกิจการเป็นโจทก์ในนามของโจทก์ด้วยและมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายเงินสมทบสำหรับปี 2551 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2551 ถึงเดือนธันวาคม 2551 ในอัตราร้อยละ 0.08 ของเงินค่าจ้างและให้จำเลยที่ 1 คืนเงินแก่โจทก์จำนวน 10,272,009.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 599,435.08 บาท และชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 10,272,009.60 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระให้โจทก์เสร็จและชำระต้นเงินจำนวน 481,479.13 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 481,479.13 บาท นับแต่วันที่ 20 มีนาคม 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์เสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 คำนวณหาอัตราการสูญเสียของโจทก์ในปีถัดไปทุกปีเพื่อทำการประเมินเรียกเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนของจำเลยที่ 1 เริ่มตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นไป โดยให้จำเลยที่ 1 นำประวัติอัตราการสูญเสียและประวัติการจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนของกลุ่มบริษัทโจทก์เดิมดังกล่าวก่อนควบรวมเป็นโจทก์มาเป็นประวัติของโจทก์ถือเสมือนหนึ่งว่ากลุ่มบริษัทโจทก์เดิมเป็นบริษัทเดียวกับโจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 14 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 1 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดที่เกิดจากการควบรวมบริษัทในกลุ่มบริษัทโจทก์เดิมรวม 7 บริษัท กลุ่มบริษัทดังกล่าวประกอบธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และมีผู้ถือหุ้น กรรมการ และพนักงานชุดเดียวกัน โจทก์ควบรวมบริษัทในเครือในเดือนเมษายน 2551 ทรัพย์สินต่าง ๆ ของบริษัทในกลุ่มบริษัทโจทก์เดิมมาเป็นของโจทก์ ก่อนควบรวมบริษัทในกลุ่มบริษัทโจทก์เดิมจ่ายเงินสมทบแต่ละบริษัทในอัตราร้อยละ 0.08 กลุ่มบริษัทโจทก์เดิมดำเนินกิจการมาก่อนควบรวมประมาณ 20 ปี ได้รับรางวัลต่าง ๆ จากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานหลังจากควบรวมแล้วยังได้รับรางวัลต่อเนื่อง เมื่อควบรวมแล้วมีการใช้สถานประกอบการเดิมดำเนินกิจการเหมือนเดิม พนักงานในกลุ่มบริษัทโจทก์เดิมโอนมาเป็นพนักงานของโจทก์และได้รับอายุงานต่อเนื่องไม่มีการเลิกจ้าง ต้นปี 2551 โจทก์จ่ายเงินสมทบในอัตราร้อยละ 0.08 ต่อมาจำเลยที่ 1 มีหนังสือเรียกให้โจทก์ชำระเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนในอัตราร้อยละ 0.40 ซึ่งเป็นอัตราที่เรียกเก็บของบริษัทใหม่ที่มีลักษณะกิจการในการผลิตและประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งต้องจ่ายเงินสมทบในอัตราร้อยละ 0.40 ของค่าจ้าง โดยตามกฎหมายนายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบในอัตราคงที่เป็นระยะเวลา 4 ปี หลังจากนั้นอาจเพิ่มหรือลดได้ขึ้นอยู่กับลูกจ้างใช้สิทธิเรียกเงินทดแทนมากหรือน้อย หากลูกจ้างประสบภัยจากการทำงานมากก็จะเรียกเงินสมทบเพิ่ม หากลูกจ้างประสบภัยจากการทำงานน้อยก็จะมีการลดอัตราเรียกเก็บเงินสมทบซึ่งเรียกว่าอัตราเงินสมทบตามประสบการณ์ จำเลยที่ 1 เห็นว่าโจทก์ไม่สามารถนำอัตราเงินสมทบตามประสบการณ์ของบริษัททั้งเจ็ดเดิมมาเป็นอัตราเงินสมทบของโจทก์ได้เนื่องจากเป็นสิทธิเฉพาะตัวและเป็นการประเมินแต่ละบริษัท โจทก์ไม่เคยจ่ายเงินสมทบมาก่อน โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 โดยนำเงินสมทบตามอัตราที่จำเลยที่ 1 เรียกเก็บไปวางต่อจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 2 ถึงที่ 14 ซึ่งเป็นคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนพิจารณาอุทธรณ์แล้วมีความเห็นว่าโจทก์เป็นบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นใหม่จึงให้จ่ายเงินสมทบในอัตราร้อยละ 0.40 ของค่าจ้าง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คำสั่งของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 14 ที่ให้โจทก์จ่ายเงินสมทบในอัตราร้อยละ 0.40 ของเงินค่าจ้างประจำปีชอบหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 45 บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์ในการเรียกเก็บเงินสมทบจากนายจ้างตามมาตรา 44 ให้กระทรวงแรงงานมีอำนาจประกาศกำหนดอัตราเงินสมทบไม่เกินร้อยละห้าของค่าจ้างที่นายจ้างจ่ายแต่ละปี อัตราเงินฝากสำหรับกรณีที่นายจ้างขอจ่ายเงินสมทบเป็นงวดไม่เกินร้อยละยี่สิบห้าของเงินสมทบแต่ละปี วิธีการประเมินและการเรียกเก็บเงินสมทบจากนายจ้างตลอดจนระเบียบวิธีการอันจำเป็นเพื่อให้สำนักงานดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ การกำหนดอัตราเงินสมทบ ตามวรรคหนึ่งให้คำนึงถึงสถิติการประสบอันตรายของแต่ละประเภทกิจการ ภาระของกองทุน และจำนวนเงินของกองทุนที่มีอยู่ ให้กระทรวงแรงงานมีอำนาจในการประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการลดหรือเพิ่มอัตราเงินสมทบตามวรรคหนึ่งให้แก่นายจ้างตามอัตราส่วนการสูญเสียของนายจ้างในรอบสามปีปฏิทินที่ผ่านมา” จากบทบัญญัติดังกล่าวกฎหมายให้ความสำคัญเรื่องการเรียกเก็บเงินสมทบโดยคำนึงถึงตัวนายจ้างเป็นหลัก หากข้อเท็จจริงจากตัวนายจ้างเปลี่ยนแปลงไปย่อมทำให้การประเมินเพื่อเรียกเก็บเงินสมทบจากนายจ้างเปลี่ยนแปลงไปด้วย เมื่อโจทก์เกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการของบริษัทในเครือเดียวกันเข้าด้วยกันและก่อนควบรวมกิจการบริษัททั้ง 7 แห่ง ต่างก็มีฐานะเป็นนายจ้างแยกจากกันซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้แยกประเมินเพื่อเรียกเก็บเงินสมทบแยกกันไปตามรายกิจการ เมื่อบริษัททั้ง 7 แห่ง มาควบรวมกิจการกันเป็นบริษัทใหม่ย่อมทำให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวนายจ้างของแต่ละบริษัทเปลี่ยนแปลงไป ต้องถือว่าบริษัทโจทก์ที่จดทะเบียนก่อตั้งขึ้นใหม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลใหม่และเป็นนายจ้างใหม่ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 ใหม่ด้วย เมื่อโจทก์ขึ้นทะเบียนกองทุนเงินทดแทนใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2551 โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนในอัตราเงินสมทบร้อยละ 0.40 ของค่าจ้าง การที่โจทก์จะขอนำระยะเวลาในการจ่ายเงินสมทบของบริษัทในเครือมารวมคำนวณเพื่อขอลดอัตราดังกล่าวเพื่อชำระเงินสมทบน้อยลงย่อมไม่ชอบ ทั้งการควบรวมบริษัทในเครือเข้าด้วยกันก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ของโจทก์ในการดำเนินธุรกิจ มิใช่เพื่อประโยชน์ของลูกจ้างโดยตรง และวิธีการในการประเมินเงินสมทบได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วในพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 โจทก์จะยกอ้างเอาสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1243 ซึ่งเป็นหลักทั่วไปมาปรับใช้แก่กรณีของโจทก์หาได้ไม่ ที่ศาลแรงงานภาค 1 พิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น อุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน