คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1396/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โรงงานของจำเลยที่ 1 เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่ปล่อยของเสีย ก่อให้เกิดการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษเป็นต้นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นและโจทก์ที่ 5 กับพวกเสียหาย จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ครอบครองมลพิษนั้น มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าทดแทนเพื่อการนั้น ไม่ว่าการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษนั้นจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 หรือไม่ก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้กล่าวอ้างและพิสูจน์ว่ามลพิษนั้นเกิดจากข้อยกเว้นความรับผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา 96 (1) ถึง (3) แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 5 กับพวก ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 96
จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ซึ่งการแสดงออกของบริษัทย่อมกระทำโดยทางกรรมการ ความเกี่ยวพันระหว่างกรรมการและบริษัทกับบุคคลภายนอกนั้น ให้บังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน กิจการใดอันเป็นหน้าที่ของบริษัทจะต้องกระทำย่อมเป็นหน้าที่ของกรรมการต้องกระทำการแทน จำเลยที่ 2 ย่อมทราบดีว่า การปล่อยน้ำเสียทิ้งออกสู่คลองสาธารณะย่อมก่อให้เกิดมลพิษและความเสียหายแก่แหล่งน้ำสาธารณะ กระทบกระเทือนต่อระบบนิเวศทางน้ำและสิ่งแวดล้อมของแหล่งน้ำนั้น จึงเป็นหน้าที่โดยตรงของจำเลยที่ 2 ในการกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ที่จะต้องระมัดระวังมิให้เกิดความเสียหายแก่แหล่งน้ำสาธารณะ แต่จำเลยที่ 2 กลับมิได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามภาระหน้าที่ เมื่อปรากฏว่าโรงงานของจำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งห้าฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 6,481,418 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 5,996,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งห้า และวางเงินประกันค่าเสียหาย ในระหว่างพิจารณา 6,540,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสี่หยุดปล่อยน้ำเสียและน้ำเค็มลงสู่คลอง กับให้จำเลยทั้งสี่หยุดประกอบกิจการโรงงานชั่วคราวจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะแก้ไขปรับปรุงน้ำทิ้งให้ได้คุณภาพมาตรฐาน ตามที่ทางราชการกำหนดลงสู่คลองสาธารณประโยชน์ไว้ก่อนที่ศาลจะได้พิจารณาคดี
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ห้ามไม่ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำการระบายน้ำทิ้งจากการประกอบกิจการโรงงานฟอกย้อมเส้นด้ายและผ้าออกนอกบริเวณโรงงานให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 1,100,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 682,000 บาท แก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 165,000 บาท แก่โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 418,000 บาท และแก่โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 1,606,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินของโจทก์แต่ละคนข้างต้นตามลำดับ นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 มีนาคม 2553) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งห้า โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท ยกฟ้องโจทก์ทั้งห้าสำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายส่วนที่เป็นต้นเงินให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 200,000 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 124,000 บาท โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 30,000 บาท โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 76,000 บาท และโจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 292,000 บาท ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่ห้ามจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำการระบายน้ำทิ้งจากการประกอบกิจการโรงงานฟอกย้อมเส้นด้ายและผ้าออกนอกบริเวณโรงงานให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งห้าสำหรับจำเลยที่ 2 คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 50,208 บาท แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ ในส่วนที่ศาลไม่สั่งคืนให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งห้าและจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมฟอกย้อมเส้นด้ายและผ้า อยู่ใกล้กับคลองรางกระดี่และคลองขุดลัดราชบุรี จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งห้าเป็นเกษตรกรทำนาและทำสวนอยู่ใกล้กับโรงงานของจำเลยที่ 1 ตามแผนที่ตั้งที่เกิดเหตุและแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยคดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับความรับผิดต่อโจทก์ที่ 5 ซึ่งมีทุนทรัพย์ที่พิพาทชั้นฎีกาเกินกว่าสองแสนบาทเท่านั้น ในปัญหาที่ว่าโรงงานของจำเลยที่ 1 ปล่อยน้ำเสียทิ้งลงคลองรางกระดี่และคลองขุดลัดราชบุรีเป็นเหตุให้น้ำในคลองดังกล่าวเน่าเสียมีค่าความเค็มสูงหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องของฝ่ายโจทก์เป็นเรื่องที่กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมฟอกย้อมเส้นด้ายและผ้า ปล่อยน้ำทิ้งที่เป็นน้ำเสียลงสู่คลองสาธารณะ จึงเป็นเรื่องแหล่งกำเนิดมลพิษที่ก่อให้เกิดหรือแพร่กระจายของมลพิษ ซึ่งหากเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของฝ่ายโจทก์เสียหายด้วยประการใด ๆ ฝ่ายโจทก์ก็ชอบที่จะฟ้องร้องเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษนั้น ให้รับผิดชดใช้สินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายเพื่อการนั้น ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 96 และเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลที่จะปรับข้อเท็จจริงเข้ากับกฎหมายที่ถูกต้อง เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดคดี ตามทางนำสืบของโจทก์ทั้งห้าได้ความว่า โรงงานของจำเลยที่ 1 ปล่อยน้ำเสียทิ้งลงคลองรางกระดี่และคลองขุดลัดราชบุรี สร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงโรงงานจำเลยที่ 1เนื่องจากพื้นที่เกษตรกรรมเกิดความเสียหายจากน้ำเค็มส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำ แหล่งน้ำสาธารณะ จึงมีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเทศบาลตำบลหลักเมือง จากการตรวจสอบปรากฏว่า น้ำทิ้งจากโรงงานจำเลยที่ 1 มีความเค็มเกินมาตรฐานของกรมชลประทานจากนั้น ฝ่ายจำเลยทำบันทึกความตกลง แก้ไขปัญหาน้ำเสียในคลองดังกล่าวกับประชาชนผู้เดือดร้อนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยโจทก์ทั้งห้ามีนายยุคล นายเจน รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี นายอภิคม ปลัดเทศบาลตำบลหลักเมือง นายชาตรี เจ้าหน้าที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาราชบุรีฝั่งซ้าย ผู้ทำรายงานการแก้ไขปัญหาน้ำเสียจากโรงงานของจำเลยที่ 1 นายปัญญา นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ผู้ทำรายงานผลปฏิบัติการ การสำรวจผลกระทบจากโรงงานฟอกย้อมปล่อยน้ำเสียลงคลองสาธารณะในพื้นที่เทศบาลตำบลหลักเมือง มาเป็นพยานสนับสนุนประกอบเอกสารและภาพถ่าย และได้ความว่า บริเวณใกล้เคียงนั้น มีแต่โรงงานของจำเลยที่ 1 เพียงแห่งเดียวที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม โดยขณะเกิดเหตุไม่ปรากฏว่าตรวจพบสิ่งผิดปกติหรืออันตรายอื่นใดจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่อยู่ใกล้เคียงแต่อย่างใด คงมีแต่โรงงานของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ที่ปล่อยน้ำทิ้งโดยใช้วิธีนำน้ำดิบมาเจือจาง ก่อนปล่อยลงแหล่งน้ำสาธารณะ ซึ่งไม่เป็นไปตามประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดปัญหาแก่แหล่งน้ำสาธารณะจนเป็นเหตุให้มีการดำเนินการสำรวจตรวจสอบน้ำเน่าเสียในช่วงเกิดเหตุดังกล่าว โดยเจ้าพนักงานได้จัดทำรายงานผลการสำรวจตรวจสอบและรายงานต่อผู้บังคับบัญชาตามหน้าที่ราชการ โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้โต้แย้งว่าไม่ถูกต้องอย่างใด ทั้งยังปรากฏตามบันทึกข้อตกลงว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าน้ำทิ้งจากโรงงานของจำเลยที่ 1 มีค่าความเค็มสูงเกินมาตรฐานน้ำที่ใช้เพื่อการเกษตรหรืออุปโภคบริโภคของกรมชลประทาน ส่วนข้อนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นการตรวจวิเคราะห์ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2554 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากเกิดเหตุคดีนี้ไปแล้ว จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะหักล้างพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ที่มีน้ำหนักมั่นคงลงได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โรงงานของจำเลยที่ 1 ปล่อยน้ำเสียทิ้งลงคลองรางกระดี่และคลองขุดลัดราชบุรี เป็นเหตุให้น้ำในคลองดังกล่าวเน่าเสีย มีค่าความเค็มสูงเกินมาตรฐานเพื่อใช้ทางการเกษตรจริง โรงงานของจำเลยที่ 1 จึงเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่ปล่อยทิ้งของเสียก่อให้เกิดการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นและโจทก์ที่ 5 กับพวกเสียหาย จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษนั้น มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าทดแทนเพื่อการนั้น ไม่ว่าการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษนั้นจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 หรือไม่ ก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้กล่าวอ้างและพิสูจน์ว่า มลพิษนั้นเกิดจากข้อยกเว้น ความรับผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา 96 (1) ถึง (3) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 5 กับพวก ตามบทบัญญัติในมาตรา 96 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อสุดท้ายของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ซึ่งการแสดงออกของบริษัทย่อมกระทำโดยทางกรรมการ ความเกี่ยวพันระหว่างกรรมการและบริษัทกับบุคคลภายนอกนั้น ให้บังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยตัวแทน กิจการใดอันเป็นหน้าที่ของบริษัทจะต้องกระทำย่อมเป็นหน้าที่ของกรรมการต้องกระทำแทน จำเลยที่ 2 ย่อมทราบดีว่า การปล่อยน้ำเสียทิ้งออกสู่คลองสาธารณะย่อมก่อให้เกิดมลพิษและความเสียหายแก่แหล่งน้ำสาธารณะ กระทบกระเทือนต่อระบบนิเวศทางน้ำและสิ่งแวดล้อมของแหล่งน้ำนั้น จึงเป็นหน้าที่โดยตรงของจำเลยที่ 2 ในการกระทำแทนจำเลยที่ 1 ที่จะต้องระมัดระวังมิให้เกิดความเสียหายแก่แหล่งน้ำสาธารณะแต่จำเลยที่ 2 กลับมิได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามภาระหน้าที่ เมื่อปรากฏว่าโรงงานจำเลยที่ 1ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ตามที่วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ในส่วนของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกฎีกาของโจทก์ที่ 3 คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาให้โจทก์ที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share