แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้คัดค้านที่ 1 มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2699เนื้อที่ประมาณ 3 งาน 35 ตารางวา ผู้คัดค้านที่ 2 มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2700 เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 41 ตารางวา เดิมที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นที่งอกริมตลิ่งที่น้ำท่วมไม่ถึงหน้าที่ดินตราจองเลขที่ 1493 และ 1494 ของผู้คัดค้านทั้งสอง เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2515 ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินพิพาท ส.บิดาผู้ร้องที่ 1 คัดค้าน แต่เจ้าพนักงานที่ดินก็ทำการรังวัดออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสอง ต่อมา ส.ได้ฟ้องผู้คัดค้านทั้งสองและเจ้าพนักงานที่ดินขอให้เพิกถอนการออกโฉนดที่ดินดังกล่าว ระหว่างพิจารณา ส.ถึงแก่กรรม ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ ส.ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทนที่ ส.คดีดังกล่าว ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดโดยวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ดินตราจองที่ตราว่า “ได้ทำประโยชน์แล้ว” เลขที่ 1493 และ1494 จึงเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสองตาม ป.พ.พ.มาตรา 1308 และถือว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินมือเปล่าแต่เป็นที่ดินอยู่ในตราจองที่ตราว่า “ได้ทำประโยชน์แล้ว”ของที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวในลักษณะเป็นส่วนควบ ส่วนการที่ทางราชการออกโฉนดที่ดินให้แก่ที่ดินพิพาทเป็นเพียงการปฏิบัติเพื่อให้ที่ดินพิพาทมีหนังสือสำคัญตามประเภทที่ดินเท่านั้น ส.ครอบครองที่ดินพิพาทแทนผู้คัดค้านทั้งสอง ส.คัดค้านการออกโฉนดที่ดินถือได้ว่าเป็นการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทแทนผู้คัดค้านทั้งสองมาเป็นการยึดถือเพื่อตนให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสองทราบแล้วโดยปริยายเมื่อปี 2515 แต่ส.เพิ่งมาฟ้องกล่าวอ้างว่า ได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเมื่อปี 2517 หลังบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือเพียงสองปียังไม่ครบสิบปี ส.จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ.มาตรา 1382ดังนี้ระยะเวลาที่ ส.บิดาผู้ร้องที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทนับแต่วันคัดค้านการออกโฉนดที่ดินจนถึงวันฟ้องคดีแพ่ง และนับถึงวันฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดังกล่าวนั้นส.และผู้ร้องทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทในระหว่างคดี ต้องถือว่าเป็นการครอบครองแทนผู้คัดค้านทั้งสองเท่านั้น เมื่อผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทสืบสิทธิต่อจาก ส. ผู้ร้องทั้งสองจึงนับเวลาการครอบครองในระหว่างคดีดังกล่าวมารวมเข้ากับเวลาที่ ส.ครอบครองและผู้ร้องทั้งสองครอบครองไม่ได้ เพราะการที่คู่ความฝ่ายหนึ่งครอบครองที่ดินพิพาทในระหว่างคดีกับเจ้าของที่ดิน คู่ความฝ่ายนั้นจะอ้างว่าได้ครอบครองปรปักษ์ต่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ และแม้ผู้ร้องทั้งสองจะมิใช่คู่ความเดียวกับโจทก์ในคดีก่อน แต่ผู้ร้องทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทโดยสืบสิทธิต่อจากโจทก์ในคดีก่อน ต้องถือว่าผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้านทั้งสองในคดีนี้กับโจทก์และจำเลยทั้งสองในคดีก่อนเป็นคู่ความเดียวกัน ผลแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนที่วินิจฉัยว่า ส.ครอบครองที่ดินพิพาทเพียงสองปียังไม่ครบสิบปีจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา1382 ย่อมผูกพันผู้ร้องทั้งสองด้วย ทั้งหลังจากศาลฎีกาพิพากษาคดีนั้นแล้วจนถึงวันที่ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องคดีนี้ ผู้ร้องทั้งสองก็เพิ่งครอบครองที่ดินพิพาทมายังไม่ถึง 1 ปีผู้ร้องทั้งสองยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง