แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องสรุปได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดขึ้นแก่โจทก์ในระหว่างทำงานให้แก่โจทก์อย่างลูกหนี้ร่วมระหว่างที่จำเลยที่ 1 ทำงานให้แก่โจทก์ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หลายครั้ง โดยบรรยายรายละเอียดว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำความเสียหายเมื่อใด อย่างไร จำนวนเท่าใด พร้อมทั้งมีเอกสารแนบมาท้ายฟ้อง จึงเป็นคำฟ้องที่ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ส. ฟ้องคดีแทนโจทก์ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้อง จำเลยที่ 2 มิได้ให้การปฏิเสธว่าใบมอบอำนาจดังกล่าวไม่ใช่ใบมอบอำนาจที่แท้จริง และศาลแรงงานกลางก็ไม่มีเหตุสงสัยว่า ไม่ใช่ใบอำนาจอันแท้จริงจึงเท่ากับจำเลยที่ 2 รับว่า ส. เป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 ประกอบมาตรา 47 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
การที่ลูกจ้างยักยอกเงินของนายจ้างนอกจากเป็นการกระทำละเมิดต่อนายจ้างยังเป็นการกระทำที่ผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย ซึ่งการที่นายจ้างฟ้องเรียกให้ลูกจ้างชดใช้ค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงาน ไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โจทก์มอบอำนาจให้นายสมยศ เปาลานวัติ เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทนเมื่อประมาณวันที่ 4 กันยายน 2538 จำเลยที่ 1 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์ ในขณะนั้นใช้ชื่อว่า บริษัทเซ็นทรัลอิเล็คทรอนิคส์แอนลีสซิ่ง จำกัด ในตำแหน่งพนักงานขายและเก็บเงิน ประจำสาขาปากพนัง ต่อมาประมาณวันที่ 20 กรกฎาคม 2539 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการสาขาปากพนัง มีหน้าที่ขายและควบคุมการขายสินค้า เก็บเงินและควบคุมการเก็บเงินของพนักงานขายรวบรวมเงินส่งให้โจทก์ จัดทำรายงานการขายและเก็บเงินส่งให้โจทก์จัดทำสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน ในการทำงานของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันรับรองความเสียหาย โดยยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ทำงานได้กระทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายหลายครั้งหลายอย่างด้วยกัน กล่าวคือจำเลยที่ 1 เบิกสินค้าของโจทก์ อ้างว่าจะนำไปจำหน่าย แต่ไม่ได้จำหน่ายรวมสินค้า 7 รายการ รวมราคา 69,850 บาท โดยจำเลยที่ 1 ไม่นำสินค้าดังกล่าวส่งคืนโจทก์ กลับเบียดบังเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตน เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 1 เก็บเงินค่าเช่าซื้อสินค้ามาจากลูกหนี้ที่เช่าซื้อจำนวน 14 ราย โดยไม่ออกใบเสร็จรับเงินของโจทก์ให้ลูกค้าและไม่นำเงินที่เก็บได้ส่งโจทก์ กลับเบียดบังเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตน ทำให้โจทก์เสียหายเป็นเงิน 103,090 บาท จำเลยที่ 1 เก็บเงินค่าเช่าซื้อสินค้า โดยเก็บเงินปิดบัญชีมาหมดแล้ว เป็นจำนวนลูกค้า 23 ราย รวมเป็นจำนวนเงิน 167,000 บาท โดยไม่นำเงินที่เก็บได้ส่งโจทก์ กลับเบียดบังไปเป็นประโยชน์ส่วนตน เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย รวมเป็นจำนวนสินค้า 13 รายการ เป็นเงิน 160,575 บาท จำเลยที่ 1 ได้ขายสินค้าของโจทก์ให้แก่ลูกค้าโดยวิธีเช่าซื้อรวมจำนวนสินค้า 3 รายการ แต่ลูกค้ายืนยันว่าไม่ได้ซื้อสินค้าและไม่ได้เป็นผู้ค้ำประกันสินค้าดังกล่าว และจำเลยที่ 1 ได้ซื้อสินค้าของโจทก์ไป 1 รายการ โดยสินค้าทั้ง 4 รายการ โจทก์ได้รับชำระราคาสินค้าบางส่วน ส่วนที่เหลือรวมจำนวน 52,550 บาท โจทก์ยังไม่ได้รับชำระราคา จำเลยที่ 1 ยึดสินค้าคืนมาจากลูกค้าที่เช่าซื้อสินค้าของโจทก์รวมสินค้า 2 รายการ โดยโจทก์ได้รับชำระราคาสินค้าบางส่วน ส่วนที่เหลือรวมราคา 21,990 บาท โจทก์ยังไม่ได้รับชำระราคา จำเลยที่ 1 ไม่นำสินค้าที่ยึดคืนส่งโจทก์กลับเบียดบังเป็นประโยชน์ตน ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 1 ได้เก็บรวบรวมเงินค่าสินค้าและค่าเช่าซื้อสินค้ามาจากพนักงานขายในสาขาจำนวน 6 งวด เป็นเงิน 504,940 บาท แต่จำเลยที่ 1 ส่งเงินให้โจทก์ 110,000 บาท ยังขาดอยู่จำนวน 394,940 บาท จำเลยที่ 1 เบียดบังเอาเป็นประโยชน์ตนโจทก์แจ้งความดำเนินคดีอาญาต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอปากพนัง ในข้อหายักยอก และพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลจังหวัดปากพนัง ในส่วนที่จำเลยที่ 1 ส่งเงินขาดตามรายการส่งเงินขาดเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 11 ลำดับที่ 1 – 4 รวมเป็นจำนวนเงินขาด 183,292 บาท ส่วนรายการส่งเงินขาดลำดับที่ 5 และ 6 โจทก์ไม่ได้แจ้งความ ศาลจังหวัดปากพนังมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 1371/2541 จำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 6 เดือน และให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินจำนวน 167,292 บาท แก่โจทก์ จึงให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินให้โจทก์เฉพาะลำดับที่ 5 และ 6 รวมเป็น 211,648 บาท แต่ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้เงินขาดให้โจทก์เพียง 378,940 บาท รวมค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์อีกจำนวน 786,703 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้เงินให้โจทก์จำนวน 953,995 บาท โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกันชดใช้เงินจำนวน 786,703 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 2 ชดใช้เงินจำนวน 167,292 บาท โดยร่วมกับจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 167,292 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัด
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ใช้สิทธิในการฟ้องโดยไม่สุจริตกล่าวคือจำเลยที่ 2 ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ถูกเลิกจ้างเมื่อประมาณกลางปี 2540 และถูกดำเนินคดีอาญาต่อศาลจังหวัดปากพนังตามคดีหมายเลขดำที่ 824/2540 คดีหมายเลขแดงที่ 1371/2541 แต่โจทก์กลับมิได้เร่งรัดเรียกหนี้จากจำเลยที่ 1 ในทางแพ่ง มิได้แจ้งถึงความเสียหายหรือเหตุละเมิดที่จำเลยที่ 1 ก่อให้จำเลยที่ 2 ทราบ ปล่อยให้ระยะเวลาช้าออกไปโดยไม่มีเหตุอันสมควรเป็นเวลาหลายปีเป็นการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมและเอาเปรียบจำเลยที่ 2 จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตขัดต่อกฎหมาย จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิด ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่เคลือบคลุมเพราะไม่ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นนั้น กล่าวคือฟ้องโจทก์ข้อ 3 ตั้งแต่ 3.1 ถึง 3.7 ประกอบเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 ถึง 11 โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้แจ้งชัดว่า จำเลยที่ 1 เบิกสินค้าของโจทก์เมื่อใด ได้รับอนุมัติเมื่อใด เป็นจำนวนเท่าใด ทำให้เสียหายเมื่อใด เรียกเก็บเงินโดยไม่ออกใบเสร็จรับเงินเมื่อใด เก็บเงินปิดบัญชีแล้วไม่นำส่งโจทก์เมื่อใด ขายสินค้าเป็นเงินสดทำรายการเป็นเงินผ่อนเมื่อใด ทำบัญชีเสียหายเมื่อใดอย่างไร ยึดคืนสินค้าแล้วไม่นำส่งบริษัทตั้งแต่เมื่อใด และส่งเงินขาดจากจำนวนเงินที่แท้จริงอย่างไร โจทก์ทราบเหตุต่าง ๆ เหล่านี้ตั้งแต่เมื่อใด ๆ เป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างถูกต้อง สิทธิเรียกร้องตามฟ้องโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องแล้ว กล่าวคือ จำเลยที่ 2 เข้าค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ ต่อมาโจทก์เลิกสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 ตั้งแต่กลางปี 2540 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ทำรายการสินค้าสูญหาย เก็บเงินไม่ออกใบเสร็จรับเงิน เก็บเงินปิดบัญชีแล้วไม่นำส่ง ขายสินค้าเป็นเงินสด ทำรายการเป็นเงินผ่อน ทำบัญชีเสียหายยึดสินค้าคืนแล้วไม่นำส่งบริษัท ส่งเงินขาดอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนคือจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันเป็นเวลาเกิน 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดในหนี้หรือค่าเสียหายตามจำนวนเงินในฟ้องตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 ถึง 11 เพราะหนี้บางรายการโจทก์ได้ผ่อนเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้รู้เห็นยินยอม ทำให้หลุดพ้นความรับผิด ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ขายสินค้าบางรายการ โดยวิธีให้เช่าซื้อ ก็ไม่ปรากฏว่ามีสัญญาเช่าซื้อและได้ส่งสัญญาเช่าซื้อมาพร้อมฟ้อง จำนวนหนี้และเอกสารที่โจทก์อ้าง เป็นเอกสารที่โจทก์ทำขึ้นมาเอง รับรองความถูกต้องเอาเองไม่ปรากฏในหลักฐานดังกล่าวว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมตามที่อ้าง จำนวนหนี้สินต่าง ๆ เป็นเรื่องที่พนักงานของโจทก์แต่ละระดับผู้จัดการภาคถึงผู้จัดการระดับท้องที่จัดการผิดพลาดกันเอง หากจำเลยที่ 1 กระทำผิดพลาดหรือทำให้เสียหายต่อบริษัทโจทก์จริงโจทก์ต้องแจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบภายในเวลาอันควร เพราะมีข้อตกลงในสัญญากันอยู่ การกระทำของโจทก์เป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 786,703 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 167,292 บาท แก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในยอดเงินเดียวกันตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 1371/2541 ของศาลจังหวัดปากพนัง พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ทั้งนี้ นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2538 จำเลยที่ 1 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งพนักงานขายและเก็บเงิน ประจำสาขาปากพนัง แล้วเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการสาขาปากพนัง มีหน้าที่ขายและควบคุมการขายสินค้าเก็บเงินและควบคุมการเก็บเงินของพนักงานขายแล้วรวบรวมเงินส่งให้โจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดขึ้นแก่โจทก์อย่างลูกหนี้ร่วม คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อแรกว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องสรุปได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดขึ้นแก่โจทก์ในระหว่างทำงานให้แก่โจทก์อย่างลูกหนี้ร่วม ระหว่างที่จำเลยที่ 1 ทำงานให้แก่โจทก์ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หลายครั้ง โดยบรรยายรายละเอียดว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำความเสียหายเมื่อใด อย่างไร จำนวนเท่าใด พร้อมทั้งมีเอกสารแนบมาท้ายฟ้องจึงเป็นคำฟ้องที่ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อที่สองว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายสมยศ เปาลานวัติ ฟ้องคดีแทนโจทก์เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2545 แต่ปรากฏว่าใบมอบอำนาจให้นายสมยศฟ้องคดีได้ทำขึ้นในภายหลังที่มีการยื่นฟ้องคดีแล้ว ดังนั้น ในขณะฟ้องคดีนายสมยศจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องหมายเลข 2 ก็เป็นเพียงสำเนาเอกสาร ไม่มีต้นฉบับมาแสดงต่อศาลทั้งไม่มีพยานบุคคลใด ๆ มาเบิกความยืนยันถึงความถูกต้องหรือความมีอยู่จริงของหนังสือมอบอำนาจ จึงรับฟังไม่ได้ว่ามีการมอบอำนาจให้นายสมยศฟ้องคดีนี้ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าโจทก์มอบอำนาจให้นายสมยศ เปาลานวัติ ฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจฉบับลงวันที่ 31 ตุลาคม 2545 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ซึ่งจำเลยที่ 2 มิได้ให้การปฏิเสธว่าใบมอบอำนาจดังกล่าวไม่ใช่ใบมอบอำนาจที่แท้จริง และศาลแรงงานกลางก็ไม่มีเหตุสงสัยว่า ใบมอบอำนาจดังกล่าวไม่ใช่ใบมอบอำนาจอันแท้จริง จึงเท่ากับจำเลยที่ 2 รับว่านายสมยศ เปาลานวัติ เป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 ประกอบมาตรา 47 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อสุดท้ายว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า โจทก์พบเหตุการณ์กระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 และรู้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ตั้งแต่ปี 2540 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2545 ซึ่งเกินกว่า 1 ปี แล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง เห็นว่า การที่ลูกจ้างกระทำละเมิดต่อนายจ้างในระหว่างทำงานให้แก่นายจ้างนั้น นอกจากเป็นการกระทำละเมิดต่อนายจ้างแล้วยังเป็นการกระทำที่ผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย ซึ่งการที่นายจ้างฟ้องเรียกให้ลูกจ้างชดใช้ค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานนั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โจทก์พบการกระทำละเมิดและรู้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดตั้งแต่ปี 2540 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2545 ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน.