แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ที่ดินเกิดเหตุไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินใด ๆ และไม่มีการครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ จึงเป็นที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน และเป็นป่าตามความหมายแห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4 (1) ที่บัญญัติว่า “ป่า” หมายความว่า ที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 เพราะที่ดินเกิดเหตุเป็นป่า ไม่ใช่ให้รับผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 เพราะที่ดินเกิดเหตุเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ความเป็นป่าหรือความเป็นป่าสงวนแห่งชาติก็ต่างกันไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายคนละฉบับ ดังนั้น ไม่ว่าจะมีการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติ โดยผลแห่ง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 26 (4) หรือไม่ก็ตาม หามีผลให้ที่ดินเกิดเหตุพ้นสภาพความเป็นป่าไปด้วยไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 54, 55, 72 ตรี กับให้จำเลยทั้งสอง คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยทั้งสองออกไปจากป่าที่เกิดเหตุตามฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 2 ปี และให้จำเลยทั้งสอง คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยทั้งสองออกไปจากป่าบริเวณที่ระบายสีแดงตามแผนที่
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) จึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความรับกันและไม่ได้โต้แย้งกันว่า ที่เกิดเหตุอยู่ท้องที่บ้านเหวปลากั้ง หมู่ที่ 10 ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ เป็นบริเวณพื้นที่ป่าอนุรักษ์เตรียมผนวกเป็นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และเป็นสวนป่าของหน่วยจัดการต้นน้ำลำตะคอง แปลงปลูกปี 2513 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2539 นายชลอ หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำลำตะคองกับพวกออกตรวจพื้นที่เกิดเหตุพบมีการไถปรับที่ดินเกิดเหตุด้วยรถแทรกเตอร์ แล้วปลูกต้นมะม่วงและข้าวโพดสลับกันทั่วพื้นที่ ลักษณะทำมาแล้วประมาณ 1 เดือน แต่ไม่พบผู้ใดเป็นผู้กระทำ จึงถ่ายรูปและทำบันทึกการตรวจยึดไว้ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2550 นายพีรพงษ์ จำเลยที่ 2 ในคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องขับไล่และให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินเกิดเหตุตามฟ้อง โดยจำเลยที่ 1 อ้างว่าที่ดินเกิดเหตุเป็นของตน นายพีรพงษ์จึงนำเอกสารเกี่ยวกับคำฟ้อง คำเบิกความของพยานโจทก์และพยานจำเลย แผนที่ที่ดินที่จำเลยที่ 1 อ้างตามคำฟ้อง และสำเนาคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ของคดีดังกล่าวมามอบแก่นายชลอ สำหรับจำเลยทั้งสองก็ยอมรับว่า จำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้นายพจน์ ปลูกต้นมะม่วง และจ้างให้จำเลยที่ 2 ปลูกข้าวโพดและเก็บเกี่ยวผลผลิตดังกล่าว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อที่ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือไม่ โจทก์มีนายชะลอเบิกความยืนยันว่า ที่ดินเกิดเหตุอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานของพยาน เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เป็นสวนป่ามีการปลูกต้นสีเสียดแก่น แปลงปลูกปี 2513 และมีหลักเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และหลักเขตสวนป่า ซึ่งเป็นเสาปูนปักห่างกันต้นละประมาณ 100 เมตร พยานกับพวกตรวจพื้นที่เป็นประจำทุกเดือน พบการกระทำคดีนี้ตามวันเวลาข้างต้น โดยมีการรื้อถอนหลักเขตสวนป่าออกไป คงเหลือแต่หลักเขตของอุทยานแห่งชาติ มีการใช้รถแทรกเตอร์ไถดินตัดทำลายต้นสีเสียดแก่นประมาณ 3,000 ต้น ไปรวมกองสุมเป็นจุด ๆ มีการปลูกข้าวโพดที่เพาะจากเมล็ดสูงประมาณ 1 ฟุต และต้นมะม่วงด้วยกิ่งตอน สลับกันทั่วพื้นที่ และทำถนนดินที่บริเวณทิศเหนือของที่ดินเกิดเหตุ โดยสภาพทำมาได้ประมาณ 1 เดือน เป็นเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ ตามภาพถ่ายแสดงสถานที่เกิดเหตุและบันทึกการตรวจยึด หลังจากนั้นพวกพยานไม่พบผู้ใดและมีการกระทำใด ๆ ในที่ดินเกิดเหตุอีก จนกระทั่งได้รับการร้องเรียนจากนายพีรพงษ์ข้างต้น ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ก็ยอมรับว่าเป็นการกระทำของพวกตน เพียงแต่ปฏิเสธว่าการกระทำของพวกตนไม่เป็นความผิดตามฟ้องเท่านั้น โดยจำเลยที่ 1 อ้างว่า เมื่อประมาณกลางปี 2539 จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินเกิดเหตุซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่า ไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดิน มาจากนายโพธิ์ ในราคา 90,000 บาท โดยสภาพที่ดินเกิดเหตุในตอนนั้นเป็นป่ากระถิน ต้นไม้ที่กองรวมกันในภาพถ่ายแสดงสถานที่เกิดเหตุ นั้น อยู่นอกเขตที่ดินเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 อ้างว่า ครอบครองและทำประโยชน์ตลอดมา จนกระทั่งมีกรณีพิพาทกับนายพีรพงษ์ เห็นได้ว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า ที่ดินเกิดเหตุไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินใด ๆ และไม่มีการครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ จึงเป็นที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน และเป็นป่าตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4 (1) ที่บัญญัติว่า “ป่า” หมายความว่า ที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายป่า และเข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเอง โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นความผิดตามฟ้องแล้ว โดยมิพักต้องพิจารณาว่า ที่ดินเกิดเหตุมีต้นไม้หรือมีการตัดทำลายต้นสีเสียดแก่นตามที่พยานโจทก์อ้างหรือไม่ ทั้งคดีนี้ โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 เพราะที่ดินเกิดเหตุเป็นป่า ไม่ใช่ให้รับผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 เพราะที่ดินเกิดเหตุเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ความเป็นป่าหรือความเป็นป่าสงวนแห่งชาติก็ต่างกันไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายคนละฉบับ ดังนั้น ไม่ว่าจะมีการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติ โดยผลแห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 26 (4) หรือไม่ก็ตาม หามีผลให้ที่ดินเกิดเหตุพ้นสภาพความเป็นป่าไปด้วยไม่ สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7545/2542 ที่จำเลยที่ 1 อ้างนั้นมีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแตกต่างกับคดีนี้ จึงนำมาใช้อ้างในคดีนี้ไม่ได้ ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวไม่ได้มีผลให้พ้นความผิดตามฟ้องแต่อย่างใด รวมทั้งการกระทำของจำเลยที่ 1 แสดงถึงเจตนาที่จะยึดถือครอบครองป่าที่เกิดเหตุเพื่อตนเองอย่างชัดแจ้ง อันจะอ้างว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยไม่มีเจตนา จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้องหาได้ไม่ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อที่ขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 เคยรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ที่ดิน สำนักงานที่ดินที่อำเภอปากช่องที่เกิดเหตุ ทั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2856 ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ที่อยู่ติดกับที่ดินเกิดเหตุด้านทิศเหนือและที่ดินบริเวณเดียวกันอีกหลายแปลง ซึ่งที่ดินที่อ้างนั้นได้ขายแก่ภริยาของจำเลยที่ 1 แล้วมีการยึดที่ดินแปลงนั้นออกขายทอดตลาด โดยนายพีรพงษ์เป็นผู้ซื้อจากการขายทอดตลาด นายพีรพงษ์เข้าครอบครองที่ดินแปลงนั้นรวมถึงที่ดินเกิดเหตุที่อยู่ติดกัน จึงเกิดกรณีพิพาทกับจำเลยที่ 1 ข้างต้น พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว ส่อว่าเป็นการอาศัยตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์ใส่ตนโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สภาพป่า ดังนั้น โทษตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองจึงเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 มากพอแล้ว ศาลฎีกาไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน