คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1393/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ ปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์ โดยปล่อยให้บุคคลภายนอกนำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีรายหนึ่งออกไปให้ผู้ค้ำประกันลงนามโดยไม่มีเจ้าหน้าที่ของโจทก์ไปด้วย ปรากฏว่าลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นลายมือชื่อปลอม ทำให้โจทก์ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ การกระทำของจำเลยถือว่าเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานและเป็นการละเมิดต่อโจทก์ด้วย ความเสียหายที่เป็นสาเหตุโดยตรงจากการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องของจำเลยคือหนี้ต้นเงินจำนวน 2,000,000 บาท ส่วนดอกเบี้ยตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นธนาคารสามารถเรียกเอาจากลูกหนี้ผู้ทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ได้รวมทั้งผู้ค้ำประกันด้วย แต่จำเลยมิใช่เป็นผู้ค้ำประกันหนี้แห่งความเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ การที่ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์จำนวน 2,000,000 บาท ของต้นเงินตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดโดยไม่ได้นำเอาดอกเบี้ยตามสัญญาดังกล่าวในอัตราร้อยละ 18.50 ต่อปี มาคิดคำนวณเป็นค่าเสียหายให้ด้วย โดยวินิจฉัยตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 538 ย่อมชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเคยเป็นพนักงานของโจทก์ ตำแหน่งผู้จัดการสาขาตรังจำเลยปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อในการจัดทำนิติกรรมระหว่างโจทก์สาขาตรังกับลูกค้า โดยจำเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ในกรณีลูกค้าของโจทก์สาขาตรังรายนายสามารถ เล้าศิริมงคล ได้รับอนุมัติสินเชื่อประเภทเบิกเงินเกินบัญชี ซึ่งมีเงื่อนไขว่า ในการทำสัญญาต้องให้นายวิรัช ชีวศรีรุ่งเรือง ทำสัญญาค้ำประกันและนำที่ดินมาจำนองด้วย วันที่ 18 พฤศจิกายน 2537 นายสามารถมาที่ธนาคารโจทก์สาขาตรัง และทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารโจทก์สาขาตรัง วงเงิน 2,000,000 บาท ในวันดังกล่าว นายวิรัชจะต้องมาที่ทำการสาขาตรังด้วยเพื่อลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกัน แต่ไม่ได้มาด้วยความประมาทเลินเล่อและฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของโจทก์ จำเลยมอบสัญญาค้ำประกันให้บุคคลภายนอกนำไปให้นายวิรัชลงลายมือชื่อนอกที่ทำการสาขา ต่อมานายสามารถไม่ปฏิบัติตามสัญญา โจทก์จึงฟ้องนายสามารถ เล้าศิริมงคล และนายวิรัช ชีวศรีรุ่งเรือง เป็นคดีที่ศาลจังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2540 ปรากฏว่าลายมือชื่อนายวิรัชในสัญญาค้ำประกันเป็นลายมือชื่อปลอม โจทก์จึงถอนฟ้องนายวิรัช คงดำเนินคดีกับนายสามารถต่อไป จนศาลจังหวัดตรังพิพากษาให้นายสามารถชำระหนี้ แต่โจทก์ไม่สามารถบังคับชำระหนี้กับนายสามารถได้ โจทก์จึงฟ้องนายสามารถเป็นคดีล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว โจทก์ได้ตั้งกรรมการสอบสวนจำเลยและมีคำสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ โดยมีเงื่อนไขให้จำเลยลงลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้แต่จำเลยไม่ยอมลงนามจำนวน 2,557,418.25 บาท เท่ากับเงินที่โจทก์ไม่สามารถไล่เบี้ยเอาจากนายวิรัชผู้ค้ำประกันได้ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.50 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จของต้นเงิน 2,309,282.85 บาท คิดถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ย 2,591,393.13 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้จำนวน 4,900,675.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.50 ต่อปี ของต้นเงิน 2,309,282.85 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยขาดนัด
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินค่าเสียหายจำนวน 2,000,000 บาท ให้โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ ปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์ โดยปล่อยให้บุคคลภายนอกนำสัญญาค้ำประกันรายนายวิรัช ชีวศรีรุ่งเรือง ออกไปให้ผู้ค้ำประกันลงนามโดยไม่มีเจ้าหน้าที่ของโจทก์ไปด้วย ปรากฏภายหลังว่าลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นลายมือชื่อปลอม ทำให้โจทก์ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ การกระทำของจำเลยถือว่าเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานและเป็นการละเมิดต่อโจทก์ด้วย ความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องของจำเลยโดยตรงคือหนี้ต้นเงินจำนวน 2,000,000 บาท หากจำเลยปฏิบัติหน้าที่ไม่บกพร่องหนี้รายนี้มีประกันพอคุ้มหนี้ความเสียหายที่เป็นสาเหตุโดยตรงจากการที่จำเลยปฏิบัติหน้าที่บกพร่องคือต้นเงินจำนวน 2,000,000 บาท ที่โจทก์ต้องสูญไป มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า ต้องนำดอกเบี้ยตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีในอัตราร้อยละ 18.50 ต่อปี มาคิดคำนวณเป็นค่าเสียหายให้แก่โจทก์ด้วยหรือไม่ เห็นว่า ดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นธนาคารสามารถเรียกเอาจากลูกหนี้ผู้ทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ได้รวมทั้งผู้ค้ำประกันด้วย แต่จำเลยมิใช่เป็นผู้ค้ำประกันหนี้แห่งความเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ คือ ความเสียหายที่โจทก์ไม่สามารถบังคับเอาแก่ผู้ค้ำประกันได้ อันเป็นความเสียหายโดยตรงที่จำเลยในฐานะลูกจ้างต้องรับผิดตามสัญญาจ้างแรงงานและในฐานะผู้ทำละเมิดต่อโจทก์ การที่ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์จำนวน 2,000,000 บาท ของต้นเงินตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดโดยไม่ได้นำเอาดอกเบี้ยตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดในอัตราร้อยละ 18.50 ต่อปี มาคิดคำนวณเป็นค่าเสียหายให้ด้วย โดยวินิจฉัยตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 ย่อมชอบด้วยกฎหมายต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในหนี้เงินที่เกิดจากมูลละเมิดในอัตราใดนับแต่เมื่อใดนั้น เห็นว่า หนี้จำนวน 2,000,000 บาท เป็นหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิดที่จำเลยกระทำผิดสัญญาจ้างต่อโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้าง เป็นหนี้ค่าเสียหาย จึงเป็นหนี้เงิน โจทก์ชอบที่จะเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่จำเลยตกเป็นผู้ผิดนัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 แต่โจทก์อุทธรณ์ขอนับแต่วันฟ้อง จึงสมควรกำหนดให้ตามขอ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงิน 2,000,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 25 เมษายน 2545) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง

Share