คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 139/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์ไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานอ้างเอกสารรายงานการเก็บเงินจากต่างจังหวัดเป็นพยาน แต่โจทก์นำเอกสารดังกล่าวเข้าสืบประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์ และศาลแรงงานกลางยอมให้โจทก์นำสืบเอกสารดังกล่าวและรับไว้เป็นพยาน ถือเป็นพยานที่ศาลแรงงานกลางเรียกมาสืบเพื่อความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดี ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง
เมื่อมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง จะนำพยานบุคคลมาสืบเพื่อเพิ่มเติม ตัดทอน แก้ไขข้อความในเอกสารนั้นไม่ได้ แต่สำเนาใบส่งสินค้าและใบเสร็จรับเงิน มิใช่พยานหลักฐานที่มีกฎหมายบังคับว่าต้องมีเอกสารมาแสดง จึงไม่ต้องห้ามที่จะนำพยานบุคคลมานำสืบแก้ไข เพิ่มเติมข้อความในเอกสาร และการที่โจทก์เบิกความรับว่าสำเนาใบส่งสินค้าและใบเสร็จรับเงินไม่มีลายมือชื่อผู้ส่งสินค้า แม้จะเบิกความว่าตามปกติต้องมีลายมือชื่อผู้ส่งสินค้าอยู่ในสำเนา ก็ไม่ได้นำสืบว่ามีลายมือชื่อผู้ส่งสินค้าในเอกสาร จึงมิใช่การนำสืบแก้ไข เพิ่มเติมข้อความในเอกสาร ไม่เป็นการขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคหนึ่ง (ข)
สัญญาค้ำประกันระบุข้อความว่า “ผู้ค้ำประกันขอทำสัญญาฉบับนี้ไว้ให้แก่โจทก์เพื่อเป็นการค้ำประกันในความเสียหาย หรือความผิดใดที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดขึ้นไม่ว่าโดยเจตนาหรือประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหายหรือต้องรับผิดต่อความเสียหายอันเกิดแก่บุคคล นิติบุคคลอื่น ๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต” แม้ช่องว่างที่เว้นไว้หลังข้อความว่า ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ จะไม่ได้เขียนข้อความว่า โจทก์ แต่เมื่ออ่านข้อความตอนต้นว่าจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่อโจทก์เพื่อความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมหมายความได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดขึ้นแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันไม่ชำระค่าเสียหายที่เกิดจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 89,907 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 89,907 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 17 มิถุนายน 2546) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีนี้ แม้โจทก์ไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานอ้างรายงานการเก็บเงินจากต่างจังหวัดเป็นพยาน แต่โจทก์นำเอกสารหมายดังกล่าวเข้าสืบประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์ และศาลแรงงานกลางยอมให้โจทก์นำเอกสารหมายดังกล่าวเข้าสืบและรับไว้เป็นพยานนั้น ถือเป็นพยานที่ศาลแรงงานกลางเรียกมาสืบเพื่อความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง ศาลแรงงานกลางจึงสามารถหยิบยกเอกสารหมายดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานประกอบการวินิจฉัยคดีได้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองต่อไปว่า โจทก์ได้นำสืบพยานบุคคลเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพยานเอกสารสำเนาใบส่งสินค้าและใบเสร็จรับเงินรวม 20 รายการ หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 บัญญัติว่า “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี…..
(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อได้นำเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก “ฯลฯ” หมายความว่า เมื่อมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง จะนำพยานบุคคลมาสืบเพื่อเพิ่มเติม ตัดทอน แก้ไข ข้อความในเอกสารนั้นไม่ได้ แต่สำเนาใบส่งสินค้าและใบเสร็จรับเงินนั้น มิใช่พยานหลักฐานที่มีกฎหมายบังคับว่าต้องมีเอกสารมาแสดง จึงไม่ต้องห้ามที่จะนำพยานบุคคลมานำสืบแก้ไข เพิ่มเติม ข้อความในเอกสาร อีกทั้งคดีนี้โจทก์เบิกความรับว่าสำเนาใบส่งสินค้าและใบเสร็จรับเงินไม่มีลายมือชื่อผู้ส่งสินค้า แม้จะเบิกความเพิ่มเติมว่าตามปกติต้องมีลายมือชื่อผู้ส่งอยู่ในสำเนาก็ไม่ได้นำสืบว่ามีลายมือชื่อผู้ส่งสินค้าในเอกสารจึงมิใช่เป็นการนำสืบแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในเอกสารไม่เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคหนึ่ง (ข) ศาลแรงงานกลางสามารถรับฟังสำเนาใบส่งสินค้าและใบเสร็จรับเงิน เป็นพยานหลักฐานประกอบการวินิจฉัยคดีได้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำต่อโจทก์หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า สัญญาค้ำประกันระบุว่า “ผู้ค้ำประกันขอทำสัญญาฉบับนี้ไว้ให้แก่โจทก์เพื่อเป็นการค้ำประกันในความเสียหาย หรือความผิดใดที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดขึ้นไม่ว่าโดยเจตนาหรือประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหายหรือต้องรับผิดต่อความเสียหายอันเกิดแก่บุคคล นิติบุคคลอื่นๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต” แม้ช่องว่างที่เว้นไว้หลังข้อความว่า ประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้ จะไม่ได้เขียนข้อความว่าโจทก์ แต่เมื่ออ่านข้อความตอนต้นว่าจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่อโจทก์เพื่อความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมหมายความได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดขึ้นแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์
เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ทำละเมิดต่อโจทก์แล้วจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันไม่ชำระค่าเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share