คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10029/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 7 ที่ระบุว่า หากคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดนัดชำระตามสัญญาข้อหนึ่งข้อใดให้ถือว่าคู่สัญญาฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายผิดนัดทั้งหมด และยินยอมให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งบังคับคดีได้ทันทีเต็มตามฟ้อง ซึ่งการบังคับคดีต้องเป็นการบังคับคดีในส่วนที่อีกฝ่ายผิดสัญญา แต่การที่โจทก์ไม่นำบุตรไปให้บิดาโจทก์ดูแล อันเป็นการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น จำเลยมีสิทธิบังคับคดีเพื่อให้มีการบังคับให้โจทก์ส่งบุตรไปให้บิดาโจทก์ดูแลตามที่ระบุไว้ในสัญญา หาได้หมายความถึงโจทก์จะมีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 ไม่ เพราะนอกจากจะทำให้โจทก์และจำเลยต้องรับภาระเพิ่มขึ้นแล้ว การผิดสัญญาในข้อที่ไม่ต้องชำระด้วยเงิน กฎหมายกำหนดวิธีการบังคับคดีไว้แล้ว ทั้งสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 7 มีข้อความไม่รัดกุมถือว่าเป็นกรณีมีข้อสงสัย ต้องตีความในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะต้องเป็นผู้เสียในมูลหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 จึงต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่โจทก์ เมื่อจำเลยมิได้ยื่นคำร้องว่า โจทก์ผิดนัดชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอให้ออกหมายบังคับคดีแก่โจทก์ให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลย ฉบับลงวันที่ 6 ตุลาคม 2557 ซึ่งมีข้อตกลงดังนี้
ข้อ 1 จำเลยตกลงชำระค่าเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง เดือนละ 4,000 บาท
ข้อ 2 โจทก์ตกลงชำระค่าเลี้ยงดูอุปการะบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง เดือนละ 4,000 บาท
ข้อ 3 โดยโจทก์จำเลยตกลงว่าจะชำระเงินตามข้อ 1 และข้อ 2 ให้กับนางสาว ศ. โดยโอนผ่านบัญชีธนาคารของนางสาว ศ. โดยโจทก์จำเลยตกลงยินยอมให้นางสาว ศ. เป็นผู้ดูแลเบิกค่าใช้จ่ายของบุตรทั้งสองแต่เพียงผู้เดียว โดยตกลงชำระทุกวันที่ 1 ของทุกเดือน เริ่มชำระ 1 พฤศจิกายน 2557
ข้อ 4 จำเลยตกลงยินยอมรับเด็กหญิง ณ. เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายและจะไปจดทะเบียนรับรองบุตรต่อนายทะเบียนภายใน 1 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ
ข้อ 5 โจทก์จำเลยตกลงว่าค่าใช้จ่ายในการศึกษา ค่ารักษาพยาบาลบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง ซึ่งคงเหลือยอดสุทธิจากการเบิกตามสวัสดิการแล้ว โจทก์จำเลยตกลงจะชำระกันคนละครึ่งตามใบเสร็จรับเงิน
ข้อ 6 โจทก์จำเลยตกลงว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองสามารถชำระเพิ่มขึ้นได้เมื่อบุตรทั้งสองเติบโตและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ
ข้อ 7 หากคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดนัดชำระตามสัญญาข้อหนึ่งข้อใดให้ถือว่าคู่สัญญาฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายผิดนัดทั้งหมด และยินยอมให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งบังคับคดีได้ทันทีเต็มตามฟ้อง กล่าวคือ ในส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดู จำนวนเดือนละ 20,000 บาท จนกว่าบุตรทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะหรือจบการศึกษาชั้นปริญญาตรี
(ต่อ) ข้อ 7 โจทก์ตกลงว่าเมื่อบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเข้ารับการศึกษา โจทก์จะนำบุตรทั้งสองไปให้บิดาของโจทก์เป็นผู้ดูแลต่อไป
ข้อ 8 โจทก์จำเลยตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ ตามข้อ 1 ถึงข้อ 7
ต่อมาวันที่ 25 ธันวาคม 2558 จำเลยยื่นคำขอว่า ในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ เด็กหญิง ช. บุตรของโจทก์และจำเลยเข้ารับการศึกษาแล้ว แต่โจทก์ไม่นำเด็กหญิง ช. ไปให้นาย อ. บิดาของโจทก์เป็นผู้ดูแลตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 7 โจทก์เพิ่งพาเด็กหญิง ช. ย้ายไปอยู่ที่บ้านบิดาของโจทก์หลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความ 9 เดือนถือว่าโจทก์ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 7 โจทก์จึงต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองจำนวน 20,000 บาท ขอให้ออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดอายัดทรัพย์สินของโจทก์
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำขอ
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำขอ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีสิทธิขอให้ออกหมายบังคับคดีแก่โจทก์ให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูเดือนละ 20,000 บาท หรือไม่ เห็นว่า สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 7 ที่ระบุว่า หากคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดนัดชำระตามสัญญาข้อหนึ่งข้อใดให้ถือว่าคู่สัญญาฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายผิดนัดทั้งหมด และยินยอมให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งบังคับคดีได้ทันทีเต็มตามฟ้อง การบังคับคดีต้องเป็นการบังคับคดีในส่วนที่อีกฝ่ายผิดสัญญา สำหรับโจทก์นั้นเป็นกรณีที่โจทก์ผิดสัญญาไม่นำบุตรไปให้บิดาโจทก์ดูแลทันที แต่โจทก์นำบุตรกลับไปให้บิดาโจทก์ดูแลหลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นเวลา 9 เดือน เพราะโจทก์เพิ่งทำเรื่องย้ายโรงเรียนที่ทำการสอนไปอยู่ที่ภูมิลำเนาของบิดาโจทก์ การจะบังคับคดีทันทีของจำเลยในส่วนนี้คือ เมื่อโจทก์ไม่นำบุตรไปให้บิดาโจทก์ จำเลยก็มีสิทธิบังคับคดีเพื่อให้มีการบังคับให้โจทก์ส่งบุตรไปให้บิดาโจทก์ดูแลตามที่ระบุไว้ในสัญญาการที่จะมีการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจำนวนเดือนละ 20,000 บาท หมายถึงกรณีที่คู่สัญญาผิดนัดไม่ชำระในส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 ไม่มีเหตุผลที่จะกำหนดให้การผิดสัญญาประนีประนอมยอมความข้อที่ไม่ใช่การชำระด้วยเงินเป็นการผิดนัดที่ทำให้ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูเพิ่มขึ้น เพราะนอกจากจะทำให้โจทก์และจำเลยต้องรับภาระเพิ่มขึ้นแล้ว การผิดสัญญาในข้อที่ไม่ต้องชำระด้วยเงินนั้น กฎหมายกำหนดวิธีการบังคับคดีไว้แล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 7 มีข้อความไม่รัดกุมซึ่งเป็นช่องทางที่อาจทำให้แปลความอย่างที่จำเลยกล่าวอ้าง ก็ถือได้ว่าเป็นกรณีที่มีข้อสงสัย จึงต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะต้องเป็นผู้เสียในมูลหนี้นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11 กรณีจึงต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่โจทก์ กรณีที่จำเลยยื่นคำร้องขอบังคับคดีแก่โจทก์ เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ส่งบุตรให้บิดาโจทก์ดูแล จำเลยมิได้ยื่นคำร้องว่าโจทก์ผิดนัดชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์ยังไม่ผิดนัดชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอให้ออกหมายบังคับคดีแก่โจทก์ให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดู เดือนละ 20,000 บาท ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิได้มีคำสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share