คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1386/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยไม่อาจนำต้นฉบับเอกสารของทางราชการมาแสดง แต่มีสำเนาเอกสารซึ่งเจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบมาเบิกความรับรองความมีอยู่และถูกต้องของเอกสารดังกล่าว จึงเพียงพอที่จะรับฟังเป็นหลักฐานให้เชื่อได้ว่าเจ้ามรดกได้จดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมจริง.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นหลานของ พ. เจ้ามรดก ส่วนจำเลยเป็นเหลนจำเลยได้ยื่นคำขอโอนที่ดินมีโฉนดทรัพย์มรดกจำนวน 3 แปลงเป็นของจำเลย โดยอ้างว่าจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมตามทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมเลขทะเบียนที่ 4/60 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2503 อันไม่เป็นความจริง เจ้ามรดกไม่เคยจดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมทั้งภริยาจำเลยไม่ให้ความยินยอม จำเลยไม่มีสิทธิรับมรดกที่ดินมรดกทั้ง 3 แปลงจึงตกได้แก่โจทก์ทั้งสิ้น ขอให้พิพากษาว่าทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมดังกล่าวเป็นโมฆะ โจทก์ทั้งสิบเป็นทายาทของ พ. เจ้ามรดก มีสิทธิได้รับมรดกตามส่วน
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งหมดไม่ใช่ทายาทของเจ้ามรดก บัญชีเครือญาติตามฟ้องไม่ถูกต้อง โจทก์ทั้งสิบไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดามารดาจึงไม่มีสิทธิได้รับมรดกแทนที่ จำเลยเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกและจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมก่อนจำเลยสมรส ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยเป็นบุตรบุญธรรมของเจ้ามรดก ย่อมตัดโจทก์ทั้งสิบซึ่งเป็นทายาทลำดับอื่น ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘คดีคงมีปัญหาตามที่คู่กรณีโต้เถียงกันประเด็นเดียวว่านางสาวพูน ศรีอำพันธ์ เจ้ามรดก ได้จดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมหรือไม่โจทก์ฎีกาโต้แย้งอ้างเหตุผลทำนองเดียวกับที่ได้ว่ากันมาแล้วในชั้นอุทธรณ์ซึ่งสรุปแล้วโจทก์เห็นว่า เอกสารอันเป็นหลักฐานแสดงการจดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมของเจ้ามรดกนั้น มีข้อพิรุธบกพร่องอยู่หลายประการไม่น่าเชื่อ ศาลฎีกาพิจารณาประเด็นโต้เถียงดังกล่าว เห็นว่า พยานหลักฐานฝ่ายจำเลยนอกจากจะมีเอกสารทางราชการมาแสดงแล้วจำเลยยังมีพยานบุคคลซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น นางอารีศรีชุ่มสิน นายวิจิตร เวชรังษี และร้อยเอกจรัญ ศิริวุฒิ มาเบิกความสนับสนุนให้น่าเชื่อว่าได้มีการจดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมของเจ้ามรดกจริง และการที่ไม่ปรากฏต้นฉบับเอกสารเกี่ยวกับการจดทะเบียนดังกล่าว ณ ที่ว่าการเขตมีนบุรี จนจำเลยต้องไปขอสำเนาจากสำนักทะเบียนกลาง กระทรวงมหาดไทย มาแสดงต่อศาลก็ไม่ปรากฏเหตุผลที่จะฟังว่าเป็นพิรุธ ทั้งจำเลยยังมีนายชวลิตร จิตรมั่น ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบอยู่ในสำนักงานแห่งนี้มาเบิกความเป็นพยานรับรองถึงความมีอยู่และถูกต้องของเอกสาร ทั้งการที่ศาลยอมรับฟังสำเนาเอกสารดังกล่าวก็หาได้ขัดต่อมาตรา 93 (2) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไม่ ดังจะเห็นได้จากข้อความในตัวบทนั้นเองที่บัญญัติว่าแม้ไม่มีต้นฉบับมาแสดง ศาลจะอนุญาตให้นำสำเนาหรือพยานบุคคลมาสืบก็ได้ แสดงว่ากฎหมายเปิดช่องไว้อย่างกว้างขวางเพื่อให้โอกาสคู่ความในการนำสืบเพื่อพิสูจน์ความจริง ดังนั้นการที่จำเลยไม่อาจนำต้นฉบับเอกสารมาแสดงแต่ก็มีสำเนาซึ่งเจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบมาเบิกความรับรองความมีอยู่และถูกต้องของเอกสารดังกล่าว เช่นนี้จึงเพียงพอที่จะรับฟังเป็นหลักฐานให้เชื่อได้ว่าเจ้ามรดกได้จดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมจริง ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ทั้งสิบฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน

Share