แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้บุพการีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5(2)นั้น หมายถึงผู้บุพการีตามความเป็นจริง
โจทก์กับนางลั่นแต่งงานกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย ผู้ตายอายุ 17 ปียังเป็นผู้เยาว์ เป็นบุตรอยู่เรือนเดียวกันและอยู่ในความปกครองของโจทก์กับนางลั่น โจทก์เป็นผู้ไปแจ้งการเกิดว่าผู้ตายเป็นบุตรของตน และเป็นผู้ให้การศึกษาแก่ผู้ตายตลอดมา แต่โจทก์ไม่เคยยื่นคำร้องต่ออำเภอรับรองผู้ตายว่าเป็นบุตร แม้ผู้ตายจะมิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ แต่โจทก์ก็เป็นผู้บุพการีของผู้ตายตามความเป็นจริง เมื่อผู้ตายถูกจำเลยทำร้ายถึงแก่ความตาย โจทก์ซึ่งเป็นผู้บุพการีตามความเป็นจริงของผู้ตายย่อมมีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้ตายได้ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 12/2516)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุพการีโดยเป็นบิดาผู้แทนโดยชอบธรรมของนางสาวลออ นิยมญาติ อายุ 17 ปี ผู้เยาว์ซึ่งอยู่ในความปกครองของโจทก์ จำเลยได้ใช้มีดปลายแหลมแทงนางสาวลออ 1 ที ถูกที่หน้าอกซ้ายโดยเจตนาฆ่า นางสาวลออได้ถึงแก่ความตายเพราะบาดแผลที่จำเลยทำร้ายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา
จำเลยให้การปฏิเสธ และเพิ่มเติมคำให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์มิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสาวลออผู้ตาย
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นผู้บุพการี จึงมีอำนาจฟ้องแทนผู้ตายซึ่งเป็นบุตรได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5(2) และเชื่อว่าจำเลยได้ใช้มีดแทงผู้ตายโดยเจตนาฆ่าจริง พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288
จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และจำเลยไม่ได้กระทำผิด
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ผู้ตายอายุ 17 ปียังเป็นผู้เยาว์ โจทก์แต่งงานกับนางลั่นมารดาของผู้ตายโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน และโจทก์มิได้ยื่นคำร้องรับรองผู้ตายเป็นบุตรต่ออำเภอ ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้จดทะเบียนว่าผู้ตายเป็นบุตร หรือศาลได้พิพากษาว่าเป็นบุตรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1526 ฉะนั้น ขณะฟ้องคดีนี้ผู้ตายจึงไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของโจท ์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้บุพการีโดยชอบด้วยกฎหมายตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5(2) ซึ่งจะเห็นได้ว่าแม้แต่ผู้แทนโดยชอบธรรม สามีหรือภริยา เมื่อจะฟ้องคดีแทนผู้เสียหายก็ต้องเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม สามีหรือภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงจะมีอำนาจฟ้องแทนได้ เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้บุพการีโดยชอบด้วยกฎหมายจึงไม่มีอำนาจฟ้องแทนผู้ตายโดยนัยเช่นเดียวกัน และไม่จำต้องชี้ขาดว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามฟ้อง
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์กับนางลั่นได้แต่งงานกันเมื่อ พ.ศ. 2483 หลังประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 แล้ว แต่มิได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย มีบุตรด้วยกันคือผู้ตายกับบุตรอีก 3 คน รวม 4 คน ผู้ตายอายุ 17 ปี ยังเป็นผู้เยาว์ อยู่เรือนเดียวกัน และอยู่ในความปกครองของโจทก์กับนางลั่นทะเบียนบ้านก็มีชื่อเด็กหญิงลออผู้ตายเป็นบุตรของนายหมุน (โจทก์) บิดากับนางลั่นมารดา โจทก์เป็นผู้ไปแจ้งการเกิดว่าผู้ตายเป็นบุตรของตน และเป็นผู้ให้การศึกษาแก่ผู้ตายตลอดมา แต่โจทก์ไม่เคยยื่นคำร้องต่ออำเภอรับรองผู้ตายว่าเป็นบุตร ผู้ตายจึงไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ แต่โจทก์ก็เป็นผู้บุพการีของผู้ตายตามความเป็นจริง ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ผู้บุพการีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5(2) นั้น หมายถึงผู้บุพการีตามความเป็นจริง เมื่อโจทก์เป็นผู้บุพการีตามความเป็นจริงของนางสาวลออผู้ตาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ คำพิพากษาฎีกาที่ 1405/2512 ที่ศาลอุทธรณ์อ้างมานั้น หาตรงกับรูปคดีนี้ไม่
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาและพิพากษาใหม่