คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1382/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่รถที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2 ขับชนกับรถผู้อื่นก่อน แล้วแฉลบไปชนบุตรสาวโจทก์ถึงแก่ความตายนั้น โจทก์ย่อมรู้แล้วว่า ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนต้องเป็นจำเลยที่ 1 หรือผู้ขับรถคันอื่นนั้นคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคน โดยไม่จำต้องรอฟังชี้ขาดของศาลว่าฝ่ายใดเป็นผู้กระทำผิดเสียก่อน เมื่อคดีฟังได้ว่าโจทก์ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิด และรู้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2513 อันเป็นวันเกิดเหตุนั้นเอง อายุความเฉพาะตัวจำเลยที่ 2ต้องเริ่มนับแต่วันนั้น นับถึงวันฟ้องเกิน 1 ปีคดีโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 จึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2513 จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถประจำทางรับส่งคนโดยสารในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาท เป็นเหตุให้รถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับวิ่งล้ำเข้าไปในเส้นทางของรถบรรทุกซึ่งนายเกียงเม้ง แซ่ลิ้มขับสวนทางมาและชนกับรถบรรทุกดังกล่าวนั้น แล้วพุ่งเข้าชนนางสาวประดับ ยาใจ บุตรสาวโจทก์ถึงแก่ความตาย ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยใช้เงินค่าเสียหาย ฯลฯ

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดี และว่าโจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับ แต่วันทำละเมิด คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 64,000 บาท

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดีเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ขาดอายุความแล้วพิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกาว่าโจทก์เพิ่งทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำละเมิด เมื่อศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ก่อนฟ้องคดีนี้เพียง 4 เดือนคดีโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ยังไม่ขาดอายุความ

ศาลฎีกาเห็นว่า การที่รถที่จำเลยที่ 1 ขับชนกับรถของผู้อื่นก่อนแล้วแฉลบไปชนนางสาวประดับถึงแก่ความตายนั้น โจทก์ย่อมรู้แล้วว่า ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนต้องเป็นจำเลยที่ 1 หรือผู้ขับรถสองแถวเล็กคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคน โดยไม่จำต้องรอฟังชี้ขาดของศาลว่าฝ่ายใดเป็นผู้กระทำผิดเสียก่อน การที่โจทก์ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการในคดีที่นายเกียงเม้งผู้ขับรถสองแถวถูกฟ้องเป็นจำเลย ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะให้ฟังว่าโจทก์ไม่อาจทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังที่โจทก์อ้างในฎีกา เมื่อคดีฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า โจทก์ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิด และรู้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2513 อันเป็นวันเกิดเหตุนั้นเอง อายุความเฉพาะตัวจำเลยที่ 2 ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันนั้น นับถึงวันฟ้องเกิน 1 ปี คดีของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 จึงขาดอายุความแล้ว

พิพากษายืน

Share