คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1382/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลูกจ้างขับรถประจำทางจากอู่เพื่อไปยังจุดต้นทางโดยเส้นทางที่ผิดไปจากเส้นทางที่นายจ้างมีคำสั่งไว้ให้ปฏิบัติ เมื่อขับด้วยความประมาทชนผู้อื่นบาดเจ็บ นายจ้างจะต้องร่วมรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนด้วย เพราะการที่ลูกจ้างขับรถเพื่อไปยังจุดต้นทางตามหน้าที่นั้นเป็นการที่กระทำไปในทางการที่จ้างแล้ว ส่วนคำสั่งดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องภายในระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง
โจทก์มีรายได้เดือนละ 600 บาท เมื่อถูกจำเลยกระทำละเมิดแล้วไม่สามารถประกอบอาชีพได้เช่นปกติ ฟ้องเรียกค่าเสียหายในอนาคต 10 ปีเป็นเงิน 72,000 บาท เมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวนหนึ่งเป็นจำนวนแน่นอนแล้ว ย่อมให้คิดดอกเบี้ยในเงินจำนวนนี้นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นพิพากษา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถยนต์ประจำทางของจำเลยที่ 2ผู้เป็นนายจ้าง ได้ขับรถยนต์ตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ตามทางการที่จ้าง ได้ขับรถดังกล่าวด้วยความประมาท ชนโจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส ขอให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายพร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1 ขาดนัด

จำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 จะเป็นลูกจ้างขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 หรือไม่ไม่รับรอง แม้จำเลยที่ 1 ขับรถชนโจทก์จริงก็ไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 เพราะสถานที่เกิดเหตุอยู่นอกเส้นทางสัมปทานและนอกทางการที่จ้าง จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วยค่าเสียหายที่เรียกร้องก็สูงไป

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 72,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้เงินเสร็จ

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ขับรถไปชนโจทก์นอกเส้นทางในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างไม่ต้องร่วมรับผิดและศาลกำหนดค่าเสียหายสูงเกินไป

ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ขับรถออกจากอู่เก็บรถของจำเลยที่ 2 ที่ช่องนนทรี เข้าตรอกจันทร์ไปออกถนนเจริญกรุง เพื่อไปยังจุดต้นทางถนนสี่พระยา (และได้ชนโจทก์ในถนนเจริญกรุงก่อนถึงถนนสี่พระยา) เป็นการขับรถไปนอกเส้นทางปฏิบัติผิดคำสั่งของจำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างที่ว่าเมื่อรถออกจากอู่ต้องวิ่งมาตามถนนสวนพลูออกถนนสาธรเลี้ยวซ้ายตามถนนพระราม 4 ถึงสามย่านแล้วเลี้ยวเข้าถนนสี่พระยาไปจุดต้นทางนั้น คำสั่งของจำเลยที่ 2 จะมีอย่างไร ก็เป็นเรื่องภายในระหว่างจำเลยที่ 2 กับคนของจำเลยผู้ทำละเมิดเท่านั้น แต่การที่จำเลยที่ 1 ได้ขับรถเพื่อไปยังจุดต้นทางตามหน้าที่นั้น ถือว่าเป็นการปฏิบัติที่ลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างของนายจ้าง เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ดังนี้ จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนด้วย

โจทก์มีรายได้เดือนละ 600 บาท เมื่อโจทก์ถูกตัดขาแล้วไม่สามารถประกอบอาชีพได้เช่นปกติ ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายในอนาคต 10 ปีเป็นเงิน 72,000 บาทนั้น เป็นการสมควรแล้วแต่ค่าสินไหมทดแทนจำนวนนี้เป็นหนี้ค่าเสียหายในอนาคตมีกำหนดจำนวนแน่นอน ซึ่งโจทก์สามารถบังคับได้ในวันที่ศาลชั้นต้นพิพากษา จึงควรคิดดอกเบี้ยให้นับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับ คือนับจากวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ไม่ใช่นับแต่วันฟ้อง ดังคำพิพากษาศาลล่าง

พิพากษาแก้เฉพาะเรื่องดอกเบี้ย โดยให้จำเลยร่วมกันเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีของเงิน 72,000 บาท นับแต่วันศาลชั้นต้นพิพากษาเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

Share