คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1381/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามสัญญากู้ มีข้อความว่า “และถ้า ต่อไปผู้ให้กู้จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแล้ว ผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้มีสิทธิขึ้นอัตราดอกเบี้ยแก่ผู้ให้กู้ตามที่แจ้งไปนั้นทุกประการโดยไม่โต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้น…” ดังนี้ เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศกำหนดให้โจทก์ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากผู้กู้ในอัตราที่เพิ่มขึ้นได้ และโจทก์มีหนังสือแจ้งการขอเพิ่มให้จำเลยทราบแล้วอีกทั้งอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มก็ไม่เกินกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด โจทก์จึงมีสิทธิจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามข้อสัญญาดังกล่าวโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 อีก.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2522 จำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 และนายสมชัย ศรีประสาธน์ เป็นผู้แทน ได้กู้เงินจากโจทก์ไป 51,719,784 บาทอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 13.5 ต่อปี โดยมีข้อตกลงชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน และยินยอมให้โจทก์ขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และสัญญาผ่อนชำระต้นเงินคืนไม่ต่ำกว่าเดือนละ500,000 บาท ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2523 จนถึงเดือนมิถุนายน 2524และไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,000,000 บาท ตั้งแต่เดือนกรกฏาคม 2524ทั้งนี้โดยจะชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 เมษายน 2528 เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ ในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดที่ 28631,28632, 28633 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อเพิ่มหลักทรัพย์รวมกับที่ดินโฉนดที่ 2533, 2743, 25950, 25951, 38652, 38653, 38654, 38655,38656, 41434, 41435, 72378 พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งได้จำนองไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้เดิม 14,000,000 บาท เมื่อวันที่ 27พฤศจิกายน 2516 โดยเพิ่มวงเงินจำนองเท่ากับหนี้เงินกู้จำนวนดังกล่าวและเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเดิมจากร้อยละ 12 ต่อปี มาเป็นร้อยละ 13.5 ต่อปี ในการนี้จำเลยที่ 2 ได้เข้าเป็นผู้ค้ำประกันหนี้เงินกู้โดยยอมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ หลังจากนั้นต่อมาได้มีการขึ้นดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม2522 และครั้งหลังเป็นร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 มกราคม2523 หลังจากกู้เงินไปแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ชำระดอกเบี้ยและผ่อนต้นเงินตามสัญญา โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองโดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้หนี้เงินต้นและดอกเบี้ยให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2524 แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยเมื่อคำนวณดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี นับแต่วันกู้ยืมจนถึงวันที่ 30 กันยายน2522 ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2522 ถึงวันที่14 มกราคม 2523 และในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันที่ 15มกราคม 2523 ถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2524 และจนถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ย 25,214,132.57 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 76,932,916.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ18 ต่อปี ในต้นเงิน 51,718,784 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้ยึดทรัพย์สินจำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินสุทธิมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้ทำสัญญากู้เงินฉบับพิพาทซึ่งมิใช่ลายมือชื่อที่แท้จริงของนายชวลิต ทั่งสัมพันธ์และนายสมัย ศรีประสาธน์ มูลเรื่องเดิมเป็นการคิดบัญชีในมูลหนี้เดิมระหว่างบริษัทชวริน จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัดเศรษฐสัมพันธ์โยธาและบริษัทจำเลยที่ 1 กับธนาคารโจทก์ ซึ่งตกลงจะแปลงหนี้มาเป็นสัญญากู้กันใหม่ แต่โจทก์คิดยอดหนี้คลาดเคลื่อน โดยจำเลยที่ 1มิได้ตกลงด้วย และโจทก์ยังตกลงให้จำเลยที่ 1 กู้เพิ่มอีก 5,000,000บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ยังมิได้รับมา สัญญากู้ฉบับพิพาทจึงไม่สมบูรณ์เช่นเดียวกับสัญญาจำนองที่ดินเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มวงเงินจำนองเดิมจาก 14,000,000 บาท เป็น 51,718,784 บาท ซึ่งได้กระทำไปโดยพลการของผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 โดยยังมิได้รับมอบเงินกู้เพิ่มอีก 5,000,000 บาท ทั้งยังมิได้รับมอบอำนาจให้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยจำนอง ซึ่งจำเลยที่ 1 มิได้ตกลงยินยอมด้วย โจทก์จึงจะถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยมิได้
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 มิได้ทำสัญญาค้ำประกันฉบับพิพาทตามฟ้องซึ่งมิใช่ลายมือชื่อที่แท้จริงของจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 1 ยังมิได้ทำสัญญากู้กับธนาคารโจทก์ สัญญาคัำประกันท้ายฟ้องจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน76,932,915.57 บาท พร้อมดอกเบี้ย ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์สินจำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินสุทธิมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว จำเลยทั้งสองฎีกาประการแรกว่า การกู้เงินของจำเลยที่ 1 เป็นการแปลงหนี้เดิมของบริษัทชวรินจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัดเศรษฐสัมพันธ์โยธา และหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีต่อโจทก์ จึงต้องคำนวณตามมูลหนี้เดิมซึ่งมีจำนวนเพียง 40,505,069.91 บาท มิใช่จำนวน51,718,784 บาท ดังที่ปรากฏในสัญญาฉบับพิพาท สัญญากู้ฉบับพิพาทจึงใช้บังคับไม่ได้ รวมทั้งสัญญาค้ำประกันด้วย ศาลฎีกาเห็นว่า จากการนำสืบของโจทก์และจำเลยได้ความตรงกันว่า การกู้เงินรายนี้เป็นการรวมหนี้เดิมของบริษัทชวริน จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัดเศรษฐสัมพันธ์โยธา และหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นหนี้โจทก์เข้าด้วยกันมาทำเป็นสัญญากู้ขึ้นใหม่ โดยจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดเป็นลูกหนี้แต่ผู้เดียวอันเป็นการแปลงหนี้ ซึ่งโจทก์มีนายสุริย์ ด่านสวัสดิ์ อดีตผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อ และนางพเยาว์ชื่นโกสุม อดีตหัวหน้าหน่วยเงินกู้ซึ่งเป็นผู้พิมพ์สัญญามาเบิกความยืนยันตรงกันว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และนายสมัย ศรีประสาธน์ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 ได้ลงชื่อในสัญญากู้เอกสารหมาย จ.52และจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวได้ลงชื่อเป็นผู้ค้ำประกันในสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.53 อีกทั้งจำเลยที่ 2 และนายสมัยยังได้ร่วมกันลงชื่อและประทับตราจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเงินในเอกสารหมาย จ.54ซึ่งระบุว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินจำนวน 51,718,784 บาท ไปแล้วด้วยแสดงให้เห็นว่า จำเลยทั้งสองได้รับรองยอดหนี้ของบริษัทชวริน จำกัดห้างหุ้นส่วนจำกัดเศรษฐสัมพันธ์โยธาและจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหนี้โจทก์รวมกันแล้วเป็นจำนวน 51,718,784 บาท ว่าถูกต้องตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้เอกสารหมาย จ.52 แล้ว มิฉะนั้นจำเลยที่ 2 และนายสมัยคงไม่ลงชื่อในเอกสารดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้นสัญญากู้รวมทั้งสัญญาค้ำประกันจึงมีผลใช้บังคับกันได้ตามกฎหมาย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อต่อไปของจำเลยทั้งสองมีว่าโจทก์มีสิทธิขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสัญญากู้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยหรือไม่ ในข้อนี้ ข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาและจำเลยทั้งสองมิได้ฎีกาโต้แย้งฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์ได้มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ขอเพิ่มอัตราดอกเบี้ย2 ครั้ง ครั้งแรกขอเพิ่มเป็นอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตั้งแต่วันที่1 ตุลาคม 2522 ครั้งที่สองขอเพิ่มเป็นอัตราร้อยละ 18 ต่อปีตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2523 ตามเอกสารหมาย จ.13 ถึง จ.16และอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์ขอเพิ่มทั้งสองครั้งนั้น ไม่เกินกำหนดที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ตามเอกสารหมาย จ.57 และ จ.58จำเลยทั้งสองฎีกาโต้แย้งแต่เพียงว่า โจทก์เพียงแต่มีหนังสือแจ้งการขอขึ้นอัตราดอกเบี้ยมายังจำเลย แต่จำเลยมิได้ตกลงยินยอมด้วยโจทก์จึงไม่มีสิทธิขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ ในข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.52 ข้อ 2 มีข้อความว่า “…และถ้าต่อไปผู้ให้กู้จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแล้วผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้มีสิทธิขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ตามแต่จะเห็นสมควรโดยเพียงแต่แจ้งให้ผู้กู้ทราบเท่านั้น ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยแก่ผู้ให้กู้ตามที่แจ้งไปนั้นทุกประการโดยไม่โต้แย้งใด ๆทั้งสิ้น…” ดังนี้ เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศกำหนดให้โจทก์ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากผู้กู้ในอัตราที่เพิ่มมากขึ้นได้ และโจทก์มีหนังสือแจ้งการขอเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้จำเลยทราบแล้ว อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ขอเพิ่มขึ้นไปนั้นก็ไม่เกินกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติด้วย โจทก์จึงมีสิทธิที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามเงื่อนไขข้อสัญญาดังกล่าว โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 อีกแต่อย่างใด คำพิพากษาฎีกาที่868/2524 ที่จำเลยทั้งสองอ้างมาในฎีกา นั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้”
พิพากษายืน.

Share