คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1381/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินสะสมของข้าราชการมีสภาพเป็นส่วนหนึ่งของเงินเดือนข้าราชการ จึงไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี โจทก์จะยึดหรืออายัดไม่ได้
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 27/2513)

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากกรณีที่โจทก์ฟ้องหาจำเลยว่า จำเลยที่ ๑ กู้ยืมเงินของโจทก์ไป จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกันการกู้เงินรายนี้ ต่อมาจำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ที่ศาลชั้นต้น ศาลชั้น้ตนพิพากษาให้คดีเป็นอันเสร็จไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นแล้ว ข้อความสัญญาดังกล่าวมีใจความว่า จำเลยที่ ๑ ยอมใช้ต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชำระรวมเป็นเงิน ๑,๗๔๓ บาท ๒๔ สตางค์ แก่โจทก์ พร้อมกับดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปีในต้นเงิน ๑,๕๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะได้ชำระเสร็จ โดยผ่อนชำระเป็นรายเดือน ๆ ละ ๒๕๐ บาท ชำระภายในวันที่ ๕ ของเดือน เริ่มแต่เดือนมีนาคม ๒๕๐๒ ถ้าจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ ชำระแทน ถ้าผิดนัดทั้งสองคนให้บังคับคดีได้ทันที
วันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๐๒ โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความหลายเดือนแล้ว ขณะนี้ปรากฏว่า จำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างใดที่โจทก์จะยึดเอาชำระหนี้ได้ แต่จำเลยที่ ๑ รับราชการเป็นครูประจำโรงเรียนสตรีจังหวัดปัตตานี มีเงินสะสมของจำเลยอยู่จำนวนหนึ่งประมาณ ๓,๐๐๐ บาท อยู่ที่ครูใหญ่โรงเรียนดังกล่าว ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดียึดเงินสะสมของจำเลยเพื่อเอาชำระหนี้โจทก์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เงินสะสมเป็นเงินที่หักจากเงินเดือนของข้าราชการ สะสมไว้ตามระเบียบราชการ จะจ่ายคืนให้เมื่อข้าราชการผู้นั้นออกจากราชการหรือตาย ผลเท่ากับว่า ทางราชการหักเงินเดือนนั้นไว้ เมื่อเงินนี้เป็นเงินเดือน แม้จะเรียกชื่อว่าเป็นเงินสะสมก็ดี เงินนี้ย่อมไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะยึดเงินนี้มาชำระหนี้ได้ ให้ยกคำร้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในผลแห่งคำสั่งศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ที่มาแห่งเงินสะสมสืบเนื่องมาจากเงินเดือนของข้าราชการบางส่วนซึ่งทางราชการยังไม่จ่ายให้ ได้มีการหักเก็บไว้ทุกเดือน โดยทางราชการจะรวบรวมเงินสะสมนี้ไว้จ่ายคืนให้เมือข้าราชการออกจากราชการ โดยมติแห่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเห็นว่า เงินสะสมมีสภาพเป็นเงินเดือน จึงไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๖ โจทก์จะขอยึดหรืออายัดไม่ได้
พิพากษายืนในผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share