คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1088/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หนังสือสัญญาที่ ร. กับจำเลยทำไว้ให้กับโจทก์ว่า หากโจทก์ได้รับความเสียหายจากการที่โจทก์เข้าค้ำประกันในการที่ร.จะปฏิบัติตามสัญญาขนส่งไม้สักที่ร. ทำไว้กับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ร. กับจำเลยจะร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสิ้นนั้น ไม่ใช่สัญญาค้ำประกันตามป.พ.พ. มาตรา680 แต่เป็นสัญญาธรรมดาซึ่งต้องบังคับตามข้อตกลงในสัญญา จะนำบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะค้ำประกันมาใช้บังคับมิได้อายุความฟ้องร้องจึงต้องนำอายุความทั่วไปมาใช้บังคับตามป.พ.พ. มาตรา 164 คือ 10 ปี โดยอายุความฟ้องร้องเริ่มนับแต่วันที่โจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ไป
การที่ ร. ผิดสัญญากับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้และไม่ชดใช้ค่าเสียหายให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้การที่โจทก์ไม่ยอมชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวจนโจทก์ถูกองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ฟ้องในฐานะผู้ค้ำประกันและถูกศาลพิพากษาให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความที่โจทก์เสียไปดังกล่าวไม่ใช่ค่าเสียหายโดยตรงอันเกิดจากการที่ ร. ผิดสัญญากับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยชดใช้เงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2511 และ 14 กุมภาพันธ์2512 โจทก์ได้ค้ำประกัน ร. ต่อองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ในการที่ร. จะขนส่งไม้สักให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้จำนวนเงิน 178,000บาท โดย ร. กับจำเลยตกลงจะชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์หากโจทก์ได้รับความเสียหายจากการค้ำประกันดังกล่าว ต่อมา ร. ผิดสัญญาและไม่ชดใช้ค่าเสียหายให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้จึงฟ้องโจทก์ให้รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน ในที่สุดศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 20/2522 ได้พิพากษาให้โจทก์รับผิดชดใช้เงินแก่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้รวมต้นเงิน ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมและค่าทนายรวมเป็นเงิน 245,975.44 บาท ซึ่งจำเลยต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2522 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ชำระหนี้ให้แก่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ไปคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 55,344.54 บาท ขอให้จำเลยใช้เงินจำนวน 301,320.38บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน245,975.44 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า ลายมือชื่อผู้ค้ำประกันในหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับไม่ใช่ของจำเลย จำเลยต้องรับผิดในวงเงินค้ำประกันไม่เกิน 58,000 บาท และ 120,000 บาท ตามลำดับค่าฤชาธรรมเนียม ค่าทนายความที่โจทก์ต้องจ่ายแทนองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดอุตรดิตถ์จำนวน 35,277 บาท กับดอกเบี้ยจำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะไม่เกี่ยวกับการค้ำประกันฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะร. ผิดสัญญากับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เมื่อวันที่ 1 กันยายน2511 และวันที่ 1 มิถุนายน 2513 ตามลำดับซึ่งนับแต่วันดังกล่าวถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกิน 10 ปี และโจทก์ได้ทราบว่า ร. ได้ถึงแก่ความตายตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2519 แต่ไม่ฟ้องทายาทผู้รับมรดกของ ร. ให้รับผิดภายใน 1 ปี จำเลยขอยกข้อต่อสู้ของทายาทของ ร. ต่อสู้โจทก์ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 เพราะโจทก์ฟ้องคดีนี้หลังจาก ร. ตายไปแล้วถึง 6 ปีเศษและหลังจากวันที่ 14พฤศจิกายน 2522 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ใช้เงินให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ไปแล้วเป็นเวลาเกิน 1 ปี ดังนั้น จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะหากจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์จำเลยจะไม่สามารถใช้สิทธิไล่เบี้ยจากทายาทผู้รับมรดกได้เพราะคดีขาดอายุความแล้ว
ก่อนสืบพยานโจทก์ โจทก์แถลงรับข้อเท็จจริงว่า หนังสือค้ำประกันลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2512 จำนวนเงิน 120,000 บาท เป็นสัญญาที่นายบุญ ปาลาศ ค้ำประกัน ร. ต่อโจทก์ นายบุญ ปาลาศ เป็นคนละคนกับจำเลย คงพิพาทกันเฉพาะหนังสือค้ำประกันฉบับลงวันที่ 26มกราคม 2511 จำนวนเงิน 58,000 บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 2 จำนวน จำนวนแรก 58,000บาทจำนวนที่สอง 29,987.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีโดยคิดจากต้นเงินจำนวนแรกนับแต่วันที่ 3มิถุนายน 2520 (วันที่โจทก์ถูกองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ฟ้องต่อศาลจังหวัดอุตรดิตถ์) และคิดจากต้นเงินจำนวนที่สองตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2522 เป็นต้นไป จนกว่าชำระเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาทแทนโจทก์ด้วย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์1,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยและโจทก์จำเลยมิได้อุทธรณ์ฎีกาต่อมาว่าเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2511 โจทก์ได้ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันนายรัตน์ บุญมาสืบ ต่อองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ในกรณีที่นายรัตน์จะปฏิบัติตามสัญญาที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ได้ว่าจ้างให้นายรัตน์ขนส่งไม้สักของกลางตามเอกสารหมาย จ.3และในวันดังกล่าวนั้นเอง นายรัตน์กับจำเลยได้ทำหนังสือเอกสารหมาย จ.5 มีข้อความว่าหากโจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากการค้ำประกันนายรัตน์ต่อองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ดังกล่าว คนทั้งสองจะร่วมกันชดใช้ให้โจทก์ทั้งสิ้น ต่อมานายรัตน์ผิดสัญญากับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เป็นเหตุให้โจทก์ถูกฟ้องและแพ้คดี ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่20/2522 ของศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ ปัญหาที่จำเลยฎีกาคงมีว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ และจำเลยจะต้องรับผิดชอบเรื่องดอกเบี้ยค่าเสียหายและค่าฤชาธรรมเนียมหรือไม่ เพียงใด…เห็นว่า

Share