คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 138/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การกระทำโดยบันดาลโทสะเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
การที่ผู้ตายละทิ้งจำเลยไปมีภรรยาใหม่ แล้วเสพสุรามึนเมามาหาจำเลยที่บ้านเพื่อจะนำบุตรไปอยู่กับภรรยาใหม่ของผู้ตาย เมื่อจำเลยไม่ยินยอม ก็ทำร้ายตบตีจำเลยถือได้ว่าจำเลยถูกข่มเหงอย้างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม เมื่อจำเลยใช้มีดพร้าฟันศีรษะผู้ตายในขณะนั้นโดยแรงเพียง 1ครั้ง การที่จำเลยฆ่าผู้ตายจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 33ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ พิพากษายกฟ้อง ของกลางคืนเจ้าของ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ให้จำคุก 20 ปี ของกลางริบ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยนำสืบว่า ผู้ตายใช้มีดปลายแหลมไล่แทงจำเลยก่อนโดยมีนางเทียบ สอนแก้ว มารดาจำเลย และนายเขียนสุขสวัสดิ์ เบิกความสนับสนุนนั้นเห็นว่า พยานจำเลยทั้งสองเบิกความขัดกัน โดยนางเทียบเบิกความว่า ขณะที่นั่งคุยกับนายเขียนหน้าบ้านได้ยินเสียงจำเลยร้องให้ช่วย บอกว่าผู้ตายไล่แทง พยานเข้าไปดูเห็นผู้ตายใช้มีดไล่แทงจำเลย จึงวิ่งออกมาบอกนายเขียนให้ไปช่วยนายเขียนไม่ไป แต่นายเขียนกลับเบิกความว่า เมื่อได้ยินเสียงจำเลยร้องขอความช่วยเหลือ พยานกับนางเทียบได้เข้าไปดูด้วยกัน เมื่อพยานกับนางเทียบจะกลับออกมา เนื่องจากเสียงที่โต้เถียงกันเงียบ ก็ได้ยินเสียงผู้ตายพูดว่าจะแทงจำเลย เห็นผู้ตายถือมีดปลายแหลมวิ่งตามจำเลยเข้าไปในห้อง คำเบิกความของพยานจำเลยทั้งสองที่ว่าผู้ตายถือมีดไล่แทงจำเลยก่อนจึงไม่น่าเชื่อ ทั้งเมื่อพิจารณาจากแผนที่เกิดเหตุตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งแสดงจุดที่จำเลยฟันผู้ตายว่าจำเลยยืนบริเวณหัวบันไดขึ้นห้องนั่งเล่น ส่วนจุดที่ผู้ตายถูกฟันอยู่อยู่ภายในห้องดังกล่าวแล้ว จะว่าผู้ตายถือมีดวิ่งไล่ตามจำเลยเข้าไปในห้องได้อย่างไร เพราะขณะฟันจำเลยอยู่บริเวณหัวบันได ส่วนผู้ตายในห้อง จากแผนที่ดังกล่าวส่อแสดงไปในทางที่จำเลยไล่ฟันผู้ตายซึ่งหนีขึ้นไปบนห้องนั่งเล่นเสียมากกว่า และถ้าหากผู้ตายถือมีดปลายแหลมไล่แทงจำเลยดังที่จำเลยนำสืบแล้ว จำเลยซึ่งเป็นหญิงย่อมจะหลบหลีกได้ยาก น่าจะต้องได้รับบาดเจ็บบ้าง แต่คดีก็ไม่ได้ความว่าจำเลยมีบาดแผลแต่อย่างใด นอกจากนี้ผู้ตายถูกฟันที่ศีรษะเป็นบาดแผลฉกรรจ์หากผู้ตายถือมีดปลายแหลมไล่แทงจำเลยแล้วมีดของผู้ตายก็ต้องตกอยู่ในท้องที่เกิดเหตุ แต่จากคำเบิกความของพยานโจทก์และพยานจำเลยต่างไม่ปรากฏว่าพบมีดปลายแหลมในที่เกิดเหตุ ทั้งเมื่อร้อยตำรวจเอกอรุณพนักงานสอบสวนไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ หลังจากที่เหตุเกิดไม่เกิน1 ชั่วโมง ก็ไม่พบมีดปลายแหลมแต่อย่างใด ที่จำเลยฎีกาว่าอาจจะมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดเอามีดของผู้ตายไปเสียก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมาถึงนั้น ได้ความจากคำเบิกความของนายเอิ้ม คงดำ บิดาผู้ตายว่าผู้ตายชอบดื่มสุราประพฤติตัวเป็นนักเลง ส่วนจำเลยเป็นผู้ที่คนในละแวกนั้นรักใคร่ เมื่อเหตุเกิดบนบ้านของจำเลยซึ่งเป็นที่รักใคร่ของคนในหมู่บ้านเช่นนี้ หากมีมีดปลายแหลมของผู้ตายตกอยู่ในที่เกิดเหตุจริง คนที่พบเห็นก็จะต้องบอกความข้อนี้ซึ่งเป็นผลดีต่อตัวจำเลยเป็นอย่างยิ่งต่อร้อยตำรวจเอกอรุณรัตน์เป็นแน่ แต่ก็หามีผู้ใดบอกข้อความดังกล่าวต่อร้อยตำรวจเอกอรุณรัตน์ไม่ ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่า ถูกผู้ตายใช้มีดปลายแหลมไล่แทงจำเลยก่อน จึงรับฟังเป็นความจริงไม่ได้ ที่จำเลยนำสืบต่อไปว่า จำเลยได้ใช้มีดพร้าแกว่งเป็นแนวขวางเพื่อมิให้ผู้ตายเข้ามาแทงจำเลย แต่ตัวมีดหลุดจากด้ามไปถูกผู้ตายนั้นก็ขัดต่อเหตุผล เพราะหากเป็นดังจำเลยอ้าง มีดพร้าจะหลุดขึ้นไปสูงถูกศีรษะของผู้ตายเป็นบาดแผลฉกรรจ์ยาวถึงประมาณ 10เซนติเมตร ตามรายงานการชันสูตรพลิกศพท้ายฟ้องได้อย่างไร และในสถานการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันเช่นนี้ เมื่อตัวมีดหลุดจากด้ามไปถูกผู้ตายแล้ว จำเลยคงจะตกใจถือด้ามมีดที่อยู่ในมือวิ่งหนีออกไปเสียมากกว่าที่จะไปเก็บตัวมีดถือออกไป ดังคำเบิกความของนางเทียบพยานโจทก์ จากเหตุผลดังกล่าวมา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ว่า การกระทำของจำเลยหาใช่เป็นการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมายไม่ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่โดยเหตุที่คดีได้ความจากคำเบิกความของนายเอิ้มพยานโจทก์ ซึ่งเป็นบิดาของผู้ตายว่าผู้ตายชอบดื่มสุรา ประพฤติตนเป็นนักเลงในหมู่บ้านมีเรื่องทะเลาะกับจำเลยบ่อยและชอบเตะตีจำเลยเป็นประจำ ส่วนจำเลยเป็นบุคคลที่มีอารมณ์เยือกเย็น หาเลี้ยงดูบุตรเป็นอย่างดี และเป็นที่รักใคร่ของคนทั่วไปในละแวกนั้น เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ได้ความว่า วันเกิดเหตุ ผู้ตายเสพสุรามึนเมามาที่บ้านจำเลยเพื่อจะนำบุตรไปอยู่กับภรรยาใหม่ แต่จำเลยไม่ยินยอมจึงเกิดทะเลาะกันแล้วเชื่อได้ว่าผู้ตายได้ตบตีจำเลยก่อนเช่นที่ผู้ตายเคยปฏิบัติดังที่จำเลยนำสืบ การที่ผู้ตายละทิ้งจำเลยไปมีภรรยาใหม่แล้วเสพสุรามึนเมามาหาจำเลยที่บ้านเพื่อจะนำบุตรไปอยู่กับภรรยาใหม่ของผู้ตาย เมื่อจำเลยไม่ยินยอม ก็ทำร้ายตบตีจำเลยเช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมเมื่อจำเลยใช้มีดพร้าฟันศีรษะผู้ตายในขณะนั้นโดยแรงเพียง 1 ครั้งการที่จำเลยฆ่าผู้ตายจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 แม้ความข้อนี้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 72 ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี จำเลยเป็นหญิงมีบุตรซึ่งเป็นผู้เยาว์ที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูถึง 2 คน ทั้งไม่ปรากฏว่าเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เมื่อได้คำนึงถึงพฤติการณ์แห่งคดีที่ได้ความว่า ผู้ตายเป็นฝ่ายประพฤติตนไม่ชอบ เพราะนอกจากจะละทิ้งจำเลยไปมีภรรยาใหม่แล้ว ยังจะนำบุตรของจำเลยไปอยู่กับภรรยาใหม่อีกเช่นนี้ จึงสมควรให้โอกาสแก่จำเลยได้กลับตัว โทษจำคุกจึงให้รอไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 มีกำหนด 3 ปีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”

Share