แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องคดีโดยอาศัยมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติ เครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2504 จำเลยให้การว่าโจทก์มิได้นำคดีมาสู่ศาลภายใน 90 วัน นับแต่รับคำวินิจฉัยของนายทะเบียน ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ดังนี้จะถือว่าจำเลยยอมรับว่าโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของนายทะเบียนตามวันที่ระบุในฟ้องหาได้ไม่ เพราะจำเลยไม่มีโอกาสที่จะทราบว่าโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยตั้งแต่เมื่อใดจำเลยจึงไม่อาจให้การปฏิเสธได้โดยชัดแจ้งถึงวันที่โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยนั้น คำให้การดังกล่าวเป็นการปฏิเสธว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความโดยชัดแจ้งแล้วโจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบในข้อนี้เมื่อโจทก์นำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์นำคดีมาสู่ศาลภายในกำหนด90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของนายทะเบียน สิทธินำคดีมาสู่ศาลจึงเป็นอันระงับสิ้นไปตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซ้ำกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โจทก์จึงยื่นคัดค้าน นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยให้ยกคำคัดค้านของโจทก์ โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2522 โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยจึงฟ้องคดีนี้โดยอาศัยมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ ขอให้ศาลเพิกถอนคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของจำเลย
จำเลยให้การข้อหนึ่งว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์กล่าวในฟ้องว่าโจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้ยกคำคัดค้านของโจทก์มเื่อวันที่ 12 มีนาคม2522 และโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอาศัยมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2504 จำเลยให้การต่อสู้ในประเด็นข้อนี้ว่า “ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2504 บัญญัติว่า หากฝ่ายใดไม่พอใจในคำวินิจฉัยของนายทะเบียนจะต้องนำคดีไปสู่ศาลภายใน 90 วัน นับแต่ได้รับคำวินิจฉัยและจะต้องยื่นคำร้องให้นายทะเบียนทราบภายในกำหนดดังกล่าวด้วย มิฉะนั้นให้ถือว่าคำวินิจฉัยถึงที่สุด โจทก์มิได้ปฏิบัติภายในกำหนดดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ดังนี้จะถือว่าจำเลยยอมรับว่าโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของนายทะเบียนการค้าเมื่อวันที่ 12 มีนาคม2522 ตามฟ้องโจทก์หาได้ไม่ เพราะจำเลยไม่มีโอกาสที่จะทราบว่าโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตั้งแต่เมื่อใดจำเลยจึงไม่อาจให้การปฏิเสธได้โดยแจ้งชัดถึงวันที่โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยนั้น เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธเป็นสารสำคัญว่าโจทก์มิได้นำคดีมาสู่ศาลภายในกำหนดเวลา 90 วันตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และกล่าวอ้างว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ โจทก์จึงต้องมีหน้าที่นำสืบแสดงให้เห็นว่าโจทก์นำคดีมาสู่ศาลภายใน 90 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ดังจะเห็นได้จากชั้นชี้สองสถานของศาลชั้นต้นซึ่งกำหนดประเด็นพิพาทข้อนี้ไว้ว่าฟ้องของโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ และกำหนดให้หน้าที่นำสืบตกอยู่แก่โจทก์ ฉะนั้นหากโจทก์เห็นว่าคำให้การของจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงตามฟ้องของโจทก์ โจทก์ก็ชอบที่จะโต้แย้งหรือคัดค้านต่อศาลชั้นต้นว่าคดีไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ แต่โจทก์ก็หาได้โต้แย้งแต่อย่างใดไม่ ย่อมเป็นการแสดงว่าโจทก์ยอมรับที่จะเป็นฝ่ายนำสืบในประเด็นข้อนี้เพราะเห็นว่าศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทถูกต้องแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าคำให้การของจำเลยปฏิเสธฟ้องของโจทก์ไว้โดยชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง ในกรณีเช่นนี้โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ปรากฏว่าโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามที่กล่าวอ้างในฟ้องแต่โจทก์หาได้นำสืบไม่ พยานหลักฐานของโจทก์ยังรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเมื่อวันที่ 12 มีนาคม2522 หรือภายหลัง อันจะเป็นการแสดงว่าโจทก์ได้นำคดีมาสู่ศาลภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของนายทะเบียน ดังนั้น สิทธิที่โจทก์จะนำคดีมาสู่ศาลไม่เป็นอันระงับสิ้นไปตาม มาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2574 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2504 มาตรา 8
พิพากษายืน