คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1372/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ยื่นฟ้องขอแบ่งมรดกไว้ แต่คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลยังถือไม่ได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกนั้น จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลเรียกผู้จัดการมรดกมาสอบถามถึงเรื่องทรัพย์มรดก
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1730 ประกอบกับมาตรา 1565 ให้อำนาจศาลเรียกผู้จัดการมรดกมาแถลงถึงความเป็นอยู่แห่งทรัพย์มรดกแต่การที่จะเรียกผู้จัดการมรดกมาแถลงหรือไม่เป็นเรื่องของศาล

ย่อยาว

เดิมผู้ร้องทั้งสามยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของพระยาศรีวิกรมาทิตย์ ฝ่ายผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วสั่งตั้งผู้ร้องทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดก ผู้คัดค้านที่ 5 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุด

ต่อมาผู้คัดค้านที่ 2, 4 และ 5 ยื่นคำร้องอ้างว่ามีสิทธิโต้แย้งกับผู้จัดการมรดกเกี่ยวกับความเป็นทายาทมีส่วนได้เสียและมีสิทธิได้รับมรดกด้วย ดังได้ฟ้องผู้จัดการมรดกไว้แล้วขอให้ศาลหมายเรียกผู้จัดการมรดกมาสอบถามให้แถลงถึงความเป็นอยู่ของทรัพย์มรดก

ผู้ร้องทั้งสามซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกแถลงคัดค้านว่า ผู้คัดค้านไม่มีอำนาจที่จะร้องขอให้ศาลเรียกมาสอบถามได้

ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของผู้คัดค้านทั้งสาม

ผู้คัดค้านทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า คดีที่ผู้คัดค้านเป็นโจทก์ฟ้องผู้จัดการมรดกนั้นยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ศาลยังไม่ได้วินิจฉัยว่าผู้คัดค้านทั้งสามเป็นทายาทหรือเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดก การที่ผู้คัดค้านเพียงแต่ฟ้องขอแบ่งมรดกไว้ ยังไม่แน่ว่าผู้คัดค้านจะเป็นผู้มีส่วนได้ในกองมรดกนั้นด้วย ฉะนั้น จึงยังถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามบทกฎหมายที่จะมีสิทธิร้องขอให้ศาลเรียกผู้จัดการมรดกมาสอบถามถึงเรื่องทรัพย์มรดกดังที่ร้องมานั้นได้ และข้อที่ผู้คัดค้านอ้างว่า ตามมาตรา 1565(2) ให้อำนาจศาลที่จะเรียกผู้จัดการมรดกมาแถลงได้ ศาลจึงควรเรียนผู้จัดการมรดกรายนี้ให้มาแถลงต่อศาลนั้น ก็เป็นเรื่องของศาล ที่แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควรเรียกมาหรือไม่

พิพากษายืน

Share