คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1370/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า โจทก์ได้รับโอนกิจการเดินรถประจำทางจากห้างหุ้นส่วนจำกัดรถยนต์ศรีนครมาดำเนินการเองทั้งหมด และรับโอนทรัพย์สินและหนี้สินต่าง ๆ ของห้างหุ้นส่วนจำกัดรถยนต์ศรีนครที่เกี่ยวกับการเดินรถมาด้วย จำเลยที่ 2 คงให้การเพียงว่าการโอนกิจการจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยที่ 2 ไม่รับรอง จำเลยที่ 2 ไม่ได้รับหนังสือบอกกล่าวจากโจทก์หรือทนายโจทก์ให้ชำระหนี้รายนี้เลยจำเลยหาได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โดยชัดแจ้งในเรื่องการโอนหนี้ว่ามิได้ทำเป็นหนังสือ หรือมิได้บอกกล่าวการโอนหนี้เป็นหนังสือให้จำเลยทราบแต่อย่างใดไม่ จึงไม่มีประเด็นในเรื่องนี้ที่จะให้ศาลหยิบยกขึ้นวินิจฉัย ฉะนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยอ้างเป็นเหตุยกฟ้องโจทก์นั้น ย่อมไม่ชอบ สมควรที่จะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์โดยสารเก่าจากห้างหุ้นส่วนจำกัดรถยนต์ศรีนคร 3 ครั้ง ค้างชำระเงินอยู่ 101,200 บาทต่อมาโจทก์ตั้งขึ้นเพื่อรับโอนกิจการและหนี้สินจากห้างหุ้นส่วนจำกัดรถยนต์ศรีนคร จำเลยที่ 2 ตั้งขึ้นรับโอนกิจการและหนี้สินจากจำเลยที่ 1ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเช่าซื้อที่ค้าง 101,200 บาท

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลนอกสัญญา ไม่ได้รับหนังสือบอกกล่าวจากโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 2 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลภายหลังสัญญาเช่าซื้อ ไม่ได้ค้ำประกันหรือรับรองหนี้ระหว่างโจทก์จำเลยที่ 1 และฟ้องโจทก์ขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอาศัยสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ที่โจทก์ได้รับโอนมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดรถยนต์ศรีนครกรณีต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 แต่ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่า การโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้ได้ทำคำบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ โจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลย ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดมิตรรวมกิจจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์โดยสารเก่าจากห้างหุ้นส่วนจำกัดรถยนต์ศรีนคร รวม 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2513 จำนวน 1 คันรวมราคา 30,000 บาท ยังค้างชำระอีก 16,500 บาท ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 12มีนาคม 2513 จำนวน 3 คัน ราคาคันละ 30,000 บาท ยังค้างชำระอีก 56,100บาท ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2513 จำนวน 2 คัน ราคาคันละ 30,000บาท ยังค้างชำระอีก 28,600 บาท หลังจากนั้นในปีเดียวกันนี้ ทางราชการบังคับให้ผู้ประกอบกิจการขนส่งจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัดรถยนต์ศรีนครจึงตั้งเป็นบริษัทขึ้น ชื่อว่าบริษัทศรีนครขนส่งและพาณิชย์จำกัด คือโจทก์ในคดีนี้ รับโอนกิจการเดินรถ ทรัพย์สินและหนี้สินต่าง ๆ ของห้างหุ้นส่วนจำกัดรถยนต์ศรีนครตามมาด้วย ขณะห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากห้างหุ้นส่วนจำกัดรถยนต์ศรีนครดังกล่าว นายพรหมเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 วันที่ 20 พฤศจิกายน 2513จำเลยที่ 2 ตั้งเป็นบริษัทขึ้นชื่อว่า บริษัทขอนแก่นมัญจาคีรีเดินรถ จำกัดนายพรหมเป็นกรรมการผู้จัดการ วัตถุประสงค์ของบริษัทรวมถึงรับโอนกิจการหนี้สิน ทรัพย์สิน และใบอนุญาตประกอบการขนส่งของห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1มาดำเนินการในนามของบริษัทด้วย การโอนหนี้ระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัดรถยนต์ศรีนครกับบริษัทโจทก์นั้นไม่ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 ห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ 6 คัน รวมเป็นเงิน101,200 บาท นายพรหมขอผัดชำระหนี้หลายครั้ง หนังสือขอผัดชำระหนี้ปรากฏตามเอกสาร จ.50 เมื่อถึงกำหนดตามที่ขอผัดไว้ก็ไม่จัดการชำระ

คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดในค่าเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อไว้ต่อห้างหุ้นส่วนจำกัดรถยนต์ศรีนครหรือไม่

ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า โจทก์ได้รับโอนกิจการเป็นเดินรถประจำทางจากห้างหุ้นส่วนจำกัดรถยนต์ศรีนครมาดำเนินการเองทั้งหมดและรับโอนทรัพย์สินและหนี้สินต่าง ๆ ของห้างหุ้นส่วนจำกัดรถยนต์ศรีนครที่เกี่ยวกับการเดินรถมาด้วย จำเลยที่ 2 คงให้การเพียงว่าการโอนกิจการจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยที่ 2 ไม่รับรอง จำเลยที่ 2ไม่ได้รับหนังสือบอกกล่าวจากโจทก์หรือทนายโจทก์ให้ชำระหนี้รายนี้เลยจำเลยหาได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โดยชัดแจ้งในเรื่องกาารโอนหนี้ว่ามิได้ทำเป็นหนังสือหรือมิได้บอกกล่าวการโอนหนี้เป็นหนังสือให้จำเลยทราบแต่อย่างใดไม่จึงไม่มีประเด็นในเรื่องนี้ที่จะให้ศาลหยิบยกขึ้นวินิจฉัย ฉะนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยอ้างเป็นเหตุยกฟ้องโจทก์นั้น ย่อมไม่ชอบสมควรที่จะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงต่อไป แต่เนื่องจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นสมควรที่จะให้ได้รับการวินิจฉัยตามลำดับศาล

พิพากษายกคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยและพิพากษาใหม่ตามนัยดังกล่าวข้างต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อพิพากษาใหม่

Share