แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องกล่าวว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของโจทก์ไป10,000 บาท สัญญาให้ดอกเบี้ยทุกวันสิ้นเดือน จำเลยที่ 1 ค้างดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2505 ตลอดมา ดังนี้พอเป็นที่เข้าใจฟ้องได้ว่าจำเลยที่ 1 รับเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไปแล้ว โจทก์จึงได้ฟ้องเรียกทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย เมื่อมีสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีหมาย จ.1 เป็นหลักฐานการกู้ยืมอยู่แล้วการเบิกเงินไปแต่ละคราวภายหลังเป็นเรื่องบัญชีเดินสะพัด หาจำต้องมีหลักฐานการกู้เป็นหนังสือเป็นพิเศษอีกชั้นหนึ่งไม่ เพียงแต่จำเลยที่ 1 ออกเช็คสั่งธนาคารโจทก์ให้จ่ายเงินไปแล้ว จำเลยก็ต้องรับผิด
คดีมีประเด็นตามที่ศาลชั้นต้นชี้สองสถานว่า จำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปตามสัญญาหรือไม่และมีการใช้เงินคืนหรือยัง การที่โจทก์อ้างหนังสือรับรองหนี้หมาย จ.4 ก็เพื่อแสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้กู้รับเงินไปแล้วและยังไม่ได้ใช้คืน จึงเป็นการสืบตรงประเด็น ส่วนการที่โจทก์ไม่ได้ส่งสำเนาเอกสารหมาย จ.4 ให้จำเลยนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2) ศาลมีอำนาจรับฟังได้ถ้าเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
เมื่อคิดเอาดอกเบี้ยทบเข้าเป็นต้นแล้ว โจทก์ก็ย่อมจะคิดดอกเบี้ยจากดอกเบี้ยที่กลายสภาพเป็นต้นเงินไปแล้วได้อีก ดังนั้น ในกรณีคิดดอกเบี้ยทบต้น จำนวนดอกเบี้ยอาจเกินร้อยละ 15 ต่อปีได้ ถ้าคิดคำนวณเฉพาะจากต้นเงินเดิม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของโจทก์ไป 10,000 บาท จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ไม่ชำระดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้ชำระต้นเงิน 10,000 บาท กับดอกเบี้ยค้าง 9,234.38 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนชำระเสร็จ ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ ให้จำเลยที่ 2 ใช้แทน
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า หากได้มีการกู้จริงก็ย่อมมีการชำระแล้ว จำเลยที่ 2เคยห้ามโจทก์ไม่ให้จ่ายเงินแก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระต้นเงิน 10,000 บาท ดอกเบี้ยค้าง 9,234.38 บาท รวม 19,234 บาท 38 สตางค์ และให้จำเลยที่ 1ชำระดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปี ตั้งแต่วันฟ้องในต้นเงิน 19,234.38 บาท จนกว่าจะชำระเสร็จ ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระก็ให้จำเลยที่ 2 ใช้แทน เป็นจำนวนดังนี้คือ ต้นเงิน 10,000 บาท ดอกเบี้ยรวม 5,665.62 บาท รวม 15,665.62 บาท และให้ใช้ดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปี ในต้นเงิน 15,665.62 บาท จากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีหมาย จ.2 ไม่ใช่เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม เพราะยังไม่ได้เบิกเงินไป การกู้ยังไม่บริบูรณ์
ศาลฎีกาได้พิจารณาคำฟ้องของโจทก์แล้ว ฟ้องกล่าวว่า จำเลยที่ 1ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของโจทก์ไป 10,000 บาท สัญญาให้ดอกเบี้ยทุกวันสิ้นเดือน จำเลยที่ 1 ค้างดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2505 ตลอดมา ดังนี้ พอเป็นที่เข้าใจฟ้องได้ว่าจำเลยที่ 1 รับเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไปแล้ว โจทก์จึงได้ฟ้องเรียกทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อมีสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีหมาย จ.1 เป็นหลักฐานการกู้ยืมอยู่แล้ว การเบิกเงินไปแต่ละคราวภายหลังเป็นเรื่องบัญชีเดินสะพัด หาจำต้องมีหลักฐานการกู้เป็นหนังสือเป็นพิเศษอีกชั้นหนึ่งไม่เพียงแต่จำเลยที่ 1 ออกเช็คสั่งธนาคารโจทก์ให้จ่ายเงินไปแล้ว จำเลยก็ต้องรับผิด
คดีนี้โจทก์ส่งอ้างหนังสือรับรองหนี้ของจำเลยที่ 1 หมาย จ.4โดยไม่ได้ส่งสำเนาให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 90 จำเลยฎีกาว่าไม่ควรรับฟัง และทั้งโจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างการรับสภาพหนี้ไว้ เป็นการนำสืบนอกประเด็น เห็นว่า คดีนี้มีประเด็นตามที่ศาลชั้นต้นชี้สองสถานว่า จำเลยที่ 1 ได้กู้รับเงินไปตามสัญญาหรือไม่ และมีการใช้เงินคืนหรือยัง การที่โจทก์อ้างหนังสือรับรองหนี้หมาย จ.4 ก็เพื่อแสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้กู้รับเงินไปแล้วและยังไม่ได้ใช้คืน จึงเป็นการสืบตรงประเด็น ส่วนการที่โจทก์ไม่ได้ส่งสำเนาเอกสารหมาย จ.4 ให้จำเลยนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2) ศาลมีอำนาจรับฟังได้ ถ้าเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม คดีนี้ศาลอุทธรณ์เห็นควรรับฟังเอกสารหมาย จ.4 ได้ ซึ่งศาลฎีกาก็เห็นพ้องด้วย
จำเลยที่ 2 ฎีกาอีกว่า โจทก์คิดเอาดอกเบี้ยทบต้นนั้นคิดเอาได้แต่เมื่อรวมกันเข้าแล้ว จะต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เห็นว่า เมื่อคิดเอาดอกเบี้ยทบเข้าเป็นต้นแล้ว โจทก์ก็ย่อมจะคิดดอกเบี้ยจากดอกเบี้ยที่กลายสภาพเป็นต้นเงินไปแล้วได้อีก ดังนั้น ในกรณีคิดดอกเบี้ยทบต้นจำนวนดอกเบี้ยอาจเกินร้อยละ 15 ต่อปี ได้ ถ้าคิดคำนวณเฉพาะจากต้นเงินเดิม
พิพากษายืน