คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1366/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยได้เข้าทำสัญญาก่อสร้างอาคารและอุปกรณ์ต่าง ๆ กับผู้ที่จ้างแล้ว ต่อมาในขณะที่จำเลยยังไม่ได้ลงมือก่อสร้างและยังไม่มีสิทธิรับเงินค่าก่อสร้าง จำเลยได้โอนสิทธิเรียกร้องค่าก่อสร้างที่จะพึงมีขึ้นในอนาคตให้แก่ผู้ร้อง ดังนี้เมื่อสิทธินี้อยู่ในสภาพเปิดช่องให้โอนกันได้ การโอนสิทธิเรียกร้องที่จะมีในอนาคตย่อมกระทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 303.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 217,474 บาท 36 สตางค์ พร้อมดอกเบี้ย และยื่นคำร้องขอในกรณีฉุกเฉินให้อายัดเงินค่าก่อสร้างอาคารกรมอัยการซึ่งกรมอัยการจะจ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 240,000 บาทไว้ก่อนมีคำพิพากษา ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้อายัดเงินค่าก่อสร้างอาคารที่กรมอัยการจะจ่ายให้จำเลยที่ 1 จำนวน 240,000บาทไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งอายัดเงินจำนวนดังกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 ได้โอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างจากกรมอัยการรวม 10 งวด เป็นเงิน 13,950,000 บาทให้แก่ผู้ร้องก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัด และได้บอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้แก่กรมอัยการทราบแล้ว
โจทก์คัดค้านว่า ขณะจำเลยที่ 1 โอนสิทธิเรียกร้องให้ผู้ร้องจำเลยที่ 1 ยังไม่มีสิทธิเรียกร้องให้กรมอัยการชำระเงินค่าก่อสร้างให้ตน จึงโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้ร้องไม่ได้ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการอายัดเงินจำนวน 240,000 บาทตามหมายอายัดชั่วคราวของศาลชั้นต้นลงวันที่ 9 สิงหาคม 2525
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้าทำสัญญารับจ้างก่อสร้างอาคารและอุปกรณ์ต่างๆ ของอาคารกรมอัยการ โดยกรมอัยการตกลงให้ค่าจ้างแก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 15,450,000 บาท โดยมีการชำระเงินเป็นงวดๆ รวม12 งวด ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนสิทธิรับเงินค่าจ้างซึ่งเหลือเพียง 10 งวด จำนวนเงิน 13,950,000 บาทให้แก่ผู้ร้องเพื่อชำระหนี้ โดยบอกกล่าวแจ้งการโอนสิทธิไปยังกรมอัยการ และกรมอัยการยินยอมในการโอนสิทธิดังกล่าวนี้แล้วต่อมาผู้ร้องได้ติดต่อขอรับเงินงวดที่ 10 ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายจำนวน 3,150,000 บาทและเงินค่าปรับที่กรมอัยการจะต้องคืนให้แก่ผู้ร้องอีกเป็นเงิน240,000 บาทจากกรมอัยการ แต่โจทก์ได้ร้องขออายัดเงินจำนวน240,000 บาทไว้ มีปัญหาที่จะพิจารณาตามที่โจทก์ฎีกาว่าขณะโอนสิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ลงมือก่อสร้างและยังไม่มีสิทธิรับเงินค่าก่อสร้างจะโอนสิทธิเรียกร้องเงินค่าก่อสร้างได้หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา303 บัญญัติไว้ว่า สิทธิเรียกร้องนั้นท่านว่าจะพึงโอนกันได้เว้นแต่สภาพแห่งสิทธินั้นเองจะไม่เปิดช่องให้โอนกันได้การที่จำเลยที่ 1 ได้เข้าทำสัญญาก่อสร้างอาคารและอุปกรณ์ต่างๆ กับกรมอัยการแล้ว และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนสิทธิเรียกร้องค่าก่อสร้างที่จะพึงมีขึ้นในอนาคตให้แก่ผู้ร้องนั้น เมื่อสิทธินี้อยู่ในสภาพเปิดช่องให้โอนกันได้แล้ว การโอนสิทธิเรียกร้องที่จะมีในอนาคตย่อมกระทำได้ตามมาตรา 303ที่กล่าวมาแล้ว ฎีกาของโจทก์ที่ว่าจะโอนสิทธิเรียกร้องกันไม่ได้นั้นฟังไม่ขึ้น ส่วนเงินค่าปรับที่กรมอัยการคืนให้จำเลยเป็นเงินที่ตกอยู่ภายในสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องอันผู้ร้องจะมีสิทธิรับเงินจำนวนนี้หรือไม่นั้น เมื่อโจทก์มิได้คัดค้านว่าเงินค่าปรับมิใช่เงินที่ระบุไว้ในสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังว่าเงินนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ตกอยู่ภายในสัญญาด้วย ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิอายัดเงินจำนวนนี้สำหรับปัญหาที่โจทก์ฎีกาว่า การที่ผู้ร้องมีหนังสือมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ให้เป็นผู้รับเงินจากกรมอัยการ และได้ลงลายมือชื่อรับเงินไว้ ย่อมแสดงว่าผู้ร้องเป็นเพียงตัวแทนรับเงินของจำเลยที่ 1 เท่านั้น เห็นว่า แม้ผู้ร้องจะลงลายมือชื่อรับเงินดังกล่าวเมื่อปรากฏว่าผู้ร้องและจำเลยได้ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องกันแล้ว การลงลายมือชื่อรับเงินว่ารับแทนก็ไม่ทำให้ฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องของผู้ร้องเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น สำหรับฎีกาของโจทก์ที่ว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์ไม่ชอบขอให้พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นทำการสืบพยานโจทก์แล้วพิพากษาใหม่นั้น เห็นว่า โจทก์เคยขอเลื่อนการพิจารณาไปหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2526 ก็ขอเลื่อนโดยให้สัญญาว่าหากนัดหน้าไม่มีพยานโจทก์มาศาลไม่ว่าด้วยเหตุใดให้ถือว่าไม่ติดใจสืบพยานโจทก์ ศาลอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานโจทก์วันที่ 8 พฤศจิกายน 2522 เวลา 9.00 นาฬิกา ครั้งนี้โจทก์ขอเลื่อนสืบพยานอีกโดยอ้างว่าพยานโจทก์ป่วย พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงฟังได้ว่ามีเจตนาประวิงคดี ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์จึงชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.

Share