แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ลงตีพิมพ์ข้อความในหนังสือพิมพ์เพื่อจำหน่ายตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำของจำเลยที่ 2 ผู้เดียว การที่จะให้จำเลยที่ 1 รับผิดในทางอาญาจะต้องได้ความว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำการอันใดอันหนึ่งซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด เพียงแต่จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์โดยมิได้กระทำการอันใด จะให้ถือว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 ด้วยหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์รายวันไทยรัฐ จำเลยที่ ๒ เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ดังกล่าว จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันลงข้อความโฆษณาไขข่าวแพร่หลายโดยตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์รายวันชื่อ “ไทยรัฐ” ฉบับวันพฤหัสบดีที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ ตีพิมพ์หัวข่าวปกหน้าด้านล่างว่า ……. และมีข้อความด้านหลังหน้า ๑๖ ว่า …….. และข้อความอื่นอีกปรากฏตามภาพถ่ายท้ายคำฟ้อง การกระทำของจำเลยเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลทั่วไปที่ได้อ่านได้พบเห็นหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังจากบุคคลทั่วไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖, ๓๒๘
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ให้ประทับฟ้องจำเลยที่ ๒ ไว้พิจารณา ส่วนจำเลยที่ ๑ คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ประทับฟ้องจำเลยที่ ๑ ด้วย
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลมีนายกำพลหรือนางสาวยิ่งลักษณ์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อแทนจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์รายวันไทยรัฐ แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ เป็นผู้เขียนหรือลงข่าวในหนังสือพิมพ์รายวันไทยรัฐตามฟ้อง แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์รายวันไทยรัฐ ลงตีพิมพ์ข้อความในหนังสือพิมพ์ดังกล่าวเพื่อจำหน่ายตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าของ ก็เป็นการกระทำของจำเลยที่ ๒ ผู้เดียว การที่จะให้จำเลยที่ ๑ รับผิดในทางอาญาจะต้องได้ความว่า จำเลยที่ ๑ ได้กระทำการอันใดอันหนึ่งซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด เพียงแต่จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์รายวันไทยรัฐ โดยมิได้กระทำการอันใด จะให้ถือว่าจำเลยที่ ๑ กระทำความผิดร่วมกับจำเลยที่ ๒ ด้วยหาได้ไม่ คดีสำหรับจำเลยที่ ๑ จึงไม่มูล
พิพากษายืน