คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13648/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยจัดให้ผู้เสียหายอยู่อาศัยและไม่ให้ผู้เสียหายออกจากบ้านจำเลยก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า นับแต่วันแรกที่ผู้เสียหายทำงานกับจำเลยจนถึงวันที่ผู้เสียหายทำงานกับจำเลยครบ 7 เดือน จำเลยได้กระทำการใดอันเป็นการข่มขืนใจให้ผู้เสียหายทำงานโดยทำให้ผู้เสียหายกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้เสียหาย โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยทำให้ผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้แต่อย่างใด คงได้ความแต่เพียงว่า จำเลยให้ผู้เสียหายทำงานตั้งแต่เวลา 4 นาฬิกา จนถึง 24 นาฬิกา ให้รับประทานอาหาร 2 มื้อ และไม่จ่ายเงินเดือนให้ผู้เสียหายเท่านั้น ส่วนการทำงานเดือนที่ 8 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เหตุที่จำเลยทำร้ายผู้เสียหายมาจากผู้เสียหายทำงานไม่เรียบร้อยและพูดขอเงินค่าจ้างจากจำเลย อันเป็นการลงโทษผู้เสียหายเท่านั้น จึงมิใช่เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายเพื่อให้ผู้เสียหายทำงานให้จำเลย การกระทำของจำเลยจึงยังไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานค้ามนุษย์ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 6, 52 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5, 44, 148 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 297
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (1), 52 วรรคสาม พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 44, 148 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส จำคุก 3 ปี ฐานค้ามนุษย์อายุไม่เกินสิบห้าปีและฐานจ้างเด็กอายุต่ำกว่าสิบห้าปีเป็นลูกจ้างเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานค้ามนุษย์อายุไม่เกินสิบห้าปีซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 8 ปี และปรับ 160,000 บาท รวมจำคุก 11 ปี และปรับ 160,000 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 แต่ทั้งนี้ให้กักขังไม่เกินหนึ่งปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (1) (2), 52 วรรคสอง ฐานค้ามนุษย์อายุเกินกว่าสิบห้าปีแต่ไม่เกินสิบแปดปี ยกฟ้องฐานจ้างเด็กอายุต่ำกว่าสิบห้าปีเป็นลูกจ้าง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า คำเบิกความของผู้เสียหายรับฟังไม่ได้นั้น โจทก์มีผู้เสียหายเบิกความเป็นพยานว่า ระหว่างที่ผู้เสียหายช่วยนางมะอูขายของที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก นางมะจีถามผู้เสียหายว่าอยากไปทำงานที่จังหวัดพิษณุโลกหรือไม่ ผู้เสียหายสนใจ นางมะจีจึงติดต่อนางเขียว หลังจากนั้นประมาณ 3 วัน นางมะจีและนางเขียวบอกว่าจะให้ผู้เสียหายไปทำงานซักผ้ารีดผ้า ค่าจ้างเดือนละ 3,000 บาท ต่อมานางเขียวพาผู้เสียหายไปพักที่บ้านพักจังหวัดตาก อีกประมาณ 2 วัน มีชายคนหนึ่งมารับผู้เสียหายพร้อมชายหญิงรวม 15 คน ไปที่จังหวัดพิษณุโลก เมื่อถึงจังหวัดพิษณุโลก จำเลยมารับตัวผู้เสียหายไปโดยบอกว่าจะพาไปทำงานซักรีดผ้าและดูแลแมว ค่าจ้างเดือนละ 3,000 บาท จำเลยพาผู้เสียหายไปที่บ้านจำเลย ผู้เสียหายเริ่มทำงานวันที่ 5 มีนาคม 2555 โดยทำงานที่ร้านซักรีดและดูแลแมวประมาณ 30 ตัว เริ่มทำงานเวลา 4 นาฬิกา จนถึงเวลา 24 นาฬิกา รับประทานอาหารเวลา 9 นาฬิกา และ 24 นาฬิกา ระหว่างทำงานผู้เสียหายไม่สามารถออกไปข้างนอกได้เพราะจำเลยห้ามไว้ และไม่สามารถติดต่อกับใครได้เนื่องจากโทรศัพท์ที่ผู้เสียหายเก็บไว้ในล็อกเกอร์ของจำเลยหายไป เมื่อทำงานครบ 1 เดือน จำเลยไม่จ่ายค่าจ้าง ผู้เสียหายทวงถาม จำเลยบอกให้รอไปก่อน ผู้เสียหายทำงานกับจำเลย 7 เดือน โดยไม่ได้รับค่าจ้าง เมื่อผู้เสียหายเริ่มทำงานเดือนที่ 8 ก็เริ่มถูกจำเลยทำร้ายร่างกายทุกวัน โดยจำเลยบอกว่าผู้เสียหายทำงานบ้านไม่สะอาด พูดขอเงินค่าจ้าง และทำงานไม่เสร็จเรียบร้อย ต่อมาเจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและเจ้าพนักงานตำรวจได้ให้ความช่วยเหลือผู้เสียหาย เห็นว่า แม้โจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียว แต่ผู้เสียหายก็เบิกความเป็นขั้นเป็นตอนนับตั้งแต่มีการติดต่อให้ผู้เสียหายมาทำงานที่จังหวัดพิษณุโลก มีคนพาผู้เสียหายมาที่จังหวัดพิษณุโลกแล้วจำเลยมารับผู้เสียหายไปทำงานที่บ้าน จนกระทั่งนางสาวสุวรรณีและเจ้าพนักงานตำรวจได้ช่วยเหลือผู้เสียหายออกจากบ้านจำเลย ทั้งผู้เสียหายยังเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้นางสาวสุวรรณีฟังอีกด้วย นอกจากนี้คำเบิกความของผู้เสียหายยังสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุติว่าจำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส และจำเลยยอมจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้เสียหายเป็นเงิน 30,000 บาท ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานภาค 6 ซึ่งล้วนสนับสนุนคำเบิกความของผู้เสียหายให้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น เมื่อผู้เสียหายไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุที่จะเชื่อว่าผู้เสียหายเบิกความปรักปรำจำเลยเพื่อให้รับโทษทางอาญา คำเบิกความของผู้เสียหายจึงมีน้ำหนักรับฟังได้ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การกระทำของจำเลยครบองค์ประกอบความผิดฐานค้ามนุษย์หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยว่ากระทำความผิดฐานค้ามนุษย์โดยบังคับใช้แรงงาน ซึ่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 บัญญัติว่า “ผู้ใดเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) เป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งบุคคลใด โดยข่มขู่ ใช้กำลังบังคับ ลักพาตัว ฉ้อฉล หลอกลวง ใช้อำนาจโดยมิชอบ หรือโดยให้เงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นแก่ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลบุคคลนั้นเพื่อให้ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลให้ความยินยอมแก่ผู้กระทำความผิดในการแสวงหาประโยชน์จากบุคคลที่ตนดูแล หรือ
(2) เป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งเด็ก
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์” และมาตรา 4 ให้คำนิยาม คำว่า “แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ” หมายความว่า ….การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ…. และคำว่า “การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ” หมายความว่า การข่มขืนใจให้ทำงานหรือให้บริการโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของบุคคลนั้นเองหรือของผู้อื่น โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยทำให้บุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ดังนี้ องค์ประกอบในการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์โดยบังคับใช้แรงงานหรือบริการตามฟ้อง จึงต้องประกอบด้วย การเป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งเด็ก เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบโดยข่มขืนใจให้ทำงานหรือให้บริการโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของบุคคลนั้นเองหรือของผู้อื่น โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยทำให้บุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ แม้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยจัดให้ผู้เสียหายอยู่อาศัยและไม่ให้ผู้เสียหายออกจากบ้านจำเลยไปไหนก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏจากการนำสืบของโจทก์ว่าตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2555 ซึ่งเป็นวันที่ผู้เสียหายทำงานกับจำเลยวันแรกจนถึงวันที่ผู้เสียหายทำงานกับจำเลยจนครบ 7 เดือน จำเลยได้กระทำการใดอันเป็นการข่มขืนใจให้ผู้เสียหายทำงานโดยทำให้ผู้เสียหายกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้เสียหาย โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยทำให้ผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้แต่อย่างใด คงได้ความแต่เพียงว่าจำเลยให้ผู้เสียหายทำงานตั้งแต่เวลา 4 นาฬิกา จนถึง 24 นาฬิกา ให้รับประทานอาหาร 2 มื้อ และไม่จ่ายเงินเดือนให้ผู้เสียหายเท่านั้น ส่วนการทำงานเดือนที่ 8 แม้ข้อเท็จจริงฟังยุติว่าจำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายก็ตาม แต่ผู้เสียหายก็เบิกความว่า สาเหตุที่ถูกทำร้ายเนื่องจากผู้เสียหายทำงานไม่สะอาด และจำเลยบอกผู้เสียหายว่าเหตุที่ทำร้ายผู้เสียหายเพราะทำงานบ้านไม่สะอาด ผู้เสียหายพูดขอเงินค่าจ้าง และทำงานไม่เสร็จเรียบร้อย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าเหตุที่จำเลยทำร้ายผู้เสียหายมาจากผู้เสียหายทำงานไม่เรียบร้อยและพูดขอเงินค่าจ้างจากจำเลยอันเป็นการลงโทษผู้เสียหายเท่านั้น จึงมิใช่เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายเพื่อให้ผู้เสียหายทำงานให้จำเลย การกระทำของจำเลยจึงยังไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานค้ามนุษย์ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกในความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายรับอันตรายสาหัสมีกำหนด 3 ปี นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าหนักเกินไป สมควรแก้ไขเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายรับอันตรายสาหัส จำคุก 1 ปี 6 เดือน ให้ยกฟ้องในความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (1) (2), 52 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

Share