คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10878/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการครั้งแรกต่อศาลแพ่งภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำชี้ขาดตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง และเป็นการยื่นคำร้องภายในกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับตามคำชี้ขาดได้ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แล้ว ศาลแพ่งมีคำสั่งจำหน่ายคดี ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดอีกครั้งต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ซึ่งยังไม่ล่วงเลยระยะเวลา 3 ปี ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แต่ล่วงเลยระยะเวลา 90 วัน ตามมาตรา 40 วรรคสอง ดังกล่าวแล้ว ซึ่งเป็นกรณีที่ต้องยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขออีกครั้งเพราะเหตุที่การยื่นครั้งแรกมีข้อบกพร่องในเรื่องอำนาจศาลถือว่าข้อบกพร่องในการยื่นคำร้องขอแต่แรกต่อศาลหนึ่งแต่ในที่สุดศาลนั้นไม่รับคำร้องขอ เพราะคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลนั้นจนต้องยื่นคำร้องขออีกครั้งหนึ่งต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ไม่เป็นเหตุให้ผู้ร้องขอต้องเสื่อมเสียสิทธิ นอกจากนี้กำหนดระยะเวลาเช่นนี้ก็เป็นกำหนดระยะเวลาที่ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ขยายได้ตามหลักเกณฑ์ ป.วิ.พ. มาตรา 23 หรือ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 37 ด้วย เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ภายหลังศาลแพ่งมีคำสั่งจำหน่ายคดีที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอฉบับแรกเพียง 60 วัน แสดงให้เห็นว่า ผู้ร้องยังประสงค์จะขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาตามคำร้องขอของผู้ร้องอยู่ และจำเป็นต้องทำคำร้องขอยื่นใหม่ต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาภายในเวลาพอสมควร อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามความจำเป็นโดยสุจริต จึงมีเหตุสมควรอย่างยิ่งที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จะใช้อำนาจตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 37 ประกอบมาตรา 26 และ ป.วิ.พ. มาตรา 23 สั่งให้ขยายกำหนดระยะเวลาการยื่นคำร้องขอ

ย่อยาว

ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการฝ่ายข้างมาก และขอให้ศาลบังคับตามความเห็นแย้งคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการฝ่ายข้างน้อย โดยคดีนี้ คณะอนุญาโตตุลาการได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทโดยความเห็นชอบของคู่พิพาททั้งสองฝ่ายดังนี้
1. ผู้ร้องมีสิทธิเลิกสัญญาแฟรนชายส์ (Franchise Agreement) ตามเงื่อนไขแห่งข้อสัญญาและตามกฎหมายหรือไม่
2. การเลิกสัญญาของผู้ร้อง ทำให้นางสาวสุหัชชาผู้คัดค้านมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามปกติและค่าเสียหายพิเศษในพฤติการณ์พิเศษดังที่กล่าวอ้างหรือไม่เพียงใด
3. ผู้ร้องมีสิทธิเรียกร้องให้นางสาวสุหัชชาผู้คัดค้านชำระค่าธรรมเนียมการใช้สิทธิรายเดือนและค่าธรรมเนียมการขนส่ง รวมทั้งค่าภาษีมูลค่าเพิ่มดังที่กล่าวอ้างเพียงใดหรือไม่
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ระหว่างพิจารณา ก่อนการไต่สวนพยานหลักฐานของผู้ร้อง ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเกินกำหนดระยะเวลา 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำชี้ขาด ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง หรือไม่
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ศาลแพ่งมีคำสั่งจำหน่ายคดี คดีจึงไม่ขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคสอง ขอให้ยกคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายของผู้คัดค้าน
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้ยกคำร้องฉบับลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2550 ของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านไม่ได้โต้แย้งในชั้นอุทธรณ์ว่า เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2549 คณะอนุญาโตตุลาการสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม มีคำชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างนางสาวสุหัชชา ผู้เรียกร้องซึ่งเป็นผู้คัดค้านในคดีนี้กับผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้ร้องในคดีนี้ ดังนี้
1. ให้ผู้คัดค้าน (ผู้ร้อง) ชำระค่าเสียหายจำนวน 2,062,000 บาท ให้แก่ผู้เรียกร้อง (ผู้คัดค้าน) พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของยอดค่าเสียหายจำนวน 62,000 บาท นับแต่วันที่ 25 มีนาคม 2548 อันเป็นวันยื่นข้อเรียกร้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
2. ให้ผู้เรียกร้อง (ผู้คัดค้าน) ชำระค่าธรรมเนียมรายเดือน ค่าธรรมเนียมขนส่ง และภาษีมูลค่าเพิ่มรวมจำนวน 82,994.76 บาท ให้แก่ผู้คัดค้าน (ผู้ร้อง) พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 เมษายน 2547 จนกว่าจะชำระเสร็จ
3. ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่าย และค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการ ให้เป็นไปตามคำชี้ขาดแนบท้ายนี้ คำขออื่นให้ยก
ผู้ร้องได้รับสำเนาคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2549 ต่อมาวันที่ 30 พฤศจิกายน 2549 ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ศาลแพ่งบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อ 1 และข้อ 2 ผู้ร้องยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 24 มกราคม 2550 คัดค้านการขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อ 1 และข้อ 2 พร้อมทั้งขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อ 1 และข้อ 2 กับขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อ 3 และต่อสู้คดีว่า คดีไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลแพ่ง ศาลแพ่งจึงเสนอปัญหาเรื่องอำนาจศาลให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัย ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลแพ่งจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2550 ต่อมาวันที่ 16 พฤศจิกายน 2550 ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อ 1 และข้อ 2 กับขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อ 3
มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอฉบับลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2549 เป็นครั้งแรกต่อศาลแพ่ง ขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการฝ่ายข้างมากในประเด็นข้อพิพาทข้อ 1 กับข้อ 2 และขอให้บังคับผู้คัดค้านปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการฝ่ายข้างมากและความเห็นแย้งของอนุญาโตตุลาการในประเด็นข้อพิพาทข้อ 3 แต่ในที่สุดศาลแพ่งมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุที่มีคำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกา ผู้ร้องจึงมายื่นคำร้องขอฉบับลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2550 ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางโดยมีคำขอเช่นเดียวกับคำร้องที่ยื่นต่อศาลแพ่ง ถือได้ว่าผู้ร้องได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง และมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แล้วหรือไม่ ปัญหานี้ตามบทบัญญัติมาตรา 40 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การคัดค้านคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการอาจทำได้โดยการขอให้ศาลที่มีเขตอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้” และวรรคสอง บัญญัติว่า “คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดได้ โดยยื่นคำร้องต่อศาลที่มีอำนาจภายในเก้าสิบวันนับแต่วันได้รับสำเนาคำชี้ขาด” กับมาตรา 42 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อคู่พิพาทฝ่ายใดประสงค์จะให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ให้คู่พิพาทฝ่ายนั้นยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับตามคำชี้ขาดได้ เมื่อศาลได้รับคำร้องให้รีบทำการไต่สวน และมีคำพิพากษาโดยพลัน” เห็นว่า การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดและบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการครั้งแรกต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2549 เป็นการร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2549 อันเป็นวันที่ได้รับสำเนาคำชี้ขาดตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง และเป็นการยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับตามคำชี้ขาดได้ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 42 วรรคหนึ่งแล้ว แต่มีปัญหาในเรื่องอำนาจศาลจนต้องเสนอต่อประธานศาลฎีกาให้เป็นผู้วินิจฉัย และประธานศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า คดีอยู่ในอำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ จึงเป็นเหตุให้ศาลแพ่งมีคำสั่งจำหน่ายคดีทันที และผู้ร้องจึงมายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดและบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการอีกครั้งต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2550 ซึ่งยังไม่ล่วงเลยระยะเวลา 3 ปี ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แต่ล่วงเลยระยะเวลา 90 วัน ตามมาตรา 40 วรรคสอง ซึ่งกรณีที่ต้องยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขออีกครั้งเพราะเหตุที่การยื่นครั้งแรกมีข้อบกพร่องในเรื่องอำนาจศาลเช่นนี้ ตามปกติย่อมควรไม่ถือเป็นข้อผิดพลาดสำคัญจนถึงกับเป็นเหตุให้โจทก์หรือผู้ร้องต้องเสื่อมเสียสิทธิในการฟ้องหรือร้องขอในคดีของตนแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างในบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคสอง ที่บัญญัติไว้ว่า “ในกรณีที่คดีนั้นศาลไม่รับหรือคืนหรือให้ยกคำฟ้องเพราะเหตุที่คดีไม่อยู่ในอำนาจศาล…และปรากฏว่าอายุความครบกำหนดไปแล้วในระหว่างการพิจารณา หรือจะครบกำหนดภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด ให้เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องคดี…ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด” หรือบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 7 วรรคสอง ที่บัญญัติไว้ว่า “ถ้าศาลพิพากษายกฟ้องเพราะเหตุที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ที่ถูกฟ้องมิใช่ผู้ต้องรับผิด ให้ขยายอายุความฟ้องร้องผู้ที่ต้องรับผิด…ออกไปถึงหกเดือนนับแต่วันที่คำพิพากษานั้นถึงที่สุด” เป็นต้น ส่วนกรณีกำหนดระยะเวลา 90 วัน ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง นี้ แม้จะไม่ถือว่าเป็นอายุความ แต่เป็นกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดบังคับไว้ในการยื่นคำฟ้องหรือยื่นคำร้องขออันถือเป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจฟ้องก็ตาม ก็ต้องถือว่าข้อบกพร่องในการยื่นคำร้องขอแต่แรกต่อศาลหนึ่งแต่ในที่สุดศาลไม่รับคำร้องขอเพราะคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล จนต้องยื่นคำร้องขออีกครั้งหนึ่งต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ไม่เป็นเหตุให้ผู้ร้องขอต้องเสื่อมเสียสิทธิเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ กำหนดระยะเวลาในการยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอเช่นนี้ก็เป็นกำหนดระยะเวลาที่ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ขยายได้ตามหลักเกณฑ์ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 หรือพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 37 อีกด้วย เนื่องจากกำหนดระยะเวลาในการยื่นคำร้องขอภายใน 90 วัน นับแต่วันได้รับสำเนาคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 40 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 เป็นระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งอันกำหนดไว้ในกฎหมายอื่นดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ซึ่งสามารถนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ระยะเวลาในการยื่นคำร้องขอภายใน 90 วัน นี้ จึงเป็นระยะเวลาอย่างหนึ่งตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชอบที่จะขยายได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 37 เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องมายื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดและบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเช่นเดิมอีกครั้งต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2550 ภายหลังศาลแพ่งมีคำสั่งจำหน่ายคดีที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอฉบับแรกต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2550 เพียง 60 วัน แสดงให้เห็นว่า ผู้ร้องยังประสงค์จะขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาตามคำร้องขอของผู้ร้องอยู่ และจำเป็นต้องทำคำร้องขอยื่นใหม่ต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาภายในเวลาพอสมควร อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามความจำเป็นโดยสุจริต จึงมีเหตุสมควรอย่างยิ่งที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะใช้อำนาจตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 37 ประกอบมาตรา 26 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 สั่งให้ขยายกำหนดระยะเวลาการยื่นคำร้องขอให้จนถึงวันที่ยื่นคำร้องขอ คือวันที่ 16 พฤศจิกายน 2550 เสียก่อนที่จะสั่งรับคำร้องขอของผู้ร้องฉบับนี้ไว้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางซึ่งได้พิจารณาในชั้นตรวจรับคำร้องขอแล้วย่อมต้องได้อ่านคำร้องขอของผู้ร้องดังกล่าวและเห็นอยู่แล้วว่ามีการยื่นคำร้องขอเรื่องนี้เกินกำหนดระยะเวลา 90 วัน ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง ซึ่งถ้าเห็นว่าไม่ชอบและไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอเกินกำหนดระยะเวลาก็ต้องมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอนั้นเสีย มิใช่สั่งให้รับคำร้องขอไว้ก่อนตามคำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในคดีนี้ อันทำให้เข้าใจได้ว่าศาลนี้ได้ใช้ดุลพินิจสั่งขยายระยะเวลาเช่นว่านี้ให้แล้วด้วย จึงเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นการสั่งไปโดยผิดหลงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง โดยให้ขยายระยะเวลาให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดและบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2550 ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบมาตรา 37 มาตรา 26 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 และเมื่อเป็นดังนี้แล้ว ย่อมถือได้ว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอฉบับลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2550 ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการและขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง และมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แล้ว จึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอเป็นคดีนี้ อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้รับคำร้องขอฉบับลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2550 ของผู้ร้องไว้ทำการไต่สวน แล้วให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาและพิพากษาใหม่ต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share