คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1362/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อความที่จำเลยโฆษณาว่า “จ่าสิบตำรวจอารมย์ ประทุมศรีหัวหน้าตำรวจจราจรและพลตำรวจพิชัย จิตรหาญ ฟังทางนี้ การปฏิบัติหน้าที่ของท่านจงอย่าเห็นแก่เล็กแก่น้อย ฯลฯ ” นั้นไม่ใช่เป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว เพราะผู้เสียหายเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ปฏิบัติราชการเกี่ยวกับการจราจร การที่ผู้เสียหายเรียกหรือรับสินบนจากผู้กระทำผิดจราจรนั้น ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบถ้าเป็นความจริงดังที่จำเลยโฆษณา ก็ย่อมเป็นประโยชน์ต่อประชาชน จำเลยจึงขอพิสูจน์ความจริงได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันโฆษณาดูหมิ่นจ่าสิบตำรวจอารมณ์ ประทุมศรี และพลตำรวจพิชัย จิตรหาญ ซึ่งรับราชการเป็นตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ทางวิทยุกระจายเสียง จ.ส.5 จังหวัดชัยภูมิ ว่า “จ่าสิบตำรวจอารมณ์ ประทุมศรีหัวหน้าตำรวจจราจร กับพลตำรวจพิชัย จิตรหาญ ฟังทางนี้การปฏิบัติหน้าที่ของท่านจงอย่างเห็นแก่เล็กแก่น้อย คำขวัญของอธิบดีตำรวจที่ว่าจงบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้แก่ราษฎร ท่านลืมแล้วหรืออย่างผิดนโยบายผู้ใหญ่ เดี๋ยวจะหาว่าพายุพัดไม่เตือน” ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136, 326, 328, 83

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยได้โฆษณาหมิ่นประมาทผู้เสียหายที่เป็นเจ้าพนักงานกระทำการตามหน้าที่ดังโจทก์ฟ้อง พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136, 326, 328 ให้ลงโทษตามบทหนักตามมาตรา 328 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 สามเดือน จำคุกจำเลยที่ 2 สองเดือน

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดีนี้ จำเลยให้การต่อสู้ว่ามิได้ทำผิดดังฟ้อง คือ มิได้ดูหมิ่นและหมิ่นประมาทผู้เสียหาย หากว่าเป็นการหมิ่นประมาทจำเลยก็จะนำพยานมาสืบพิสูจน์ความจริงเพื่อไม่ต้องรับโทษได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 330 การรีดไถ รับเงินสินบนจากใครไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน จำเลยจึงมีสิทธิที่จะนำสืบพิสูจน์ว่าเป็นความจริงเพื่อไม่ต้องรับโทษได้ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นทำการสืบพยานจำเลยจนสิ้นกระแสความ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จ ศาลสอบจำเลย จำเลยแถลงว่า จะสืบพยานเพื่อแสดงว่าไม่เป็นข่าวหมิ่นประมาท เป็นการติชมของสื่อมวลชนเท่านั้น แต่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยสืบพยาน คงให้จำเลยอ้างตนเองเข้าเบิกความเป็นพยาน

ปัญหาที่ต้องพิจารณาในชั้นนี้คงมีว่า จำเลยทั้งสองมีสิทธิที่จะพิสูจน์ข้อที่ถูกหาว่าหมิ่นประมาทนั้นว่าเป็นความจริงหรือไม่ ความตอนหนึ่งที่จำเลยโฆษณาหมิ่นประมาทนั้นมีว่า “จ่าสิบตำรวจอารมณ์ ประทุมศรี หัวหน้าตำรวจจราจรและพลตำรวจพิชัย จิตรหาญ ฟังทางนี้การปฏิบัติหน้าที่ของท่านจงอย่างเห็นแก่เล็กแก่น้อย ฯลฯ” ข้อความนี้โจทก์นำสืบว่าหมายความว่า ผู้เสียหายทั้งสองนี้รีดไถผู้กระทำผิดพระราชบัญญัติจราจรโดยเรียกเงินตอบแทนแล้วไม่จับกุม และทำให้ผู้ฟังข่าวนี้เข้าใจว่าผู้เสียหายทั้งสองเรียกเงินจากพวกขับรถเป็นการไม่ชอบด้วยหน้าที่ ได้ความดังกล่าวแล้วศาลฎีกาเห็นว่าผู้เสียหายทั้งสองเป็นตำรวจอันเป็นเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ในกรณีนี้ ผู้เสียหายทั้งสองมีหน้าที่ปฏิบัติราชการเกี่ยวกับการจราจรและในการปฏิบัติราชการตามหน้าที่นี้ ผู้เสียหายทั้งสองได้รีดไถเงินทองหรืออีกนัยหนึ่งก็คือเรียกหรือรับสินบนจากผู้กระทำผิดจราจรเช่นนี้ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ การที่จำเลยทั้งสองหมิ่นประมาทผู้เสียหายทั้งสองด้วยข้อความดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการที่จำเลยทั้งสองรู้เห็นการกระทำของผู้เสียหายทั้งสองและออกโฆษณาเป็นการตักเตือนไปเช่นนั้น ย่อมเป็นประโยชน์ต่อการที่จะให้ผู้เสียหายสังวรต่อการกระทำเช่นนั้น เมื่อจำเลยมาพิสูจน์ความจริงให้ประจักษ์ต่อศาลได้ก็ย่อมเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่มีอาชีพหรือหน้าที่เกี่ยวกับการขับขี่ยวดยานในท้องถนนหลวงที่จะไม่ถูกผู้เสียหายทั้งสองกระทำการเช่นดังกล่าวแล้วได้อีก ศาลฎีกาเห็นว่า การพิสูจน์ความจริงของจำเลยทั้งสองย่อมเป็นประโยชน์แก่ประชาชนจำเลยทั้งสองจึงขอพิสูจน์ความจริงได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share