คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1362/2496

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เคยฟ้องจำเลยให้ชำระเงินตามสัญญากู้ เป็นเงิน 10,000 บาท แล้วโจทก์ขอถอนฟ้องคดีนั้นเสีย โดยโจทก์บรรยายในคำร้องขอถอนฟ้องว่า “จำเลยได้มาขอความตกลงโดยยอมชำระหนี้ให้แล้วจึงหมดความจำเป็นที่จะดำเนินคดีต่อไป โจทก์จึงขอถอนฟ้อง” ครั้นเมื่อศาลอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องไปแล้ว ต่อมาโจทก์มาฟ้องจำเลยใหม่ โดยอ้างว่าจำเลยชำระเงินให้เพียง 8400 บาท ยังมิได้ชำระอีก 1600 บาท จึงขอให้ศาลบังคับ ดังนี้ จะถือว่าถ้อยคำที่โจทก์บรรยายมาในคำร้องขอถอนฟ้องเป็นการประณีประนอมไม่ได้เพราะไม่มีความหมายว่า จำเลยได้ชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นแล้ว หรือว่าได้มีความตกลงเป็นสัญญาประนีประนอมกันขึ้นแล้ว หากจำเลยจะต่อสู้ว่า โจทก์ตกลงยอมรับชำระหนี้เพียง 8400 บาทก็เป็นเรื่อง ต่อสู้ขอปลดหนี้ ต้องบังคับตามมาตรา 340

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กู้เงินโจทก์ไป 10,000 บาท จำเลย ชำระแล้ว 8,400 บาท อีก 1,600 บาท ยังไม่ชำระ จึงขอให้ศาลบังคับ

จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์เคยฟ้องจำเลยและตกลงยอมรับชำระหนี้เพียง 8,400 บาท แล้วถอนฟ้องไปแล้ว จึงไม่มีสิทธิฟ้องอีก

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้เงิน 1,600 บาท กับดอกเบี้ย

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องประนีประนอมยอมความกันนอกศาล จำเลยก็ไม่มีพยานเอกสารอย่างใดมาแสดงให้เห็นตามข้ออ้างของจำเลยเช่นนั้นไม่ ที่จำเลยอ้างว่าคำขอถอนฟ้องที่ว่า”จำเลยได้มาขอความตกลงโดยยอมชำระหนี้ให้แล้ว จึงหมดความจำเป็นที่จะดำเนินคดีต่อไป โจทก์จึงขอถอนฟ้อง” เป็นหลักฐานว่าได้มีการประนีประนอมกันนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จะฟังดังนั้นไม่ได้ เพราะถ้อยคำที่กล่าวนั้นไม่มีความหมายได้เลยว่า จำเลยได้ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว หรือว่าได้มีความตกลงเป็นสัญญาประนีประนอมกันขึ้นแล้ว กรณีข้อต่อสู้ของจำเลยเป็นเรื่องปลดหนี้ ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 340 เมื่อจำเลยไม่มีหลักฐานตามที่กฎหมายต้องการ จำเลยก็ไม่อาจชนะคดีได้ ฯลฯ

จึงพิพากษายืน

Share