แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดฐานพรากเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่ออนาจาร ไม่ว่าผู้เสียหายจะเต็มใจหรือไม่เต็มใจไปกับจำเลยก็เป็นความผิดฐานพรากเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ถือเจตนาของจำเลยที่พาไปหรือแยกผู้เสียหายออกจากความดูแลของบิดามารดาของผู้เสียหายโดยปราศจากเหตุอันสมควร
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑, ๒๗๗, ๓๑๗
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๗ วรรคสอง, ๓๑๗ วรรคสาม ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุไม่เกิน ๑๗ ปี ลดมาตราส่วนโทษลงกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๕ แล้ว ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่ออนาจารให้จำคุก ๓ ปี ฐานกระทำชำเราให้จำคุก ๔ ปี รวมจำคุก ๗ ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๓ ปี ๖ เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารจำคุก ๒ ปี ๖ เดือน ฐานกระทำชำเรา จำคุก ๓ ปี ๖ เดือน ลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร จำคุก ๑ ปี ๓ เดือน ฐานกระทำชำเรา จำคุก ๑ ปี ๙ เดือน รวมจำคุก ๒ ปี ๑๒ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้ว ที่จำเลยฎีกาว่า ผู้เสียหายเต็มใจไปกับจำเลย จึงไม่เป็นการพรากผู้เยาว์นั้น เห็นว่า เด็กหญิงรุ่งระวีย์ พิมลศรี ผู้เสียหาย เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุผู้เสียหายกำลังจะไปโรงเรียนแต่ระหว่างทางพบจำเลย และจำเลยเป็นคนพาผู้เสียหายไปที่หอพักของเพื่อนจำเลย เมื่อซื้อเบียร์มาดื่มได้สักครู่หนึ่ง จำเลยก็อุ้มผู้เสียหายขึ้นไปที่ห้องบนชั้นสอง แล้วกระทำชำเราผู้เสียหายโดยผู้เสียหายไม่ยินยอม พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดฐานพรากเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่ออนาจารแล้ว ไม่ว่าผู้เสียหายจะเต็มใจหรือไม่เต็มใจไปกับจำเลยก็ตามเพราะความผิดฐานพรากเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่ออนาจารนั้น ถือเจตนาของจำเลยที่พาไปหรือแยกผู้เสียหายออกจากความดูแลของบิดามารดาของผู้เสียหายโดยปราศจากเหตุอันสมควร ทั้งข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเป็นการพาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจารด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น _ _ _
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๗ วรรคสอง, ๓๑๗ วรรคสาม ขณะกระทำความผิดอายุไม่เกิน ๑๗ ปี ลดมาตราส่วนโทษลงกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๕ แล้ว ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานพรากเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร จำคุก ๒ ปี ๖ เดือน ปรับ ๕,๐๐๐ บาท ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี จำคุก ๓ ปี ๖ เดือน ปรับ ๗,๐๐๐ บาท ลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ฐานพรากเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร จำคุก ๑ ปี ๓ เดือน ปรับ ๒,๕๐๐ บาท ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปีจำคุก ๑ ปี ๙ เดือน ปรับ ๓,๕๐๐ บาท รวมจำคุก ๑ ปี ๙ เดือน ปรับ ๖,๐๐๐ บาท โทษจำคุกแต่ละกระทงไม่เกินกระทงละ ๒ ปี ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ และกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลย โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก ๓ เดือน ต่อครั้ง ภายในระยะเวลาที่รอการลงโทษ โดยให้จำเลยตั้งใจศึกษาเล่าเรียนและรายงานผลการศึกษาให้พนักงานคุมประพฤติทราบทุกครั้ง กับให้พนักงานคุมประพฤติจัดให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่เห็นสมควรเป็นเวลา ๒๔ ชั่วโมง ห้ามจำเลยสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และของมึนเมา เที่ยวเตร่ในยามวิกาล รวมทั้งไม่คบหาสมาคมกับบุคคลที่ประพฤติตนดังกล่าว ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒
นายพศวัจณ์ กนกนาก ผู้ช่วยฯ
นางสาวสุดรัก สุขสว่าง ย่อ
นายไพโรจน์ โรจน์อภิรักษ์กุล ตรวจ
นายโชติช่วง ทัพวงศ์ ผู้ช่วยฯ/ตรวจ