แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1024 จะบัญญัติว่าในระหว่างผู้ถือหุ้นด้วยกันก็ดี ในระหว่างผู้ถือหุ้นกับบริษัทก็ดี ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บรรดาสมุดบัญชีของบริษัทย่อมเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องตามข้อความที่ได้บันทึกไว้นั้นทุกประการก็ตาม แต่เมื่อพยานหลักฐานของจำเลยที่นำสืบมานั้นมีน้ำหนักรับฟังได้ว่าไม่มีการประชุมกรรมการและผู้ถือหุ้นบริษัทโจทก์ ตามรายงานการประชุมของบริษัท ดังนั้นการที่รายงานการประชุมของบริษัทระบุว่าที่ประชุมลงมติให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ส. และ ป.ลาออกจากตำแหน่งกรรมการและแต่งตั้งกรรมการใหม่ 4 คนคือ ฮ.น.จ.และช. จึงไม่ถูกต้อง แม้จะมีการนำรายงานการประชุมดังกล่าวไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทและนายทะเบียนรับจดทะเบียนให้ก็เป็นการไม่ชอบ หาทำให้กรรมการใหม่ทั้งสี่คนดังกล่าวเป็นกรรมการโจทก์ไม่ กรรมการใหม่ดังกล่าวจึงไม่มีอำนาจบริหารงานของบริษัทโจทก์และกระทำการแทนบริษัทโจทก์ได้การที่ ฮ. และ จ. กรรมการใหม่ร่วมกันลงนามและประทับตราบริษัทโจทก์แต่งตั้ง ร.เป็นทนายความดำเนินการฟ้องร้องคดีนี้จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจ ไม่มีผลทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้หลักฐานการเป็นกรรมการของโจทก์จดทะเบียนขายที่ดินของโจทก์รวมสี่แปลง พร้อมตึกแถวให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ไปโดยไม่สุจริตและไม่มีอำนาจตามกฎหมายขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินและตึกแถวทั้งสี่ฉบับ หากไม่สามารถเพิกถอนได้ให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันใช้ราคาแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 17355 และเลขที่ 17356 พร้อมตึกแถวเลขที่ 103และเลขที่ 105 เป็นเงิน 20,000,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 4 ร่วมกันใช้ราคาแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 17357และเลขที่ 17358 พร้อมตึกแถวเลขที่ 107 และเลขที่ 109เป็นเงิน 20,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระค่าเสียหายจากตึกแถวเลขที่ 103 และเลขที่ 105ให้แก่โจทก์เดือนละ 100,000 บาท และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2และที่ 4 ร่วมกันชำระค่าเสียหายจากตึกแถวเลขที่ 107และเลขที่ 109 ให้แก่โจทก์เดือนละ 100,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าที่ดินและตึกแถวจะโอนกลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ขณะโอนที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลงให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 นั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2ยังเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ รายงานการประชุมลงวันที่ 28 มีนาคม 2532 เป็นเอกสารที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงแก้ไขกรรมการ ไม่ได้มีการประชุมกันจริงเจตนาแท้จริงให้อำนาจการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และที่ 2สิ้นสุดเมื่อได้มีการโอนที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลงเรียบร้อยแล้วโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสี่ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดเดิมมีนายจรัล ชวาลา นายชัตวันเดอร์ซิงห์ สัจจเทพและนายรายินเดอร์ซิงห์ สัจจเทพ เป็นกรรมการของโจทก์ต่อมาตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2531 จำเลยที่ 1 ที่ 2 นางสุรัชนีศรีชวาลา และนางสาวประวีณา วีระสิงห์ เป็นกรรมการของโจทก์โดยตามข้อบังคับจำเลยที่ 1 หรือนางสุรัชนีลงลายมือร่วมกับจำเลยที่ 2 หรือนางสาวประวีณาและประทับตราสำคัญของบริษัทมีอำนาจทำการแทนโจทก์ได้ หุ้นในบริษัทโจทก์มีรวม 5,000 หุ้นมูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท จำเลยที่ 1 ถือหุ้น 2,000 หุ้นนางสุรัชนีซึ่งเป็นภริยาจำเลยที่ 1 ถือหุ้น 250 หุ้นนางสาวอมรรัตน์ ศรีชวาลา ถือหุ้น 250 หุ้น จำเลยที่ 2ถือหุ้น 1,025 หุ้น นางสาวประวีณาถือหุ้น 1,025 หุ้นนางฮาร์ยินดาร์ กอร์มารดาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถือหุ้น 150 หุ้นนายสุรศิษย์และนายชัยพรรษซึ่งเป็นน้องจำเลยที่ 1 และที่ 2ถือหุ้นคนละ 150 หุ้น โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 1643ตำบลจักรวรรดิ์ อำเภอสัมพันธวงศ์ (สำเพ็ง) กรุงเทพมหานครต่อมาได้แบ่งแยกที่ดินดังกล่าวเป็น 6 แปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 17355, 17356, 17357 และ 17358 ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทกันที่ดินโฉนดเลขที่ 17359 กับที่ดินแปลงคงเหลือโฉนดเลขที่ 1643จำเลยที่ 1 และที่ 2 นางสุรัชนี ศรีชวาลา และนางสาวประวีณาวีระสิงห์ ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทโจทก์ ตามรายงานการประชุมลงวันที่ 28 มีนาคม 2532 วันที่ 29 มีนาคม 2532จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับนางสุรัชนี นางสาวประวีณาและนางสาวอมรรัตน์ผู้ถือหุ้นโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายของจำเลยที่ 1และที่ 2 ฝ่ายหนึ่ง กับนายฮาร์ยินดาร์ กอร์ นายสุรศิษย์นางสาวจิษฎา จาวลา นางบาร์บารา เกียมหยัง โอ ศรีชวาลานางซูซ์อยัง ศรีชวาลา นายชัยพรรณ และนายนิรางกา ซิงห์อีกฝ่ายหนึ่งได้ทำสัญญาโอนกิจการของโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1และที่ 2 ในฐานะกรรมการของโจทก์ได้ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ 29 มกราคม 2532 และประทับตราสำคัญของบริษัทมอบอำนาจให้นางโสพิศ จาติกานนท์ ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 17355 ถึง 17358พร้อมตึกแถวเลขที่ 103, 105, 107 และ 109 ของโจทก์ตามหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ 29 มีนาคม 2532 ในวันเดียวกันนั้นผู้ถือหุ้นโจทก์ในฝ่ายของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้โอนหุ้นในบริษัทโจทก์ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง โดยจำเลยที่ 1 โอนหุ้นให้นางฮาร์ยินดาร์ กอร์ จำนวน 350 หุ้น โอนหุ้นให้นางสาวจิษฎาจำนวน 1,500 หุ้น และโอนหุ้นให้นายสุรศิษย์ จำนวน 150 หุ้นนางสุรัชนีโอนหุ้นให้นางซูซือยัง ศรีชวาลา จำนวน 250 หุ้นนางสาวอมรรัตน์โอนหุ้นให้นางบาร์บารา เกียมหยัง โอ ศรีชวาลาจำนวน 200 หุ้น โอนหุ้นให้นายสุรศิษย์จำนวน 50 หุ้นจำเลยที่ 2 โอนหุ้นให้นายนิรางกา ซิงห์ จำนวน 1,000 หุ้นโอนหุ้นให้นายสุรศิษย์จำนวน 250 หุ้น นางสาวปรีวีณาโอนหุ้นให้นางสาวจิษฎาจำนวน 900 หุ้น โอนหุ้นให้นายชัยพรรษจำนวน 100 หุ้น โอนหุ้นให้นายสุรศิษย์จำนวน 25 หุ้นตามหนังสือสัญญาโอนหุ้นเอกสารหมาย จ.22 วันที่ 30 มีนาคม 2532นางโสพิศนำหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2ลงชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท ไปจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทของโจทก์ โดยขายที่ดินโฉนดเลขที่ 17355 พร้อมตึกแถวเลขที่ 103ให้แก่จำเลยที่ 3 ในราคา 840,000 บาท ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 17356พร้อมตึกแถวเลขที่ 105 ให้แก่จำเลยที่ 3 ในราคา 752,000 บาทขายที่ดินโฉนดเลขที่ 17357 พร้อมตึกแถวเลขที่ 107 ให้แก่จำเลยที่ 4 ในราคา 712,000 บาท และขายที่ดินโฉนดเลขที่ 17358พร้อมตึกแถวเลขที่ 109 ให้แก่จำเลยที่ 4 ในราคา 760,300 บาทแต่เงินที่ได้จากการขายที่ดินจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้นำไปให้โจทก์สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครได้ออกหนังสือรับรองว่าระหว่างวันที่ 4 สิงหาคม 2531 ถึงวันที่ 9 เมษายน 2532กรรมการของโจทก์คือจำเลยที่ 1 หรือนางสุรัชนีลงลายมือชื่อร่วมกับจำเลยที่ 2 หรือนางสาวประวีณาและประทับตราสำคัญของบริษัทมีอำนาจลงชื่อแทนโจทก์ได้ และตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน2532 เป็นต้นมา ผู้เป็นกรรมการของโจทก์ มีนางฮาร์ยินดาร์ กอร์นายนารินเดอร์ ซิงห์ ศรีชวาลา นางสาวจิษฎา จาวลาและนายชัยพรรษ ศรีชวาลา กรรมการสองคนลงชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัทมีอำนาจลงชื่อแทนโจทก์ได้
มีปัญหาวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้ว ฟังไม่ได้ว่าได้มีการประชุมกรรมการและผู้ถือหุ้นบริษัทโจทก์เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2532ตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย จ.3 หรือ ล.12 แผ่นที่ 4แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1024 จะบัญญัติว่าในระหว่างผู้ถือหุ้นด้วยกันก็ดี ในระหว่างผู้ถือหุ้นกับบริษัทก็ดีให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บรรดาสมุดบัญชีของบริษัทย่อมเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องตามข้อความที่ได้บันทึกไว้นั้นทุกประการก็ตามแต่พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสี่ที่นำสืบมานั้นมีน้ำหนักรับฟังหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้ข้อเท็จจริงน่าเชื่อตามที่จำเลยทั้งสี่นำสืบว่าไม่ได้มีการประชุมกรรมการและผู้ถือหุ้นโจทก์ในวันที่ 28 มีนาคม2528 จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงยังไม่ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการโจทก์ในวันดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้จัดทำรายงานการประชุมเอกสารหมาย ล.40 มาเพื่อมอบให้ผู้รับโอนกิจการบริษัทโจทก์ที่สำนักงานที่ตั้งกรุงเทพมหานครในวันที่ 29 มีนาคม2532 และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ลงชื่อเป็นผู้มอบอำนาจแทนโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ล.99 แผ่นที่ 2 ถึง 5ในเวลาเดียวกับที่ได้ลงชื่อในรายงานการประชุมเอกสารหมาย ล.40และต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้จัดทำรายงานการประชุมฉบับใหม่ขึ้นแทน ปรากฏตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย จ.3 หรือ ล.12แผ่นที่ 4 ฟังได้ว่าในเวลาที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ล.99 แผ่นที่ 2 ถึง 5 นั้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นกรรมการของโจทก์อยู่ ยังมิได้ลาออกตามที่โจทก์กล่าวอ้างแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 และที่ 2จึงมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับและเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าไม่มีการประชุมกรรมการและผู้ถือหุ้นบริษัทโจทก์เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2532 ตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย จ.3 หรือ ล.12 แผ่นที่ 4 ดังที่วินิจฉัยมาแล้วดังนั้นที่รายงานการประชุมระบุว่า ที่ประชุมลงมติให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 นางสุรัชนีและนางสาวประวีณาลาออกจากตำแหน่งกรรมการและแต่งตั้งกรรมการใหม่ 4 คน คือนายฮาร์ยินดาร์ กอร์ นายนารินเดอร์ ซิงห์ ศรีชวาลา(หรือนายสุรศิษย์) นางสาวจิษฎา จาวลา และนายชัยพรรษศรีชวาลา จึงไม่ถูกต้อง แม้จะมีการนำรายงานการประชุมดังกล่าวไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทและนายทะเบียนรับจดทะเบียนให้ก็เป็นการไม่ชอบหาทำให้นางฮาร์ยินดาร์ กอร์ นายนารินเดอร์ ซิงห์(หรือนายสุรศิษย์) นางสาวจิษฎาและนายชัยพรรษ์เป็นกรรมการโจทก์ไม่ นางฮาร์ยินดาร์ กอร์ นายนารินเดอร์ ซิงห์(หรือนายสุรศิษย์) นางสาวจิษฎาและนายชัยพรรษจึงไม่มีอำนาจบริหารงานของบริษัทโจทก์และกระทำการแทนบริษัทโจทก์ได้การที่นางฮาร์ยินดาร์ กอร์ และนางสาวจิษฎาร่วมกันลงนามและประทับตราบริษัทโจทก์แต่งตั้งนายรุจิระ บุนนาค เป็นทนายความดำเนินการฟ้องร้องคดีนี้ จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจ ไม่มีผลทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้
พิพากษายืน