คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13581/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ประกอบกิจการขนส่งทางบก ไม่มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดให้การดื่มสุราในขณะลูกจ้างรอเวลาขับรถบรรทุกไปส่งสินค้าให้ลูกค้าเป็นความผิด แต่มีระเบียบไม่เป็นลายลักษณ์อักษรว่าเมื่อพนักงานขับรถบรรทุกไปรับสินค้าจากลูกค้าแล้วนำรถมาจอดไว้ในบริเวณที่ทำการของโจทก์จังหวัดชลบุรี ห้ามพนักงานขับรถดังกล่าวดื่มสุรา เป็นการออกระเบียบเพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานขับรถบรรทุกที่รอเวลาขับรถบรรทุกสินค้าไปส่งสินค้าให้ลูกค้ามีอาการเมาสุราจากการดื่มสุราและอาจยังมีอาการเมาต่อเนื่องไปจนถึงเวลาต้องปฏิบัติหน้าที่ขับรถไปส่งสินค้าให้ลูกค้า การขับรถในขณะเมาสุราเป็นความผิดต่อกฎหมายซึ่งมีโทษทางอาญา อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายอันจะทำให้โจทก์เสียหาย และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของบุคคลภายนอกด้วยระเบียบของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม
ว. เป็นลูกจ้างของโจทก์ตำแหน่งพนักงานขับรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ ว. เมาสุราในเวลาประมาณ 20 นาฬิกา ขณะที่รอให้ถึงเวลา 2 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้นเพื่อขับรถบรรทุกสินค้าจากที่ทำการโจทก์จังหวัดชลบุรีไปส่งให้ลูกค้าที่จังหวัดปทุมธานี แม้ ว. สามารถไปส่งสินค้าให้ลูกค้าและขับรถมาจอดที่สำนักงานโจทก์จังหวัดชลบุรีโดยปลอดภัย ก็ต้องถือว่า ว. ฝ่าฝืนระเบียบอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของโจทก์ผู้เป็นนายจ้างเป็นกรณีร้ายแรง โจทก์เลิกจ้าง ว. ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรีที่ 201/2549 ฉบับลงวันที่ 12 ธันวาคม 2549 และคืนเงินค่าชดเชย 37,800 บาท และเงินประกัน 2,800 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าการกระทำของนายวุฒิเป็นการฝ่าฝืนระเบียบของโจทก์กรณีร้ายแรงและโจทก์ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นายวุฒิตามคำสั่งของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์ไม่มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดให้การดื่มสุราในขณะพนักงานขับรถบรรทุกรอเวลาขับรถบรรทุกไปส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าเป็นความผิด แต่การที่โจทก์มีระเบียบไม่เป็นลายลักษณ์อักษรว่าเมื่อพนักงานขับรถบรรทุกไปรับสินค้าจากลูกค้าของโจทก์แล้วนำรถบรรทุกมาจอดไว้บริเวณที่ทำการของโจทก์จังหวัดชลบุรี ห้ามพนักงานขับรถดังกล่าวดื่มสุรานั้น ย่อมเห็นได้ว่าการออกระเบียบหรือคำสั่งดังกล่าวเพื่อป้องกันมิให้พนักงานขับรถบรรทุกที่รอเวลาขับรถบรรทุกสินค้าไปส่งให้แก่ลูกค้าของโจทก์มีอาการเมาสุราจากการดื่มสุราและอาจยังคงมีอาการเมาต่อเนื่องไปจนถึงเวลาที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ขับรถบรรทุกไปส่งสินค้าให้แก่ลูกค้า เพราะการขับรถในขณะเมาสุรานอกจากจะเป็นความผิดต่อกฎหมายอันมีโทษทางอาญาแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้โดยง่ายอันจะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตร่างกายหรือทรัพย์สินของบุคคลภายนอกด้วย ระเบียบของโจทก์นับว่าชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม การที่นายวุฒิมีอาการเมาสุราในช่วงเวลาประมาณ 20 นาฬิกา ขณะที่รอให้ถึงเวลา 2 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้นเพื่อขับรถบรรทุกสินค้าจากที่ทำการโจทก์จังหวัดชลบุรีไปส่งให้แก่ลูกค้าที่จังหวัดปทุมธานีซึ่งเป็นระยะทางไกล แม้จะไม่ได้ความแน่ชัดว่าขณะขับรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อไปส่งสินค้านายวุฒิยังคงอยู่ในอาการเมาสุรา และนายวุฒิสามารถขับรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อไปส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าโดยไม่ได้รับความเสียหายและขับกลับมาจอดที่ทำการโจทก์จังหวัดชลบุรีโดยปลอดภัยก็ตาม ก็ต้องถือว่านายวุฒิฝ่าฝืนระเบียบอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของโจทก์ผู้เป็นนายจ้างเป็นกรณีที่ร้ายแรงแล้ว เมื่อโจทก์เลิกจ้างนายวุฒิด้วยเหตุดังกล่าวโจทก์จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (4) คำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยแก่นายวุฒิจึงไม่ถูกต้อง มีเหตุสมควรที่จะเพิกถอนคำสั่งในส่วนนี้ ที่ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษายกฟ้องมานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนคำสั่งที่ 201/2549 ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2549 ของจำเลยเฉพาะในส่วนที่สั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยแก่นายวุฒิ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 2

Share