แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกู้ยืมเงินโจทก์โดยโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินของจำเลยที่ 2 เป็นหลักประกัน โดยตกลงกันว่าจำเลยทั้งสองจะต้องไถ่ถอนคืนภายในกำหนด 2 ปี ต่อมาจำเลยที่ 1 อ้างว่าจำเลยที่ 2 ให้นำเงินมาชำระและยินยอมให้โจทก์โอนที่ดินดังกล่าวใส่ชื่อจำเลยที่ 1 โจทก์หลงเชื่อจึงโอนที่ดินใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้ยื่นฟ้องโจทก์เป็นคดีแพ่งข้อหาผิดสัญญาเรียกค่าเสียหาย ดังนี้ การที่จำเลยที่ 2 ยื่นฟ้องโจทก์เป็นการกระทำอีกส่วนหนึ่งต่างหาก มิใช่การกระทำในคดีนี้ เพราะคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 ความเสียหายที่จะได้รับจะต้องเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการถูกหลอกลวงนั้นโดยตรง แม้โจทก์จะได้รับความเสียหายจากการถูกฟ้อง ความเสียหายดังกล่าวก็มิใช่ความเสียหายโดยตรงในคดีนี้โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหาย ไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกู้ยืมเงินไปจากโจทก์จำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท โดยจำเลยทั้งสองนำที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๙๔๒ ซึ่งมีชื่อจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์โอนให้โจทก์เป็นหลักประกัน และจำเลยทั้งสองจะต้องไถ่ถอนคืนภายในกำหนด ๒ ปี ต่อมาจำเลยทั้งสองได้นำต้นเงินและดอกเบี้ยมาชำระให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์ได้รับเงินคืนแล้ว จึงโอนที่ดินคืนจำเลย แทนที่จำเลยที่ ๑ จะโอนใส่ชื่อจำเลยที่ ๒ กลับโอนใส่ชื่อจำเลยที่ ๑ โดยอ้างว่าจำเลยที่ ๒ ยินยอม โจทก์หลงเชื่อจึงยอมโอนชื่อคืนให้ในนามของจำเลยที่ ๑ ต่อมาจำเลยที่ ๒ ได้ยื่นฟ้องโจทก์เป็นคดีแพ่งข้อหาผิดสัญญาเรียกค่าเสียหาย ทุนทรัพย์ ๗๐๐,๐๐๐ บาท การกระทำของจำเลยทั้งสองก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑,๘๓
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองตามที่โจทก์บรรยายฟ้องไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะโจทก์ได้รับชำระหนี้เงินกู้คืนจากจำเลยที่ ๑ ครบถ้วนแล้วโจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องจำเลย พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยที่ ๒ได้ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลจังหวัดนครปฐม ซึ่งการกระทำของจำเลยทั้งสองก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาต่อสาลได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒(๔), ๒๘ นั้นเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิด ฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ ความเสียหายที่ได้รับจะต้องเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการถูกหลอกลวงนั้นโดยตรง การที่จำเลยที่ ๒ ได้ยื่นฟ้องโจทก์เป็นการกระทำอีกส่วนหนึ่งต่างหากมิใช่การกระทำในคดีนี้ ถึงแม้โจทก์จะได้รับความเสียหายจากการถูกฟ้อง ความเสียหายดังกล่าวก็มิใช่ความเสียหายโดยตรงในคดีนี้ โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายในคดีนี้ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.