คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1356-1521/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกระทำผิดต่างกรรมต่างวาระกันถึง 166 ครั้งนั้น เพื่อความสดวกศาลแขวงจะรวมคดีทั้ง 166 สำนวนพิจารณาพิพากษารวมกันก็ได้ และเมื่อศาลแขวงลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละสำนวนโดยมีกำหนดโทษซึ่งอยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะลงแล้ว แม้ในที่สุดจำเลยจะต้องรับโทษถึง 2490 วัน ก็ย่อมทำได้
การลงโทษเรียงสำนวนทั้ง 166 สำนวน พึ่งให้นับโทษติดต่อกันไปไม่จำต้องรวมโทษทุกสำนวนเข้าด้วยกันแล้วคิดทอนจากวันเป็นปีเดือน เพราะจะทำให้จำเลยต้องรับโทษจริงเกินกว่าโทษที่จะต้องรับโดยการนับโทษติดต่อ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยสมคบกันยักยอกเงินของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยแยกฟ้องเป็น ๑๖๖ สำนวน เพราะจำเลยกระทำผิดต่างวันเวลากัน
จำเลยรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกสำนวน
ศาลแขวงนครราชสีมาพิพากษาว่าจำเลยผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ และ ๘๓ ให้จำคุกจำเลยแต่ละสำนวนคนละ ๑ เดือน ลดกึ่งหนึ่งคงจำคุกแต่ละสำนวนคนละ ๑๕ วัน โดยให้นับโทษติดต่อกันไป ซึ่งเมื่อรวมโทษทั้ง ๑๖๖ สำนวนแล้ว เป็นโทษจำคุกคนละ ๖ ปี ๑๑ เดือน ให้จำเลยช่วยกันคืนหรือใช้เงินแก่เจ้าทรัพย์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า ความผิดของจำเลยเป็นการกระทำต่อเนื่องกันมา จึงเป็นกรรมเดียวกัน เมื่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงรวมพิจารณาพิพากษาแล้วจะลงโทษจำเลย ๑๓ ปี ๑๐ เดือน ก็ไม่ได้
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาว่า เมื่อลดโทษแล้วจะลงโทษจำคุกจำเลยไปเพียงคนละ ๓ เดือน เท่านั้น
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยกระทำผิดหลายกรรมต่างวาระกัน โจทก์ฟ้องเป็น ๑๖๖ สำนวน จำเลยรับสารภาพตลอดทุกสำนวน แม้การยักยอกจะกระทำต่อเนื่องกันมา ก็หาใช่เป็นกรรมเดียวกันดังจำเลยฎีกาไม่ ศาลแขวงพิจารณาพิพากษาคดีรวมกันก็เพื่อความสดวก เมื่อลดโทษแล้วเหลือจำคุกคนละ ๑๕ วัน ต่อ ๑ สำนวน ย่อมอยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิพากษาได้
โทษของจำเลยเมื่อรวมกันทุกสำนวนแล้วคงเป็น ๒๔๙๐ วัน แต่ที่ศาลล่างคิดคำนวนเป็น ๖ ปี ๑๑ เดือน โดยทอนจากวันเป็นปีเดือนนั้น ทำให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยเพราะจำเลยจะต้องรับโทษจริงเกินกว่า ๒๔๙๐ วันไปศาลฎีกาเห็นว่าไม่จำเป็นต้องรวมโทษจำเลยทุกสำนวนแล้วคิดคำนวนเป็นปีเดือน จึงพิพากษาแก้ให้จำคุกจำเลยแต่ละสำนวนคนละ ๑๕ วัน โดยให้นับโทษติดต่อกันไปเท่านั้น

Share