แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ร้องได้ทราบถึงการที่โจทก์ฟ้องคดีมาตั้งแต่แรก แต่เพิ่งร้องสอดเข้ามาหลังจากโจทก์ฟ้องคดีแล้ว 5 ปีเศษ จนได้มีการสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นไปแล้ว ทั้งได้สืบพยานจำเลยไปแล้วรวม 29 นัด จวนจะเสร็จสิ้นพยานจำเลยอยู่แล้ว จึงไม่สมควรอนุญาตให้ผู้ร้องร้องสอดเข้ามาในคดีนี้เพราะจะทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลเพิ่มความยุ่งยากขึ้น
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกของนางแฉล้ม บุณยะประภูติ โดยโจทก์ขอให้ศาลพิพากษากำจัดจำเลยที่ 1ไม่ให้รับมรดกของนางแฉล้มให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 4785, 5122, 5128 เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 แล้วลงชื่อโจทก์ทั้งสามถือกรรมสิทธิ์แทนคนละส่วนเท่ากัน ให้โจทก์ทั้งสามมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันคนละหนึ่งส่วนในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในที่ดินรวม 16 โฉนด ตามบัญชีท้ายฟ้อง เว้นแต่โฉนดที่ 1882 คิดเพียงครึ่งหนึ่งรวมทั้งสิ้นเป็น 190,892,200 บาท ให้จำเลยที่ 2, 3 และ 4 ส่งมอบที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพร้อมทั้งโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ ขอให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ส่งมอบเงินผลประโยชน์เป็นเงินทั้งสิ้น 840,582 บาท 16 สตางค์ พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีกับให้ชำระเป็นรายเดือน ๆ ละ 38,208 บาท 28 สตางค์ นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ให้ชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 4,997,707บาท 50 สตางค์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ ให้จำเลยชำระค่าเสียหายในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในยอดเงิน133,272,200 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสี่ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นนายแถบ หวังสมนึก ยื่นคำร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความอ้างว่าผู้ร้องสอดเป็นสามีของนางแฉล้ม บุญยะประภูติตั้งแต่ พ.ศ. 2463 ได้อยู่กินร่วมกันมาโดยทั้งสองฝ่ายมีสินเดิม ช่วยกันทำมาหากินประกอบอาชีพร่วมกันตลอดมาเกิดทรัพย์สินสมรสรวม 16 รายการ ก่อนถึงแก่กรรมนางแฉล้มได้จดทะเบียนสมรสกับพันตำรวจเอก (พิเศษ) เจริญบุญยะประภูติ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 24886 เมื่อผู้ร้องทราบและจะฟ้องคดีชู้สาวต่อศาล แต่ญาติผู้ใหญ่ที่นับถือขอให้ระงับ หลังจากนั้นนางแฉล้มก็ยังอยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ร้องตลอดมาจนถึงแก่กรรม ผู้ร้องมีสิทธิจะได้รับแบ่งทรัพย์ในฐานเป็นสามีและเป็นทายาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 80,319,129 บาท50 สตางค์ ส่วนโจทก์ทั้งสามมิได้เป็นทายาทไม่มีสิทธิรับทรัพย์มรดกรายนี้ผู้ร้องจึงร้องสอดขอเข้ามาเป็นคู่ความเพื่อให้ได้รับความรับรองหรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องสอดที่มีอยู่
โจทก์ทั้งสามคัดค้านว่าสิทธิของผู้ร้องขาดอายุความเพราะมิได้ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างพันตำรวจเอก (พิเศษ) เจริญ กับนางแฉล้มเป็นโมฆะภายใน 10 ปี และไม่สมควรรับคำร้องสอด เพราะผู้ร้องทราบถึงการดำเนินคดีนี้ซึ่งดำเนินมาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องสอด
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การร้องสอดเข้ามาในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) นั้น มิได้หมายความว่าศาลต้องอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความได้ทุกกรณีไป ศาลย่อมมีอำนาจพิจารณาว่ามีเหตุสมควรอนุญาตหรือไม่แล้วแต่คำร้องนั้นมีเหตุสมควรเพียงไร เห็นว่าตามคำแถลงของผู้ร้องลงวันที่ 23 สิงหาคม 2519 ก็รับอยู่แล้วว่าผู้ร้องทราบการฟ้องคดีนี้แต่แรกแล้ว แต่ก็หาได้ร้องสอดเข้ามาในคดีทันทีไม่ เพิ่งร้องสอดเข้ามาหลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้ว 5 ปีเศษ จนได้มีการสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นไปแล้ว โดยสืบพยานโจทก์ทั้งหมด 14 นัด พยานจำเลยก็สืบไปแล้วรวม 29 นัดจวนจะเสร็จสิ้นพยานจำเลยอยู่แล้ว เห็นได้ว่าไม่สมควรอนุญาตให้ผู้ร้องร้องสอดเข้ามาในคดีนี้ เพราะจะทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลเพิ่มความยุ่งยากขึ้น
พิพากษายืน