แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ ศาลแรงงานกลางพิจารณาคำร้องของจำเลยเฉพาะเหตุในเนื้อหาแห่งคดีตามที่โจทก์จำเลยแถลงรับกัน โดยไม่ได้ไต่สวนข้อเท็จจริงถึงเหตุแห่งความจำเป็นที่จำเลยมาศาลไม่ได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 41 การดำเนินกระบวนพิจารณาจึงไม่ชอบ
เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่าการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยชอบแล้วและโจทก์ไม่ได้คัดค้านข้อเท็จจริงที่จำเลยไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปโดยรวดเร็ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียว
พนักงานรักษาความปลอดภัยลงชื่อรับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2554 ตามปกติพนักงานรักษาความปลอดภัยทำงานเป็นกะจึงต้องมีพนักงานรักษาความปลอดภัยคนอื่นผลัดเปลี่ยนปฏิบัติหน้าที่แทนคนที่รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง การที่พนักงานรักษาความปลอดภัยคนอื่นเห็นซองเอกสารบรรจุหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องจ่าหน้าถึงจำเลยแล้วเพิ่งนำส่งจำเลยในวันที่ 14 กันยายน 2554 ซึ่งล่วงเลยไปเป็นเวลาถึง 21 วัน จึงเป็นเรื่องผิดปกติ ความผิดพลาดที่ทำให้จำเลยทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องล่าช้าเกิดจากการบริหารจัดการของจำเลยเอง การที่จำเลยไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ จึงไม่ใช่เหตุแห่งความจำเป็นที่เป็นการสมควรยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ย ศาลแรงงานกลางกำหนดวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์วันที่ 12 กันยายน 2554 เวลา 9 นาฬิกา โดยออกหมายเรียกให้จำเลยมาศาลในวันเวลาดังกล่าว ส่งให้จำเลยพร้อมสำเนาคำฟ้องทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ณ เลขที่ 2222 หมู่ที่ 7 ถนนเทพารักษ์ ตำบลเทพารักษ์ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ตามที่โจทก์ระบุไว้ในคำฟ้องว่าเป็นภูมิลำเนาของจำเลย มีพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งอยู่ในบริษัทจำเลยเป็นผู้รับแทน ครั้นถึงเวลานัดปรากฏว่าจำเลยไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า จำเลยขาดนัดแล้วพิจารณาคดีของโจทก์ไปฝ่ายเดียวและพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องแก่โจทก์ วันที่ 19 กันยายน 2554 จำเลยยื่นคำร้องว่า คดีมีการส่งหมายเรียกให้จำเลยโดยชอบแล้ว แต่จำเลยไม่ทราบเนื่องจากพนักงานรักษาความปลอดภัยของบริษัทที่รับจ้างจำเลยเป็นคนรับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไว้โดยไม่ได้ส่งมอบให้จำเลย ต่อมาเมื่อพนักงานรักษาความปลอดภัยคนใหม่ที่มาทำหน้าที่แทนพนักงานรักษาความปลอดภัยคนเดิมเห็นซองเอกสารสีน้ำตาลระบุชื่อจำเลยเป็นผู้รับจึงส่งมอบให้จำเลย จำเลยเพิ่งทราบว่าถูกฟ้องเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2554 จำเลยมีทางชนะคดีเพราะจำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ แต่โจทก์ขาดงานติดต่อกัน 3 วัน โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งให้จำเลยขาดนัดและสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวและมีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่าจำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่เป็นการประวิงการบังคับคดีและจำเลยไม่อาจอ้างได้ว่าไม่ทราบว่าถูกโจทก์ฟ้อง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลางนัดไต่สวนคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ถึงวันนัดโจทก์และทนายจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงร่วมกันว่า โจทก์เกษียณอายุครบ 55 ปี วันที่ 30 มิถุนายน 2554 แต่โจทก์ยังทำงานกับจำเลยต่อถึงวันที่ 19 สิงหาคม 2554 และหลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2554 โจทก์ก็ไม่ไปทำงานกับจำเลยอีกเลย โจทก์และจำเลยไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับการทำงานต่อของโจทก์ภายหลังจากเกษียณอายุ แล้วทนายจำเลยแถลงว่าเมื่อข้อเท็จจริงได้ความดังกล่าวก็ไม่ติดใจไต่สวน ศาลแรงงานกลางเห็นว่า สิทธิของโจทก์ที่จะได้รับเงินจากกรณีเกษียณอายุเกิดขึ้นเมื่อโจทก์เกษียณอายุโดยทันที เนื่องจากโจทก์และจำเลยมิได้มีข้อตกลงเกี่ยวกับการทำงานต่อของโจทก์ ดังนั้นไม่ว่าโจทก์จะขาดงานเกิน 3 วัน ตามที่จำเลยกล่าวอ้างและจำเลยไม่มีเจตนาเลิกจ้างโจทก์ก็ตาม ก็ไม่ทำให้จำเลยชนะคดี จึงให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่โดยรับว่า มีการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยโดยชอบแล้ว แต่พนักงานรักษาความปลอดภัยที่รับไว้แทนไม่ได้ส่งต่อให้จำเลยกับอ้างเหตุในเนื้อหาแห่งคดีมาว่า จำเลยมีทางชนะคดีและศาลแรงงานกลางก็พิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลย โดยพิเคราะห์เฉพาะเหตุในเนื้อหาแห่งคดีตามที่โจทก์และฝ่ายจำเลยแถลงรับกันโดยเห็นว่าจำเลยไม่อาจชนะคดี โดยศาลแรงงานกลางไม่ได้ไต่สวนข้อเท็จจริงถึงเหตุแห่งความจำเป็นที่จำเลยมาศาลไม่ได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 41 การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางจึงไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อข้อเท็จจริงยุติว่า การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยชอบแล้วและโจทก์ไม่ได้คัดค้านข้อเท็จจริงถึงเหตุที่จำเลยไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ตามคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลย ดังนั้นเพื่อให้การพิจารณาเป็นไปโดยรวดเร็ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางไต่สวนและมีคำสั่งใหม่
มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การที่จำเลยไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์วันที่ 12 กันยายน 2554 มีเหตุแห่งความจำเป็นที่สมควรยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่หรือไม่ จำเลยอ้างว่า พนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัทอื่นที่รับจ้างจำเลยเป็นผู้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแล้วเก็บไว้ไม่ส่งให้จำเลย จนกระทั่งพนักงานรักษาความปลอดภัยคนใหม่ที่มาทำหน้าที่แทนพนักงานรักษาความปลอดภัยคนเดิมเห็นซองเอกสารจึงส่งมอบให้จำเลยในวันที่ 14 กันยายน 2554 เห็นว่า ตามใบไปรษณีย์ตอบรับการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องปรากฏว่า พนักงานรักษาความปลอดภัยลงชื่อรับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2554 เวลา 13 นาฬิกา นับแต่วันที่พนักงานรักษาความปลอดภัยรับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องถึงวันที่ 14 กันยายน 2554 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยทราบว่าถูกฟ้องเป็นเวลานานถึง 21 วัน ตามปกติพนักงานรักษาความปลอดภัยจะทำงานเป็นกะ จึงต้องมีพนักงานรักษาความปลอดภัยคนอื่นผลัดเปลี่ยนปฏิบัติหน้าที่แทนพนักงานรักษาความปลอดภัยที่รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องในกะและในวันต่อ ๆ มาเห็นซองเอกสารที่บรรจุหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง การที่พนักงานรักษาความปลอดภัยคนอื่น ๆ เห็นเอกสารที่จ่าหน้าถึงจำเลย แล้วไม่ส่งต่อให้จำเลยแต่เพิ่งมาส่งให้เมื่อเวลาล่วงเลยไปเป็นเวลาถึง 21 วัน จึงเป็นเรื่องผิดปกติและกรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม แม้ข้อเท็จจริงเป็นไปตามคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลย ความผิดพลาดที่ทำให้จำเลยทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องล่าช้าก็เกิดจากการบริหารจัดการของจำเลยเองที่จำเลยไม่ได้กำชับบริษัทรักษาความปลอดภัยหรือตัวพนักงานรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ เหตุที่จำเลยไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ จึงไม่ใช่เหตุแห่งความจำเป็นที่เป็นการสมควรจะยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน