คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1352/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ครั้งแรก ศาลแรงงานมีคำสั่งรับใบแต่งทนายความที่แต่งตั้งให้ ป.เป็นทนายความแก้ต่างให้จำเลย และรับคำให้การจำเลยที่ ป.เป็นผู้ลงลายมือชื่อไว้ ตลอดจนได้ให้ ป.ดำเนินกระบวนพิจารณาในฐานะเป็นทนายจำเลยมาแล้ว ต่อมาศาลแรงงานมีคำสั่งในภายหลังไม่เชื่อถือใบแต่งทนายความ และถือว่าไม่มีจำเลยในคดีนี้ อันเป็นการเพิกถอนกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการรับ ป.เป็นทนายจำเลยและกระบวนพิจารณาที่ ป.ได้กระทำแทนจำเลย ซึ่งแม้ศาลแรงงานมีอำนาจกระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามป.วิ.พ.มาตรา 27 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ก็ตาม แต่ศาลแรงงานต้องได้ความแน่ชัดเสียก่อนว่ากระบวนพิจารณานั้นเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบจริง
ศาลแรงงานสั่งให้ ป.ทนายจำเลยนำกรรมการบริษัทจำเลยซึ่งถูกระบุว่าเป็นเจ้าของลายมือชื่อในช่องผู้แต่งทนายความมารับรองลายมือชื่อแสดงว่า ศาลแรงงานเพียงแต่สงสัยว่าอาจไม่ใช่ลายมือชื่อของกรรมการบริษัทจำเลยและการที่กรรมการบริษัทจำเลยไม่มาศาลเพื่อรับรองลายมือชื่อ ก็ยังไม่ทำให้ได้ความแน่ชัดว่าไม่ใช่ลายมือชื่อของกรรมการบริษัทจำเลย จึงไม่ชอบที่ศาลแรงงานจะนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาใช้กำหนดเป็นเงื่อนไขไม่เชื่อถือใบแต่งทนายความดังกล่าวอันเป็นการผลักภาระซึ่งเป็นผลร้ายให้แก่ฝ่ายจำเลย ทั้ง ๆ ที่จำเลยมิได้เป็นผู้ยกข้อสงสัยนั้นขึ้นกล่าวอ้าง นอกจากนี้ก็ยังมี ป.ทนายจำเลยซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องในการแต่งทนายจำเลย และเป็นผู้รับรองลายมือชื่อในช่องผู้แต่งทนายความไว้ในใบแต่งทนายความ ป.จึงเป็นผู้ที่สามารถให้ความจริงได้ ศาลแรงงานชอบที่จะค้นหาความจริงจาก ป.หรือดำเนินการทางอื่นเพื่อให้ได้ความแน่ชัดเสียก่อน การที่ศาลแรงงานด่วนมีคำสั่งว่า กรรมการบริษัทจำเลยไม่มารับรองลายมือชื่อในใบแต่งทนายความของจำเลย จึงไม่เชื่อถือใบแต่งทนายความดังกล่าวและถือว่าไม่มีจำเลยเข้ามาในคดี แล้วมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดและขาดนัดพิจารณาแล้วชี้ขาดตัดสินคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียวจึงเป็นการไม่ชอบ

Share