แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินไปจากโจทก์ และมีข้อความระบุไว้ในสัญญาว่า เพื่อเป็นหลักฐานในเงินซึ่งจำเลยได้กู้ไปนี้จำเลยได้นำเช็คจำนวน 1 ฉบับ ให้โจทก์ยึดไว้เป็นประกันด้วยย่อมมีความหมายชัดแจ้งว่า เช็คฉบับดังกล่าวเป็นเช็คที่จำเลยได้ออกให้แก่โจทก์เป็นหลักประกันในการที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไป มิใช่เช็คที่จำเลยออกให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ แม้ตามหนังสือสัญญากู้เงินจะมีข้อความว่าในจำนวนเงินซึ่งจำเลยได้กู้ไปนี้ จำเลยจำนำมาใช้ให้โจทก์เสร็จภายในวันที่ลงไว้ในเช็คก็ตาม ก็จะตีความว่าจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ไม่ได้ ดังนี้ เมื่อจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อ เป็นหลักประกันการชำระหนี้ มิได้ออกเพื่อชำระหนี้แล้ว จำเลยย่อมไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิด อันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 แม้ต่อมาจำเลย จะได้ขอผัดผ่อนชำระเงินต้นคืนแก่โจทก์ และขอให้โจทก์ อย่านำเช็คไปเรียกเก็บเงินก็ไม่ทำให้จำเลยกลับมีความผิดไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4(2)จำคุก 1 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา หนึ่งในสามคงจำคุก 8 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2537 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน360,000 บาท และจำเลยได้ออกเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัดสาขาพัทลุง หมายเลขเช็ค 2239123 ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2539สั่งจ่ายเงินจำนวน 360,000 บาท มอบให้แก่โจทก์ไว้ ต่อมาวันที่9 กรกฎาคม 2539 โจทก์นำเช็คฉบับดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า เงินในบัญชีไม่พอจ่ายคดีนี้มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 นั้น จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์ไปจำนวน360,000 บาท และมีข้อความระบุไว้ในข้อ 2 ของสัญญาดังกล่าวว่าเพื่อเป็นหลักฐานในเงินซึ่งข้าพเจ้าได้กู้ไปนี้ ข้าพเจ้าได้นำเช็คจำนวน 1 ฉบับ แนบคู่สัญญาตามเช็คเลขที่ 2239123ธนาคารกรุงไทย ให้ท่านยึดไว้เป็นประกันด้วยข้อความที่ระบุไว้ดังกล่าวย่อมมีความหมายชัดแจ้งว่า เช็คดังกล่าวซึ่งก็คือเช็คตามเอกสารหมาย จ.2 เป็นเช็คที่จำเลยได้ออกให้แก่โจทก์เป็นหลักประกันในการที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไป มิใช่เช็คที่จำเลยออกให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ แม้ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 3 จะมีข้อความว่า ในจำนวนเงินซึ่งข้าพเจ้าได้กู้ไปนี้ ข้าพเจ้าจะนำมาใช้ให้ท่านเสร็จภายในวันที่ 2 กรกฎาคม 2539 ซึ่งเป็นวันที่ลงไว้ในเช็คเอกสารหมาย จ.2ก็ตาม ก็จะตีความว่าจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ไม่ได้เพราะมีความหมายเพียงว่า จำเลยจะนำเงินมาชำระให้โจทก์ภายในวันที่ที่ระบุไว้เท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยออกเช็คตามเอกสารหมาย จ.2 เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้มิได้ออกเพื่อชำระหนี้แล้ว จำเลยย่อมไม่มีความผิดตามฟ้องแม้ต่อมาจำเลยจะได้ขอผัดผ่อนชำระเงินต้นคืนแก่โจทก์และขอให้โจทก์อย่านำเช็คไปเรียกเก็บเงินก็ไม่ทำให้จำเลยมีความผิดตามฟ้องแต่อย่างใด
พิพากษายืน