คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1351/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ฟ้องโจทก์กล่าวว่า สินสมรสระหว่างนายห.และนางก.มีจำนวนเท่าใด ตกเป็นมรดกของนางก. 2 ใน 3 ส่วนคิดเป็นเงินเท่าใด ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ชัดแจ้งว่า ส่วนที่ตกเป็นส่วนแบ่งของนายห.เท่ากับ 1 ใน 3 ส่วน และสามารถคำนวณออกมาเป็นจำนวนเงินได้โดยง่าย ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม สามีภรรยาก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5การแบ่งสินสมรสต้องบังคับตามกฎหมายลักษณะผัวเมียบทที่ 68ซึ่งกำหนดว่า ถ้าทั้งสองฝ่ายมีสินเดิมให้แบ่งสินสมรสเป็น 3 ส่วนชายได้ 2 ส่วน หญิงได้ 1 ส่วน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 240 และ 1859 ตามฟ้องรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างแก่จำเลยทั้งสี่ให้กลับสู่ฐานะเดิมแล้วหักเป็นสินสมรสส่วนของนายหมัง 1 ใน 3 ส่วนที่เหลือตกเป็นมรดกของนางกิมวาซึ่งตกได้แก่โจทก์ 1 ใน 3 ส่วน คิดเป็นเงิน 991,111 บาทหากแบ่งไม่ได้ให้นำขายทอดตลาด นำเงินที่ได้แบ่งให้โจทก์ตามสิทธิให้จำเลยแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 223 กับที่ดินโฉนดเลขที่ 2071และ 2072 ตามฟ้อง พร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยหักเป็นสินสมรสส่วนของนายหมัง 1 ใน 3 ส่วน ที่เหลือตกเป็นมรดกของนางกิมวาซึ่งตกได้แก่โจทก์ 1 ใน 3 ส่วน คิดเป็นเงิน 1,784,444 บาทหากแบ่งไม่ได้ให้นำขายทอดตลาดเอาเงินที่ได้แบ่งแก่โจทก์ตามสิทธิให้นำเงินจำนวน 2,000,000 บาทตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้อง มาแบ่งโดยหักเป็นสินสมรสของนายหมัง 1 ใน 3 ส่วนหักส่วนที่จ่ายแก่นางลูกอิน 400,000 บาทที่เหลือตกเป็นมรดกของนางกิมวาซึ่งตกเป็นโจทก์ 1 ใน 3 ส่วนคิดเป็นเงิน 311,111 บาทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ให้การใจความรวมกันว่า โจทก์ไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของนางกิมวากับนายหมังโจทก์ไม่มีสิทธิขอแบ่งหรือขอให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้อง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความและเคลือบคลุมจำเลยที่ 2 และ ที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนสิทธิที่ดินรวมทั้งสิ่งปลูกสร้าง โฉนดเลขที่ 240 ตำบลระแหง อำเภอเมืองตากจังหวัดตาก ที่นายหมังโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมดให้แก่จำเลยทั้งสี่นั้น กลับคืนให้แก่โจทก์จำนวนร้อยละ 8.4777 ของที่ดินรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยทั้งสี่แบ่งที่ดินรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างจำนวนดังกล่าวนี้แก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสี่แบ่งที่ดินรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างโฉนดเลขที่ 223 ตำบลแม่สอด อำเภอแม่สอดจังหวัดตาก ให้แก่โจทก์จำนวนร้อยละ 8.4777 ของที่ดินรวมทั้งสิ่งปลูกสร้าง หากไม่อาจแบ่งที่ดินรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ได้ ให้นำที่ดินรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินที่ได้แบ่งให้โจทก์ตามสิทธิข้างต้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่นายหมังโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ตามโฉนดเลขที่ 240, 185ตำบลระแหง อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก รวมทั้งสิ่งปลูกสร้าง เฉพาะ 1 ใน 9 ส่วน และให้ส่วนที่เพิกถอนนั้นตกเป็นของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสี่แบ่งโฉนดที่ดินที่ 223 ตำบลแม่สอดอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก รวมทั้งสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ 1ใน 9 ส่วน หากไม่อาจแบ่งได้ให้นำที่ดินรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินที่ได้แบ่งแก่โจทก์ตามส่วนข้างต้นนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลวินิจฉัยว่า “ข้อที่โจทก์ฎีกาว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นลงวันที่ 7 เมษายน 2526 ที่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 สืบพยานต่อไปเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น โจทก์อ้างว่าศาลจังหวัดราชบุรีซึ่งศาลชั้นต้นส่งประเด็นไปสืบพยานจำเลยที่ 1 เห็นว่าในวันนัดหมายจำเลยที่ 1 ไม่มาศาลโดยอ้างเหตุเจ็บป่วยนั้นเมื่อทำการไต่สวนแล้วได้ความว่าทนายจำเลยที่ 1 สามารถมาศาลได้แต่ไม่ยอมมา จึงส่งประเด็นกลับคืนมายังศาลชั้นต้นสั่งและศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2526 อนุญาตให้สืบพยานจำเลยที่ 1 ที่ศาลชั้นต้นต่อไป ซึ่งโจทก์ได้คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวไว้แล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าในคำสั่งศาลชั้นต้นนั้นก็มิได้อนุญาตให้ส่งประเด็นไปสืบพยานจำเลยที่ 1ที่ศาลจังหวัดราชบุรีตามที่จำเลยที่ 1 ร้องขออีกครั้งหนึ่งดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นทำการสืบพยานจำเลยที่ 1 ปากอื่นที่ศาลนั้นต่อไปจึงเป็นอีกกรณีหนึ่ง คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงไม่เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่โจทก์ฎีกาแต่อย่างใดแม้ว่าต่อมาศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ส่งประเด็นไปสืบพยานปากหนึ่งที่ศาลจังหวัดราชบุรีอีกครั้ง ในครั้งนี้ศาลชั้นต้นก็ได้สอบโจทก์แล้ว และโจทก์ไม่คัดค้านปรากฏรายละเอียดในรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2526 จึงหาทำให้คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นการไม่ชอบไม่ ฎีกาโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับในเนื้อหาแห่งคดีข้อเท็จจริงฟังยุติว่า โจทก์เป็นบุตรนายหมัง นางกิมวา สายชุ่มอินทร์ ซึ่งเป็นสามีภรรยากันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสจำเลยทั้งสี่เป็นบุตรของนายหมังซึ่งเกิดจากภรรยาคนอื่น นางกิมวาถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2521 นางลูกอินมารดาของนางกิมวาได้ฟ้องขอแบ่งมรดกของนางกิมวาจากนายหมัง ในที่สุดได้ตกลงประนีประนอมยอมความกัน โดยนายหมังยอมจ่ายเงินให้นางลูกอิน400,000 บาท ต่อมานายหมังได้โอนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 240และ 1859 ให้แก่จำเลยทั้งสี่โดยการจดทะเบียนยกให้ ทั้งนายหมังได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่จำเลยทั้งสี่ด้วยและในชั้นฎีกาโจทก์แก้ฎีการับว่าขณะสมรสนายหมังมีสินเดิมประเด็นวินิจฉัยมีว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ นางกิมวาเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายหมังหรือไม่ นางกิมวามีสินเดิมและสินส่วนตัวที่โจทก์จะเรียกร้องขอแบ่งได้หรือไม่โจทก์มีส่วนได้ในทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสี่ได้รับโดยการยกให้และโดยพินัยกรรมของนายหมังหรือไม่ และฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่
ในประเด็นเรื่องฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่นั้น จำเลยที่ 1อ้างว่าเนื่องจากโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า นางกิมวา และนายหมังได้ส่วนแบ่งทรัพย์คนละกี่ส่วน เป็นเงินคนละเท่าใดเห็นว่าฟ้องโจทก์กล่าวไว้แล้วว่าสินสมรสระหว่างนายหมังและนางกิมวามีจำนวนเท่าใด ตกเป็นมรดกของนางกิมวา2 ใน 3 ส่วน คิดเป็นเงินเท่าใด ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ชัดแจ้งว่าส่วนที่ตกเป็นส่วนแบ่งของนายหมังเท่ากับ 1 ใน 3 ส่วนและสามารถคำนวณออกมาเป็นจำนวนเงินได้โดยง่าย ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุมฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ในประเด็นที่ว่า นางกิมวาเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายหมังหรือไม่นั้น โจทก์มีนายเด่น ภู่สุวรรณเกิดพ.ศ. 2465 และนางบุญส่ง เจ็กสมบัติ ขณะเบิกความมีอายุ 78 ปีเป็นพยานในเรื่องนี้ ต่างเบิกความตรงกันได้ความว่า นางกิมวากับนายหมังอยู่กินเป็นสามีภรรยากันตั้งแต่ก่อนกฎหมายบังคับให้จดทะเบียนสมรส พยานโจทก์ทั้งสองปากนี้มีอายุมากพอที่จะรู้เห็นเหตุการณ์ในขณะนั้นได้ นอกจากนี้โจทก์มีสำเนาทะเบียนบ้านตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งระบุว่าโจทก์เป็นบุตรของนายหมังและนางกิมวาเกิดเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2479 เป็นพยานเมื่อนับย้อนหลังไปอีก 10 เดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่โจทก์อยู่ในครรภ์มารดาแล้ว นางกิมวาย่อมตั้งครรภ์ประมาณวันที่ 10 กรกฎาคม 2478 ซึ่งเป็นเวลาก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2478อันเป็นวันที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ใช้บังคับแสดงให้เห็นว่านายหมังและนางกิมวาเป็นสามีภรรยากันก่อนที่จะมีกฎหมายบัญญัติให้มีการจดทะเบียนสมรสข้ออ้างของจำเลยที่ 1ที่ว่า นายหมังและนางกิมวาอาจได้เสียกันก่อนจะอยู่กินเป็นสามีภรรยากันก็ได้นั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีพยานนำสืบแสดงว่าข้อเท็จจริงเป็นดังกล่าว พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่านางกิมวาเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายหมังฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ในประเด็นที่ว่า นางกิมวามีสินเดิมและสินส่วนตัวที่โจทก์จะเรียกร้องขอแบ่งได้หรือไม่นั้น นายเด่นซึ่งเป็นน้องชายของนางกิมวาพยานโจทก์เบิกความว่า ก่อนที่นางกิมวาจะแต่งงานกับนายหมังนั้น นางกิมวามีอาชีพเป็นเจ้าของร้านตัดเย็บเสื้อผ้า นายหมังให้ผู้ใหญ่มาสู่ขอนางกิมวามีพิธีหมั้นและพิธีแต่งงานก่อนที่นางกิมวาจะเดินทางไปอยู่กับนายหมังที่จังหวัดตาก นางลูกอิน นางกิมวา และนายหมังได้พูดกันถึงเรื่องทรัพย์สินซึ่งเป็นสินเดิมของนางกิมวามีเข็มขัดทองหนัก 20 บาท 1 เส้น สร้อยคอทองหนัก 2 บาท 1 เส้นสร้อยข้อมือหนัก 1 บาท 2 เส้น และเงินสด 240 บาท ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3 นางกิมวาจะนำติดตัวไปด้วยและนางบุญส่งพยานโจทก์เบิกความว่า หลังจากนางกิมวามาอยู่กับนายหมังได้ 2 วัน เห็นนางกิมวาใส่สร้อยคอทอง สร้อยข้อมือทองและคาดเข็มขัดทอง ซึ่งพยานทราบจากนายหมังและนางกิมวาว่าเป็นทรัพย์สินที่นางกิมวาเป็นผู้เก็บออมสะสมไว้ คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองปากดังกล่าวมีน้ำหนักน่าเชื่อถือเมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์ที่ว่านางกิมวามีร้านตัดเย็บเสื้อผ้าย่อมต้องเป็นผู้มีทรัพย์สินตามสมควร และเป็นธรรมดาเมื่อต้องย้ายตามสามีไปอยู่ที่อื่น ก็ย่อมต้องนำทรัพย์สินของตนติดตัวไปและประดับตกแต่งร่างกายเพื่อแสดงฐานะของตนบ้าง ที่จำเลยที่ 1นำสืบโดยมีตัวจำเลยที่ 1 และนางร้าว เรืองปรีชา เบิกความว่าไม่เห็นนางกิมวามีทรัพย์สินใดติดตัวมานั้น ไม่มีน้ำหนักพอที่จะหักล้างคำพยานโจทก์และเหตุผลดังกล่าวได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นางกิมวาเป็นผู้ที่มีสินเดิมดังที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.3 สำหรับในเรื่องสินส่วนตัวนั้น โจทก์นำสืบว่าขณะนางกิมวาถึงแก่ความตาย นางกิมวาก็มีสินส่วนตัวปรากฏตามบัญชีเอกสารหมาย จ.4 และนายหมังเป็นผู้เก็บทรัพย์สินเหล่านั้นไว้ ซึ่งฝ่ายจำเลยนำสืบปฏิเสธ เห็นว่าโจทก์มีแต่พยานบุคคลเบิกความว่าหลังจากนางกิมวาถึงแก่ความตายไม่นานนักได้มีการทำบัญชีทรัพย์สินที่เป็นเครื่องประดับของนางกิมวาแต่มิได้มีบัญชีดังกล่าวมาเป็นหลักฐาน พยานบุคคลในเรื่องนี้ก็เบิกความเพียงรับรองเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งฝ่ายโจทก์ทำขึ้นในภายหลังโดยมิได้รู้เห็นถึงทรัพย์สินเหล่านั้น ยังฟังไม่ถนัดว่านางกิมวามีสินส่วนตัวดังที่ระบุไว้ในเอกสารหมาย จ.4ทั้งหมด อย่างไรก็ดี จากทางนำสืบของโจทก์ ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่านายหมังเป็นผู้เก็บรักษาสินเดิมและสินส่วนตัวของนางกิมวาไว้แทนทายาทคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ได้ความว่าจำเลยทั้งสี่เป็นผู้รับเอาทรัพย์สินดังกล่าวมาเป็นของผู้หนึ่งผู้ใดแต่อย่างใดทั้งโจทก์ฟ้องคดีนี้หลังจากนางกิมวาถึงแก่ความตายเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปีแล้วฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องขอแบ่งทรัพย์สินดังกล่าว ฎีกาโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ในประเด็นที่ว่า โจทก์มีส่วนได้ในทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสี่ได้รับโดยการยกให้ และโดยพินัยกรรมของนายหมังหรือไม่และฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้น ทรัพย์สินในส่วนนี้คือสินสมรสที่โจทก์อ้างว่ามีเงินสดที่ฝากในธนาคาร และหุ้นของบริษัทน้อมมิตร จำกัด จำนวนหนึ่งปรากฏตามเอกสารหมาย จ.6จากทางนำสืบของโจทก์ ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้เช่นกันว่านายหมังเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินดังกล่าวไว้แทนโจทก์หรือทายาทคนอื่นทั้งโจทก์มิได้เข้าครอบครองทรัพย์สินดังกล่าวร่วมกับนายหมังแต่อย่างใด ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงขาดอายุความแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 เช่นกันนอกจากนี้มีสินสมรสซึ่งเป็นที่ดินและตึกแถวตามบัญชีทรัพย์เอกสารหมาย จ.5 รวม 5 แปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 223, 240,1859, 2071 และ 2072 ตามเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.11 สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 223 โจทก์มีนางชะเลิศ สีตะระโส กับนายอำพล สุจริตจันทร์เบิกความว่าที่ดินแปลงนี้เดิมเป็นของนายคำฝน สรรคชา นายอำพลว่าประมาณปี 2496 หรือ 2497ที่ดินแปลงนี้ตกเป็นของนายหมังโดยนายคำฝนโอนให้เป็นการชำระหนี้เงินยืม ส่วนจำเลยมีตัวจำเลยที่ 1 และนายธรรมนูญ สายชุ่มอินทร์เบิกความว่าทราบจากนายหมังว่านายคำฝนยืมเงินจากนายหมัง เมื่อปี 2454 ต่อมาจึงโอนที่ดินแปลงนี้ให้เป็นการชำระหนี้เงินยืม กับมีจดหมายของนายหมังตามเอกสารหมาย ล.5 สนับสนุนคำเบิกความดังกล่าว แต่ก็ไม่ปรากฏมีข้อความว่านายคำฝนโอนให้เมื่อใด เห็นว่าพยานโจทก์ทั้งสองเป็นบุคคลภายนอก ไม่มีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะนายอำพลเป็นญาติและสนิทสนมกับนายหมัง ทั้งยังอยู่กับนายคำฝนมาก่อนคำเบิกความจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อฟังได้ว่าที่ดินแปลงนี้ตกมาเป็นของนายหมังเมื่อปี 2496 หรือ 2497 ซึ่งเป็นเวลาที่นายหมังกับนางกิมวาเป็นสามีภรรยากัน ดังนั้นที่ดินโฉนดเลขที่ 223พร้อมตึกแถวจึงเป็นสินสมรสของนางกิมวาและนายหมัง และได้ความว่าโจทก์ได้ใช้ตึกแถวห้องหนึ่งบนที่ดินแปลงนี้เปิดทำการรักษาคนไข้ตลอดมาถือได้ว่าโจทก์ได้ครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวร่วมกับนายหมังด้วย ฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความโจทก์มีส่วนได้ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินแปลงนี้ด้วย
ที่ดินโฉนดเลขที่ 240 ตามเอกสารหมาย จ.8 แม้นายหมังจะแจ้งการครอบครองโดยระบุว่า ซื้อมาประมาณ 40 ปี ตามเอกสารหมาย ล.26 ก็ตาม แต่เมื่อนายหมังไปให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานที่ดินผู้ทำการรังวัด เพื่อออกโฉนดเมื่อปี 2498กลับว่าได้รับมรดกจากมารดาประมาณ 8 ปี และซื้อมาเมื่อปี 2484กับปี 2487 ตามใบไต่สวนเอกสารหมาย จ.22 ซึ่งเป็นหลักฐานที่มั่นคงกว่าฟังได้ว่าที่ดินแปลงนี้เป็นสินสมรสของนายหมังและนางกิมวาเช่นกัน ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 4 ว่าเดิมโจทก์อาศัยอยู่ในบ้านหลังหนึ่งซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินแปลงนี้และเมื่อโจทก์ย้ายออกไปอยู่ที่อื่น แต่ยังมีทรัพย์สินของโจทก์อยู่ในบ้านหลังเก่า ทั้งโจทก์และครอบครัวยังเข้าไปเก็บกินผลไม้ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินแปลงนี้จึงถือได้ว่า โจทก์ได้ครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวร่วมกับนายหมังด้วยฟ้องของโจทก์ส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความ โจทก์มีส่วนได้ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินแปลงนี้ด้วย
ที่ดินโฉนดเลขที่ 1859 ตามเอกสารหมาย จ.9 โจทก์มีนายเด่นและนางบุญส่ง เบิกความทำนองเดียวกันว่านายหมังซื้อมาระหว่างที่เป็นสามีภรรยากับนางกิมวาได้ยกให้แก่ทางราชการเพื่อสร้างโรงพยาบาลแต่ไม่พอ จึงซื้อที่ดินซึ่งอยู่ติดต่อกันอีกหลายแปลงยกให้แก่ทางราชการส่วนหนึ่งส่วนที่เหลืออยู่คือที่ดินโฉนดเลขที่ 1859 ส่วนจำเลยมีแบบแจ้งการครอบครองที่ดินและใบไต่สวนตามเอกสารหมาย ล.15 และ ล.14 โดยนายหมังแจ้งไว้ว่าประมาณ 30 ปี และ 40 ปีตามลำดับ ทิศตะวันออกของที่ดินแปลงนั้นติดโรงพยาบาลตาก นางจีบ สุขดี พยานจำเลยเบิกความว่าเดิมนายหมังมีที่ดินอยู่ 30 ไร่ต่อมานายหมังยกให้ทางราชการสร้างโรงพยาบาลเสีย 10 ไร่ คงเหลือ 20 ไร่ ที่ดินแปลงนี้อยู่ด้านทิศตะวันออกของโรงพยาบาล ซึ่งเท่ากับว่าทิศตะวันตกของที่ดินแปลงนี้ติดโรงพยาบาล จึงฟังไม่ได้ถนัดว่าเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 1859 ตามที่ปรากฏในใบไต่สวนกับแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน เอกสารหมาย ล.14 และ ล.15 ในแบบแจ้งการครอบครองเมื่อปี 2498 นายหมังว่าได้ซื้อมาประมาณ 30 ปี แต่ในใบไต่สวน พ.ศ.2499 กลับว่าซื้อมา 40 ปีแตกต่างกันอยู่ จึงจะฟังเป็นจริงตามพยานหลักฐานอื่นเห็นว่าคำของนางบุญส่งดังกล่าวข้างต้นมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ เพราะนางบุญส่งเป็นบุคคลภายนอกไม่มีส่วนได้เสียในคดี นางจีบเบิกความว่า ครั้งแรกนายหมังบริจาคที่ดินให้โรงพยาบาล 10 ไร่เหลือเก็บไว้ 20 ไร่ใช้เป็นที่เลี้ยงวัว แต่กลับไปหาซื้อเพิ่มเติมอีกหลายแปลงมาบริจาคอีก ดูไม่ค่อยสมเหตุสมผลพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลยฟังได้ว่าที่ดินแปลงนี้เป็นสินสมรสของนายหมังและนางกิมวาและข้อเท็จจริงได้ความต่อไปว่าโจทก์ยังเก็บไม้กระดานไว้ในที่ดินแปลงดังกล่าวจึงถือได้ว่า โจทก์ได้ครอบครองที่ดินแปลงนี้ร่วมกับนายหมังด้วย ฟ้องของโจทก์ส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความ โจทก์ก็มีส่วนได้ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินแปลงนี้ด้วย
ที่ดินโฉนดเลขที่ 2071 ตามเอกสารหมาย จ.10 กับที่ดินโฉนดเลขที่ 2072 ตามเอกสารหมาย จ.11 จำเลยมีหลักฐานคือแบบแจ้งการครอบครองที่ดินระบุว่านายหมังรับมรดกจากมารดามานานประมาณ 40 ปี และใบไต่สวนระบุว่ารับมรดกมาจากมารดาเมื่อพ.ศ.2459 ตามเอกสารหมาย ล.17, ล.18, ล.21 ส่วนโจทก์ไม่มีพยานมาหักล้างเอกสารดังกล่าว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 2071 และ 2072 ไม่ใช่สินสมรส หากแต่เป็นสินเดิมของนายหมัง โจทก์จึงไม่มีส่วนได้ในที่ดินทั้งสองแปลงนี้แต่อย่างใด การแบ่งส่วนที่ดิน 3 แปลง ที่โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกคือที่ดินโฉนดเลขที่ 223, 240 และ 1859 นั้น จะต้องหักส่วนของนายหมังออกเสียก่อนเนื่องจากนายหมังและนางกิมวาเป็นสามีภรรยากันก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 จึงต้องบังคับตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย บทที่ 68 ซึ่งกำหนดว่าถ้าทั้งสองฝ่ายมีสินเดิมให้แบ่งสินสมรสเป็น 3 ส่วน ชายได้ 2 ส่วน หญิงได้ 1 ส่วน ดังนั้นที่ดินทั้ง 3 แปลงดังกล่าวแต่ละแปลงจึงตกเป็นของนายหมัง 2 ส่วนเป็นมรดกของนางกิมวา 1 ส่วน แต่เนื่องจากทายาทของนางกิมวามี 3 คน เพราะนางลูกอินได้รับส่วนแบ่งไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความเสร็จสิ้นแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับ 1 ใน 3 ของมรดกนางกิมวา ซึ่งเมื่อคำนวณตามอัตราส่วนดังกล่าวแล้วโจทก์จึงมีสิทธิได้รับเพียง 1 ใน 9 ส่วนของที่ดินแต่ละแปลงดังกล่าวข้างต้นดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นเป็นการถูกต้องแล้ว และสำหรับฎีกาของจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมนั้นศาลฎีกาเห็นว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดไว้เหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยที่ 1 และฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share