แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าขณะเกิดเหตุ ป. เป็นคนขับรถของโจทก์มิใช่ ว. แต่จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดีว่า รถชนเกิดจากความประมาทของฝ่ายโจทก์ ไม่ได้ให้การต่อสู้คดีในเรื่องผู้ใดเป็นคนขับรถของโจทก์ จึงไม่มีประเด็นข้อนี้คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในข้อนี้ จึงเป็นการนอกประเด็นและถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 จำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายละเมิด ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์สองในสามของค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับ เนื่องจากฝ่ายโจทก์มีส่วนประมาทอยู่ด้วย จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าจะต้องนำค่าเสียหายของจำเลยที่ 2 มารวมคิดคำนวณด้วยนั้น จำเลยที่ 2 ไม่ได้ฟ้องแย้ง จึงไม่อาจนำมาคิดคำนวณให้ได้ การกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนอีกฝ่ายหนึ่งและจำนวนเท่าใด เป็นดุลพินิจของศาลที่จะมีคำสั่งตามที่เห็นสมควร
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2527เวลาประมาณ 8.30 นาฬิกา ขณะที่นายวัลลภ โรจนาบุญ ได้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก – 4226 นครปฐม ของโจทก์มาตามถนนราชวิถีมุ่งหน้าไปทางองค์พระปฐมเจดีย์ในช่องขวาสุดชิดกับเกาะกลางถนน เมื่อถึงบริเวณหน้าร้านเพชรเกษมการยางจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก – 1914 นครปฐมของจำเลยที่ 2ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และในธุรกิจของจำเลยที่ 2ไปตามถนนราชวิถีมุ่งหน้าไปทางองค์พระปฐมเจดีย์เช่นเดียวกันในช่องที่ 2 ซึ่งเป็นช่องกลางเมื่อถึงบริเวณหน้าร้านเพชรเกษมการยาง ซึ่งมีช่องว่างระหว่างเกาะกลางถนนเพื่อให้กลับรถได้ จำเลยที่ 1 ได้เลี้ยวขวากลับรถในบริเวณดังกล่าวทันทีโดยไม่ได้ให้สัญญาณไฟเลี้ยวและไม่ดูว่าจะเลี้ยวได้โดยปลอดภัยหรือไม่ ตัดหน้ารถยนต์ที่นายวัลลภขับมาโดยกะทันหันในระยะกระชั้นชิด เป็นเหตุให้รถยนต์ทั้งสองคันชนกันรถของโจทก์ได้รับความเสียหายหลายรายการปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ซึ่งรวมค่าซ่อมและค่าอะไหล่แล้วเป็นเงิน74,635 บาท และขอคิดค่าเสื่อมสภาพรถยนต์อีก 40,000 บาทรวมเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้โจทก์ 114,635 บาทจำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก – 1914 นครปฐม และเป็นตัวการของจำเลยที่ 1 จำต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 114,635 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 รับจ้างจำเลยที่ 2 เป็นครั้งคราวเท่านั้นขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ได้ยืมรถของจำเลยที่ 2 ไปใช้ในกิจการส่วนตัว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 1 ไม่ได้ประมาทเหตุที่เกิดชนกันเกิดจากความประมาทของฝ่ายโจทก์เอง คือโจทก์ได้ขับรถตามหลังรถของจำเลยที่ 1 ในระยะกระชั้นชิดด้วยความเร็วสูง เมื่อจำเลยที่ 1 เปิดไฟเลี้ยวจะกลับรถโจทก์ก็ไม่ชะลอความเร็วลง จึงเป็นเหตุให้เกิดชนกันขึ้นความเสียหายที่โจทก์อ้างนั้นก็สูงเกินกว่าความเป็นจริงความเสียหายที่แท้จริงนั้นไม่ควรเกิน 10,000 บาท
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เหตุที่รถชนกันเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1และนายวัลลภคนขับรถของโจทก์เอง แต่จำเลยที่ 1 ประมาทมากกว่า สมควรให้ฝ่ายจำเลยรับผิดสองในสามส่วน สำหรับความเสียหายเกี่ยวกับการซ่อมฟังว่า โจทก์เสียหายเป็นเงิน74,635 บาท จำเลยทั้งสองต้องรับผิดสองในสามส่วนเป็นเงิน 49,756 บาท และกำหนดค่าเสื่อมราคาให้ 10,000 บาท พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 59,756 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยที่ 2ฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุนายปริศดาเป็นคนขับรถของโจทก์มิใช่นายวัลลภนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดีว่ารถชนกันเกิดจากความประมาทของฝ่ายโจทก์ ไม่ได้ให้การต่อสู้คดีในเรื่องผู้ใดเป็นคนขับรถของโจทก์ จึงไม่มีประเด็นข้อนี้คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในข้อนี้จึงเป็นการนอกประเด็น และถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เหตุที่รถของโจทก์กับรถของจำเลยที่ 2 ชนกันเกิดขึ้นเพราะความประมาทของจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นคนขับรถของจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถเลี้ยวขวาตัดหน้ารถของโจทก์กะทันหันโดยประมาท แม้จะฟังว่านายวัลลภคนขับรถของโจทก์ขับรถประมาทด้วย แต่ก็เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1ประมาทมากกว่า ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่ารถของโจทก์เสียหายไม่เกิน 30,000 บาทนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เสียค่าซ่อมรถเป็นเงิน 74,135 บาท ตามบิลเงินสดเอกสารหมาย จ.11จริง โจทก์ไม่จำเป็นต้องเอาหลักฐานเปรียบเทียบราคาหรือใบสั่งซื้อจากร้านค้าที่ขายอะไหล่มาแสดงต่อศาลตามที่จำเลยที่ 2ฎีกาอีก จำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายละเมิดทำให้โจทก์เสียหาย ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์สองในสามส่วนของค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับเนื่องจากฝ่ายโจทก์มีส่วนประมาทอยู่ด้วยนั้นถูกต้องแล้วที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าจะต้องนำค่าเสียหายของจำเลยที่ 2มารวมคิดคำนวณด้วยนั้น จำเลยที่ 2 ไม่ได้ฟ้องแย้ง จึงไม่อาจนำมาคิดคำนวณให้ได้ ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความควรเป็นพับ เพราะโจทก์ประมาทด้วย และโจทก์เรียกค่าเสียหายมากเกินไปไม่สุจริตนั้น เห็นว่าการกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนอีกฝ่ายหนึ่ง และจำนวนเท่าใด เป็นดุลพินิจของศาลที่จะมีคำสั่งตามที่เห็นสมควร”
พิพากษายืน