แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีผลเด็ดขาดตามกฎหมาย เมื่อมิได้มีพระบรมราชโองการของพระองค์ท่านเองหรืออำนาจเด็ดขาดอื่นใดอันมีเจตนารมณ์ยกเลิกเพิกถอนโดยเฉพาะแล้ว พระบรมราชโองการนั้นย่อมมีผลอยู่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 และบรรพ 4เป็นกฎหมายทั่วไปที่มีผลเพียงยกเลิกกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีแล้ว ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือซึ่งแย้งกับบทแห่งประมวลกฎหมายดังกล่าวเท่านั้น ไม่มีข้อความใดระบุให้ยกเลิกพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งมีผลอย่างกฎหมายแต่อย่างใด ข้อความในพระบรมราชโองการจึงยังมีผลบังคับอยู่ เมื่อพระบรมราชโองการดังกล่าวมีข้อความแสดงถึงการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6ทรงมีพระราชประสงค์ให้ที่ดินพิพาทเป็นที่ฝังศพบิดาของพระยารัตนเศรษฐีกับบุคคลในตระกูล เป็นการถาวร หากมีบุคคลใดก็ตามฟ้องร้องว่ากล่าวเพื่อบังคับเอาที่ดินพิพาทไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ก็ห้ามมิให้ผู้พิพากษารับฟ้องรับวินิจฉัยคดีให้ผิดไปพระบรมราชโองการดังกล่าวย่อมมีพระราชประสงค์รวมถึงการห้ามมิให้ฟ้องร้องเอาที่ดินพิพาทโดยอ้างการครอบครองปรปักษ์ด้วย เพราะถ้าหากยินยอมให้บุคคลภายนอกอ้างสิทธิดังกล่าวได้ ก็ย่อมเป็นช่องทางให้ทายาทหรือผู้จัดการมรดกในตระกูลพระยารัตนเศรษฐีเจ้าของที่ดินพิพาทคนใดคนหนึ่งหลีกเลี่ยงข้อความและขัดต่อพระราชประสงค์ในพระบรมราชโองการ โดยวิธีปล่อยให้ผู้รับโอนที่ดินพิพาทครอบครองปรปักษ์และใช้ที่ดินพิพาทไปแสดงประโยชน์อย่างอื่นนอกจากใช้เป็นฮวงซุ้ยที่ฝังศพในตระกูลพระยารัตนเศรษฐี ดังนั้นจำเลยทุกคนจึงไม่อาจยกอายุความการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ การที่จำเลยและบริวารเข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทและได้ขอออกโฉนดในที่ดินพิพาท จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ถึงแม้พินัยกรรมจะมีข้อความห้ามทายาทของพระยารัตนเศรษฐีนำที่ดินพิพาทไปหาผลประโยชน์ก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทุกคนกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยทุกคนก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จากการที่โจทก์ไม่สามารถจะทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าทายาทของพระยารัตนเศรษฐีจะมีสิทธินำที่ดินพิพาทไปหาผลประโยชน์ตามความหมายของพินัยกรรมนั้นอย่างไรหรือไม่
ย่อยาว
คดี 32 สำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทุกสำนวนว่าโจทก์ เรียกจำเลยสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1และเรียกจำเลยสำนวนต่อ ๆ มาว่า จำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 53ตามลำดับ
โจทก์ทั้ง 32 สำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องทำนองเดียวกันว่าโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของพระยารัตนเศรษฐีตามคำสั่งศาลพระยารัตนเศรษฐีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินซึ่งรวมที่ดินพิพาทอยู่ด้วย โดยเป็นที่ดินที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 พระมหากษัตริย์ไทยในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีพระบรมราชโองการพระราชทานแก่พระยารัตนเศรษฐี ต่อมาพระยารัตนเศรษฐีได้ทำพินัยกรรมให้ที่ดินพิพาทเป็นที่กลางสำหรับตระกูล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พินัยกรรมเป็นไปตามประสงค์และถูกต้องตามพระราชกำหนดกฎหมายแล้ว ต่อมาจำเลยทั้งหมดได้บุกรุกขอออกโฉนดที่ดินพิพาทเป็นการละเมิดต่อทรัพย์สินกองมรดกพระยารัตนเศรษฐี ขอให้เพิกถอนการขอออกโฉนดของจำเลยทั้งหมดและบังคับให้จำเลยทั้งหมดและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท ทั้งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ทำไว้ กับให้จำเลยทั้งหมดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นรายเดือนตามจำนวนเนื้อที่ดินที่จำเลยแต่ละคนครอบครองซึ่งโจทก์อาจนำออกใช้ประโยชน์ได้ นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งหมดและบริวารจะออกจากที่ดินดังกล่าว
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 45 และที่ 52 ให้การและแก้ไขคำให้การทำนองเดียวกันว่า ที่ดินที่จำเลยขอออกโฉนดอยู่นอกเขตที่ดินพระราชทานหากฟังว่าอยู่ในเขตที่พระราชทาน จำเลยก็ได้ครอบครองโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี ได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมายแล้ว ค่าเสียหายจริงไม่เกิน 200 บาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 46 ถึงที่ 51 และที่ 53 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาททั้งหมดอยู่ในเขตที่ดินพระราชทานของโจทก์ แต่จำเลยได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้ง 32 สำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งหมดไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ และการกระทำของจำเลยและบริวารเป็นการละเมิดต่อโจทก์ พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการออกโฉนดที่ดินพิพาทของจำเลยทั้งหมด ให้จำเลยทั้งหมดและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทและให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ทำไว้ในที่ดินพิพาทออกไป ให้จำเลยแต่ละสำนวนใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นรายเดือนตามจำนวนเนื้อที่ดินที่จำเลยแต่ละคนครอบครองนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งหมดและบริวารจะออกไปจากที่ดินพิพาท
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3, ที่ 5 ถึงที่ 16 ที่ 18, ที่ 20ถึงที่ 45 และที่ 52 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีพระบรมราชโองการพระราชทานที่ดินซึ่งรวมที่ดินพิพาทอยู่ด้วยให้แก่พระยารัตนเศรษฐีสำหรับทำเป็นฮวงซุ้ยฝังศพญาติวงศ์ในตระกูลต่อมาพระยารัตนเศรษฐีได้ทำหนังสือพินัยกรรมให้ที่ดินที่ได้รับพระราชทานดังกล่าวคงไว้เป็นที่กลางสำหรับตระกูล ให้อยู่เป็นปกติถาวรสืบไปในภายหน้าขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ขอพระราชทานพระบรมราชโองการให้พินัยกรรมที่ได้ทำไว้ให้มีผลใช้บังคับต่อไปพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้หนังสือพินัยกรรมเป็นอันใช้ได้เหมือนหนังสือพินัยกรรมที่ได้ทำถูกต้องตามพระราชกำหนดกฎหมายทุกประการ ที่ดินพิพาททั้งหมดอยู่ในเขตที่ดินพระราชทานของโจทก์ คดีมีปัญหาว่าจำเลยทุกคนจะอ้างการได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ต่อโจทก์ได้หรือไม่ ที่จำเลยทุกคนฎีกาว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2468 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 3บัญญัติว่า “…ให้ยกเลิกบรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ๆในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในประมวลกฎหมายนี้ หรือซึ่งแย้งกับบทแห่งประมวลกฎหมายนี้” และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 4 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2475 ฉะนั้น โจทก์จึงอาจสูญเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการที่บุคคลภายนอกรวมทั้งจำเลยครอบครองปรปักษ์ได้นั้น เห็นว่าพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีผลเด็ดขาดตามกฎหมาย เมื่อมิได้มีพระบรมราชโองการของพระองค์ท่านเองหรืออำนาจเด็ดขาดอื่นใดอันมีเจตนารมณ์ยกเลิกเพิกถอนโดยเฉพาะแล้ว พระบรมราชโองการนั้นย่อมยังมีผลอยู่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 และบรรพ 4ที่จำเลยทุกคนนำขึ้นมาอ้างเป็นกฎหมายทั่วไปที่มีผลเพียงยกเลิกกฎหมายกฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีแล้วในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือซึ่งแย้งกับบทแห่งประมวลกฎหมายดังกล่าวเท่านั้น ไม่มีข้อความใดระบุให้ยกเลิกพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งมีผลอย่างกฎหมายแต่อย่างใด ข้อความในพระบรมราชโองการจึงยังมีผลบังคับอยู่ เมื่อพระบรมราชโองการดังกล่าวมีข้อความแสดงถึงการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชประสงค์ให้ที่ดินพิพาทเป็นที่ฝังศพบิดาของพระยารัตนเศรษฐีกับบุคคลในตระกูล เป็นการถาวร หากมีบุคคลใดก็ตามฟ้องร้องว่ากล่าวเพื่อบังคับเอาที่ดินพิพาทไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ก็ห้ามมิให้ผู้พิพากษารับฟ้องรับวินิจฉัยคดีให้ผิดไปพระบรมราชโองการดังกล่าวย่อมมีพระราชประสงค์รวมถึงการห้ามมิให้ฟ้องร้องเอาที่ดินพิพาทโดยอ้างการครอบครองปรปักษ์ด้วย เพราะถ้าหากยินยอมให้บุคคลภายนอกอ้างสิทธิดังกล่าวได้ ก็ย่อมเป็นช่องทางให้ทายาทหรือผู้จัดการมรดกในตระกูล พระยารัตนเศรษฐีเจ้าของที่ดินพิพาทคนใดคนหนึ่งหลีกเลี่ยงข้อความและขัดต่อพระราชประสงค์ในพระบรมราชโองการโดยวิธีปล่อยให้ผู้รับโอนที่ดินพิพาทครอบครองปรปักษ์และใช้ที่ดินพิพาทไปแสดงประโยชน์อย่างอื่นนอกจากใช้เป็นฮวงซุ้ยที่ฝังศพในตระกูล พระยารัตนเศรษฐี ดังนั้นจำเลยทุกคนจึงไม่อาจยกอายุความการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทขึ้นต่อสู้โจทก์ได้การที่จำเลยและบริวารเข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทและได้ขอออกโฉนดในที่ดินพิพาทจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์
มีปัญหาต่อไปตามฎีกาของจำเลยทุกคนว่า โจทก์มิได้นำสืบว่าโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างใด ทั้งพินัยกรรมก็มีข้อความห้ามทายาทของพระยารัตนเศรษฐีนำที่ดินพิพาทไปหาผลประโยชน์ โจทก์จะเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่เพียงใด เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทุกคนกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยทุกคนก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จากการที่โจทก์ไม่สามารถจะทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ โดยไม่คำนึงว่าทายาทพระยารัตนเศรษฐีจะมีสิทธินำที่ดินพิพาทไปหาผลประโยชน์ตามความหมายของพินัยกรรมอย่างไรหรือไม่และเมื่อพิเคราะห์จำนวนค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยแต่ละสำนวนชดใช้แก่โจทก์ตามที่โจทก์เรียกร้อง และจำเลยทุกคนไม่ได้นำสืบปฏิเสธโดยคำนวณตามจำนวนเนื้อที่ที่จำเลยแต่ละคนเข้ายึดถือครอบครองแล้ว ก็เห็นว่า เหมาะสมแก่รูปคดี ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะแก้ไข
พิพากษายืน