คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 374/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานนำเงินตราออกนอกประเทศโดยมิได้รับอนุญาตสำนวนหนึ่งและฐานนำคนต่างด้าวออกนอกราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาตอีกสำนวนหนึ่ง และจำเลยอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาเฉพาะความผิดสำนวนแรกซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายต่างกับความผิดสำนวนหลังซึ่งจำเลยมิได้อุทธรณ์คดีที่มิได้อุทธรณ์ขึ้นมาจึงเป็นอันเสร็จเด็ดขาดแล้ว ฉะนั้น ศาลอุทธรณ์ย่อมไม่มีอำนาจที่จะรื้อฟื้นขึ้นมาพิจารณาอีกได้

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลรวมพิจารณาพิพากษา

สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจนำเงิน 18,000 บาท ออกนอกประเทศไทย ผ่านเขตแดนทางน้ำจะเข้าไปประเทศกัมพูชาโดยมิได้รับอนุญาตขอให้ลงโทษ

สำนวนที่สอง โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้ร่วมกันนำนายเต๊ก แซ่เอี้ยวซึ่งเป็นคนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย ขอให้ลงโทษ

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นฟังว่า นายหลีจำเลยนำเงินตราออกนอกประเทศโดยมิได้รับอนุญาต พิพากษาให้จำคุกมีกำหนด 2 เดือน และพิพากษาว่า จำเลยในสำนวนที่สองมีความผิดตามกฎหมายที่โจทก์อ้าง ให้ปรับจำเลยคนละ 200 บาท

นายหลีจำเลยผู้เดียวอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน

โจทก์ฎีกา

มีปัญหาข้อกฎหมายมาสู่ศาลฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเลยไปถึงสำนวนซึ่งโจทก์จำเลยมิได้อุทธรณ์ขึ้นมา โดยอ้างว่าเป็นความผิดเกี่ยวเนื่องกันและเป็นเหตุในลักษณะคดี จึงให้ยกฟ้องเสียด้วยนั้นศาลฎีกาเห็นว่า คดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายไสวกับนายหลีในความผิดฐานนำคนต่างด้าวออกนอกราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาตเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษโจทก์จำเลยมิได้อุทธรณ์ขึ้นมา คงมีอุทธรณ์เฉพาะคดีซึ่งมีข้อหาฐานนำเงินตราออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินอันเป็นความผิดตามกฎหมายต่างกัน คดีที่มิได้อุทธรณ์ขึ้นมาจึงเป็นอันเสร็จเด็ดขาดยุติแล้วศาลอุทธรณ์ย่อมไม่มีอำนาจที่จะรื้อฟื้นขึ้นมาพิจารณายกฟ้องโจทก์ได้

พิพากษาแก้เฉพาะจำเลยในคดีอาญาดำของศาลอุทธรณ์ที่ 1497/2503เป็นว่า ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share