คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1346/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยอ้างว่า ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นอันดับที่ 3 ได้รับเลือกตั้งโดยมิชอบ อันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 51แห่ง พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 ดังนี้ผู้ร้องคงมีสิทธิเพียงยื่นคำร้องคัดค้านเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว มาตรา 78 เท่านั้นผู้ร้องซึ่งได้รับคะแนนเลือกตั้งเป็นอันดับที่ 4 ไม่มีสิทธิร้องขอให้ผู้ร้องเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนผู้ได้รับคะแนนเลือกตั้งเป็นอันดับที่ 3 เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นเช่นนั้นได้ และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 มาตรา 89,102 และพ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 มาตรา 77แสดงว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมมีได้แต่โดยการเลือกตั้งเท่านั้น.

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดศรีสะเกษว่า ผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ ในเขตเลือกตั้งที่ 2 ได้เครื่องหมายประจำตัวผู้สมัครหมายเลข 7 เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2531 ซึ่งเป็นวันเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษได้ประกาศผลการเลือกตั้งว่า นายปิยะณัฐ วัชราภรณ์นายสวัสดิ์ สืบสายพรหม และนายประโภชณ์ สภาวสุ ได้รับการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 2 โดยนายประโภชณ์ได้รับคะแนน 51,976 คะแนนเป็นอันดับ 3 ส่วนผู้ร้องได้คะแนน 49,384 คะแนน เป็นอันดับ 4ผู้ร้องคัดค้านว่านายประโภชณ์ได้รับเลือกตั้งโดยมิชอบ เพราะเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง กรรมการตรวจคะแนน และเจ้าหน้าที่คะแนนประจำหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 2 ทุกหน่วยเลือกตั้งจงใจนับคะแนนของผู้ร้องกับนายประโภชณ์ผิดไปจากความเป็นจริง คือนับคะแนนเลือกตั้งที่ลงคะแนนให้นายประโภชณ์ซึ่งเป็นบัตรเสียให้เป็นบัตรดี จำนวน 4,000 คะแนน และนับคะแนนเลือกตั้งที่ลงคะแนนให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นบัตรดีให้เป็นบัตรเสียจำนวน 5,000 คะแนน ความจริงผู้ร้องต้องได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ยังทำการแก้ไขเอกสารส.ส.4 (รายงานแสดงผลการนับคะแนน) และ ส.ส.5(ประกาศผลนับคะแนน) ที่ส่งไปจังหวัดให้ผิดไปจากความเป็นจริงขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษประกาศว่านายประโภชณ์ สภาวสุได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตเลือกตั้งที่ 2 ของจังหวัดศรีสะเกษเป็นการไม่ชอบ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษประกาศใหม่ว่า ผู้ร้องเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดศรีสะเกษเป็นอันดับที่ 3 หากผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา
ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ผู้คัดค้านที่ 1 และนายประโภชณ์สภาวสุ ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านเป็นใจความทำนองเดียวกันว่าเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง กรรมการตรวจคะแนน และเจ้าหน้าที่คะแนนประจำหน่วยเลือกตั้งทุกหน่วยในเขตเลือกตั้งที่ 2ได้ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย มิได้นับบัตรเลือกตั้งหรือคะแนนของผู้ร้องกับของนายประโภชณ์ให้ผิดไปจากความเป็นจริงแต่อย่างใด และมิได้มีการแก้ไขเอกสาร ส.ส.4 และ ส.ส.5 คำร้องของผู้ร้องไม่ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา จึงเป็นคำร้องที่เคลือบคลุมศาลจังหวัดศรีสะเกษได้พิจารณาคำร้องและคำคัดค้านแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ไม่จำต้องไต่สวน จึงให้งดการไต่สวน และทำความเห็นส่งสำนวนมายังศาลฎีกาว่าคำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุม ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง และคำขอท้ายคำร้องที่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดศรีสะเกษ แทนนายประโภชณ์ สภาวสุ นั้น ศาลฎีกาก็ไม่อาจบังคับให้ได้ เพราะสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมมีได้แต่โดยการเลือกตั้ง ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เห็นควรยกคำร้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า ตามคำขอท้ายคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษประกาศว่านายประโภชณ์ สภาวสุ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตเลือกตั้งที่ 2 ของจังหวัดศรีสะเกษเป็นการไม่ชอบ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษประกาศใหม่ว่าผู้ร้องเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดศรีสะเกษ เป็นอันดับที่ 3 นั้น ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิร้องขอเช่นนั้นได้ เพราะตามคำร้องของผู้ร้องอ้างว่านายประโภชณ์ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นอันดับที่ 3 ได้รับเลือกตั้งโดยมิชอบอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ. 2522 นั้น ผู้ร้องคงมีสิทธิเพียงยื่นคำร้องคัดค้านเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ. 2522 มาตรา 78 เท่านั้น ผู้ร้องซึ่งได้รับคะแนนเลือกตั้งเป็นอันดับที่ 4 ไม่มีสิทธิร้องขอให้ผู้ร้องเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดศรีสะเกษแทนนายประโภชณ์ผู้ที่ได้รับคะแนนเลือกตั้งเป็นอันดับที่ 3 แต่อย่างใด เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นเช่นนั้นได้ และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 มาตรา 89 และมาตรา 102 กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้ง และสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเริ่มแต่วันเลือกตั้ง และพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ. 2522 มาตรา 77 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ. 2522 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2529 มาตรา 6 บัญญัติไว้มีข้อความสำคัญว่า ผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นผู้สมัครของพรรคการเมืองซึ่งได้คะแนนมากที่สุด ในกรณีที่เขตเลือกตั้งใดมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มากกว่าหนึ่งคนให้ผู้สมัครของพรรคการเมืองซึ่งได้คะแนนมากตามลำดับลงมาเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง เช่นนี้ แสดงว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมมีได้แต่โดยการเลือกตั้ง ดังนี้ แม้ผู้ร้องจะอ้างเหตุประการอื่นอีกว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ยังได้แก้ไขเอกสาร ส.ส.4 (รายงานแสดงผลการนับคะแนน) และ ส.ส.5(ประกาศผลการนับคะแนน) ที่ส่งไปจังหวัดให้ผิดไปจากความจริงโดยเอกสาร ส.ส.4 และ ส.ส.5 ที่ส่งไปนั้น มีจำนวนคะแนนและรายละเอียดไม่ตรงกับเอกสาร ส.ส.4 และ ส.ส.5 ที่มีอยู่ในหีบบัตรเลือกตั้ง ศาลก็ไม่อาจบังคับตามคำขอท้ายคำร้องของผู้ร้องได้แต่ประการใด ดังนั้น ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ผู้ร้องเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ ในเขตเลือกตั้งที่ 2 เป็นลำดับที่ 3 ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2531 ไม่จำต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่าคำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง หรือไม่ด้วยเหตุดังได้วินิจฉัยมาแล้ว จึงไม่อาจรับคำร้องไว้พิจารณาได้”
มีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง

Share