คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1346/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นนิติบุคคลต่างประเทศ ได้ใช้นาม ‘คริสเตียนดีออร์’ และ ‘ดีออร์’ แพร่หลายรวมทั้งในประเทศไทยเป็นชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าจำเลยไม่มีสิทธิเอาคำว่า ‘ดีออร์’ ไปใช้ประกอบเป็นนามของตน ศาลพิพากษาห้ามมิให้จำเลยใช้คำว่า ‘ดีออร์’ ประกอบชื่อร้านค้าของจำเลย

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาห้ามมิให้จำเลยใช้คำว่า “ดีออร์” ประกอบชื่อร้านค้าให้เพิกถอนการจดทะเบียนคำว่า “ดีออร์” ออกจากชื่อห้างให้ใช้ค่าเสียหาย3,250 บาท กับเดือนละ 500 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ยกคำขอเกี่ยวกับค่าเสียหาย จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้จากคำฟ้องและพยานหลักฐานของโจทก์ ซึ่งจำเลยมิได้นำสืบหักล้างว่าโจทก์ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดในประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2501 ใช้ชื่อว่า คริสเตียนดีออร์(เอกสารหมาย จ.8) และได้จดทะเบียนไว้ในเมืองฮ่องกง (เอกสารหมาย จ.9)สาธารณรัฐสิงคโปร์ (เอกสารหมาย จ.10) ประเทศออสเตรเลีย (เอกสารหมาย จ.11, จ.12) สาธารณรัฐอาฟริกาใต้ (เอกสารหมาย จ.13, จ.15) ประเทศอังกฤษ (เอกสารหมาย จ.14) ประเทศญี่ปุ่น (เอกสารหมาย จ.20) โจทก์ใช้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าว่า คริสเตียนดีออร์และดีออร์ ได้ความจากพยานหลักฐานของจำเลยว่า จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2517 มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ (เอกสารหมาย ล.1) ศาลฎีกาเห็นว่ากรณีแห่งคดีนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิในนามของบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18 ซึ่งให้สิทธิแก่บุคคลผู้เป็นเจ้าของนามอันชอบที่จะใช้ได้ ที่ต้องเสื่อมเสียประโยชน์เพราะการที่มีผู้อื่นมาใช้นามเดียวกันโดยมิได้รับอำนาจให้ใช้ในอันที่จะเรียกให้บุคคลอื่นนั้นระงับความเสียหายได้ และเป็นที่พึงวิตกว่าจะต้องเสียหายอยู่สืบไป จะร้องขอต่อศาลให้สั่งห้ามก็ได้ โจทก์ได้ใช้นามว่า “คริสเตียนดีออร์” และ “ดีออร์” มาตั้งแต่ พ.ศ. 2501 และได้ใช้แพร่หลายทั่วไปในนานาประเทศรวมทั้งประเทศไทย โจทก์มีสิทธิโดยชอบที่จะใช้นามดังกล่าว จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเอาคำว่า “ดีออร์”อันเป็นนามของโจทก์ไปใช้ประกอบเป็นนามของตน หากจำเลยที่ 1 เอานามของโจทก์ไปใช้ เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียประโยชน์ โจทก์ขอให้ระงับความเสียหายและขอให้ศาลสั่งห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ใช้นามนั้นได้ ที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่าที่ตั้งชื่อร้านว่า “ดีออร์” นั้น จำเลยที่ 2 เอามาจากคำว่า “ดี” และเอามาจากอักษรตัวหน้าของชื่อจำเลยที่ 2 และบุคคลในครอบครัวที่มีอักษร “อ” นำหน้าทั้งนั้น จึงให้ชื่อร้านว่า “ดีออร์” นั้น ไม่ลงรอยกับคำให้การของจำเลยที่ว่าจำเลยนิยมคำว่า “ดี” ซึ่งเป็นภาษาไทย มีความหมายในตัว เมื่อผู้ใดพบเห็นชื่อร้านจะได้นิยมชมชอบว่า อ๋อร้านนี้ดี จึงได้ตั้งชื่อร้าน แต่เพื่อให้ทันสมัยใช้ภาษาอังกฤษเป็นดีออร์ และที่จำเลยที่ 2 เบิกความว่าไม่ทราบว่ามีร้านชื่อดีออร์อยู่ ไม่เคยทราบว่าคริสเตียนดีออร์เป็นชื่ออะไรของใครนั้นก็ขัดกับเหตุผล เพราะจำเลยที่ 2 เบิกความตอบทนายโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ขายแว่นตามาประมาณ 10 กว่าปีแล้วแต่มาตั้งร้านปัจจุบันเมื่อ พ.ศ. 2517 เดิมขายที่ร้านจักรวาฬซึ่งปัจจุบันจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการร้านนี้ และที่ร้านจักรวาฬนี้ขายแว่นตาทุกยี่ห้อรวมทั้งของโจทก์ด้วย โดยซื้อของโจทก์มาจากร้านฮอลลีวูด รู้จักห้างฮอลลีวูดมา 4 – 5 ปีและห้างนี้เป็นตัวแทนจำหน่ายแว่นตาดีออร์ ข้อต่อสู้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ในเรื่องเสื่อมเสียประโยชน์โจทก์นำสืบได้ความว่าหากผู้ใดต้องการจะเอาชื่อของโจทก์ไปใช้จะต้องได้รับอนุญาตและเสียเงินค่าตอบแทนให้โจทก์ ห้างหุ้นส่วนฮอลลีวูดผู้แทนจำหน่ายแว่นตาของโจทก์ในประเทศไทยเคยขอใช้ชื่อว่าร้านดีออร์แต่ทางโจทก์ไม่อนุญาต ฟังได้ว่าการเอานามของโจทก์ไปใช้โดยมิได้รับอนุญาตเป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียประโยชน์ โจทก์มีสิทธิขอให้ศาลสั่งห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ใช้นามของโจทก์ได้ ศาลชั้นต้นพิพากษาห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ใช้คำว่า “ดีออร์” ประกอบชื่อร้านของจำเลยที่ 1 และศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาแก้ในข้อนี้ คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”

พิพากษายืน

Share