แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่5ทรงมีพระบรมราชโองการพระราชทานที่ดินให้ ร. เพื่อใช้เป็นฮวงซุ้ยฝังศพบุคคลในตระกูลของ ร. ตลอดไปพินัยกรรมของ ร. ที่ทำขึ้นทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่6ในเวลาต่อมามีข้อความว่าให้ที่ดินพิพาทเป็นที่กลางสำหรับตระกูลมิให้เป็นทรัพย์สมบัติส่วนตัวของผู้หนึ่งผู้ใดในตระกูลเป็นอันขาดแสดงเจตนารมณ์ว่าให้ผู้สืบตระกูลต่างมีส่วนร่วมในที่ดินไม่ให้โอนขายจำหน่ายซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการข้อความว่าพินัยกรรมเป็นการทำถูกต้องตามพระราชกำหนดกฎหมายถ้าจะมีผู้ใดไปฟ้องร้องว่ากล่าวขอให้เปลี่ยนแปลงไปจากความประสงค์ของ ร. ห้ามอย่าให้ผู้พิพากษารับไว้พิจารณาไว้พิจารณาให้ผิดไปจากความประสงค์นี้แสดงถึงการที่ทรงรับรองความถูกต้องของพินัยกรรมและมีพระราชประสงค์ให้ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ฝังศพในตระกูลของ ร. เป็นการถาวรดั่งข้อความในพินัยกรรมหากมีบุคคลใดก็ตามฟ้องร้องว่ากล่าวเพื่อบังคับเอาที่ดินพิพาทไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ก็ห้ามมิให้ผู้พิพากษารับฟ้องรับวินิจฉัยคดีให้ผิดไปจากพินัยกรรมพระบรมราชโองการดังกล่าวจึงมีพระราชประสงค์รวมถึงการห้ามมิให้ฟ้องร้องเอาที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ด้วยที่ดินพิพาทจึงไม่อาจถูกครอบครองปรปักษ์ได้ พระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีผลเด็ดขาดตามกฎหมายเมื่อมิได้มีพระบรมราชโองการของพระองค์หรืออำนาจเด็ดขาดอื่นใดอันมีเจตนารมณ์ยกเลิกเพิกถอนโดยเฉพาะแล้วพระบรมราชโองการนั้นย่อมยังมีผลอยู่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ1และบรรพ4เป็นกฎหมายทั่วไปที่มีผลเพียงยกเลิกกฎหมายกฎและข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีแล้วในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือซึ่งแย้งกับบทแห่งประมวลกฎหมายดังกล่าวเท่านั้นไม่มีข้อความใดระบุให้ยกเลิกพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งมีผลอย่างกฎหมายแต่อย่างใดข้อความในพระบรมราชโองการจึงยังมีผลบังคับอยู่จำเลยทุกคนไม่อาจยกอายุความการครอบครองปรปักษ์ขึ้นต่อสู้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ร. การที่จำเลยและบริวารเข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทและได้ขอออกโฉนดในที่ดินพิพาทจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยเข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์จำเลยก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์อันเนื่องมาจากการที่โจทก์ไม่สามารถจะทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าทายาทของ ร. เจ้าของที่ดินพิพาทจะมีสิทธินำที่ดินพิพาทไปหาผลประโยชน์ตามที่ ร. ทำพินัยกรรมระบุไว้ได้หรือไม่
ย่อยาว
คดี 32 สำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทุกสำนวนว่าโจทก์ เรียกจำเลยสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1และเรียกจำเลยสำนวนต่อ ๆ มาว่า จำเลยที่ 2 ถึง จำเลยที่ 53ตามลำดับ
โจทก์ทั้ง 32 สำนวนฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของพระยา รัตนเศรษฐีหรือพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิมก๊อง ณ ระนอง) ตามคำสั่งศาล พระยา รัตนเศรษฐี เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินตำบล เขาระฆังทอง อำเภอบางนอน แขวงเมืองระนอง มีอาณาเขตข้างเคียงโดยประมาณดังนี้ทิศเหนือจดหลักกรมการปักไว้เป็นเขตยาว 18 เส้น ทิศใต้จดตลิ่งลงที่เลนเป็นเขตยาว 20 เส้น ทิศตะวันออกจดลำคลองเป็นเขต กว้าง20 เส้น 15 วา ทิศตะวันตกจดลำคลองเป็นเขต กว้าง 15 เส้นเป็นที่ดินซึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระบรมราชโองการพระราชทานแก่พระยา รัตนเศรษฐี เมื่อวันที่28 มกราคม ร.ศ. 109 หรือ พ.ศ. 2433 ต่อมาวันที่ 25 มกราคมร.ศ. 130 หรือ พ.ศ. 2454 พระยา รัตนเศรษฐี ได้ทำพินัยกรรมแสดงความประสงค์ให้ที่ดินที่ได้รับพระราชทานดังกล่าวเป็นที่กลางสำหรับตระกูลเป็นปกติถาวรสืบไป ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พินัยกรรมเป็นไปตามความประสงค์และถูกต้องตามพระราชกำหนดกฎหมายแล้ว เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2524โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอรังวัดออกโฉนดที่ดินพระราชทาน ปรากฏว่าจำเลยทั้งหมดได้บุกรุกขอออกโฉนดที่ดินที่พระราชทานโดยแจ้งเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าเป็นที่รกร้างว่างเปล่า จำเลยเข้ายึดถือครอบครองทำประโยชน์ อ้างสิ่งที่มีอยู่แล้วในที่ดินว่าจำเลยทำขึ้น เป็นการละเมิดต่อทรัพย์สินกองมรดกพระยา รัตนเศรษฐี ซึ่งโจทก์มีอำนาจจัดการอยู่ ขอให้เพิกถอนการขอออกโฉนดของจำเลยทั้งหมด และบังคับให้จำเลยทั้งหมดและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาททั้งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ทำไว้ กับให้จำเลยทั้งหมดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 45 และที่ 52 ให้การว่า จำเลยได้ครอบครองโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเกินกว่า 10 ปีได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 46 ถึงที่ 51 และที่ 53 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้ง 32 สำนวนอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการออกโฉนดที่ดินพิพาทของจำเลยทั้งหมด ให้จำเลยทั้งหมดและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทและให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ทำไว้ในที่ดินพิพาทออกไป และให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3, ที่ 5 ถึงที่ 16,ที่ 18, ที่ 20 ถึงที่ 45 และที่ 52 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 28 มกราคม ร.ศ. 109 หรือ พ.ศ. 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีพระบรมราชโองการพระราชทานที่ดินตำบล เขาระฆังทอง อำเภอบางนอน แขวง เมืองระนอง มีอาณาเขตทิศเหนือยาว 18 เส้น จดหลักกรมการปักไว้เป็นเขต ทิศใต้ยาว 20 เส้น จดตลิ่งลงที่เลนเป็นเขตทิศตะวันออกยาว 20 เส้น 15 วา จดลำคลองเป็นเขต ทิศตะวันตกยาว15 เส้น จดลำคลองเป็นเขต ให้แก่ พระยา รัตนเศรษฐี หรือ พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิมก๊อง ณ ระนอง) สำหรับทำเป็นฮวงซุ้ยที่ฝังศพญาติวงศ์ในตระกูลปรากฏตามสำเนาพระบรมราชโองการเอกสารหมาย จ.3 และเมื่อวันที่ 25 มกราคม ร.ศ. 130 หรือพ.ศ. 2454 พระยา รัตนเศรษฐี ได้ทำหนังสือพินัยกรรมแสดงความประสงค์ให้ที่ดินที่ได้รับพระราชทานดังกล่าวให้คงไว้เป็นที่กลางสำหรับตระกูลให้อยู่เป็นปกติถาวรสืบไปในภายหน้า ขึ้นทูลเกล้าฯถวาย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6ขอพระราชทานพระบรมราชโองการให้พินัยกรรมที่ได้ทำไว้ให้มีผลใช้บังคับต่อไป พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้หนังสือพินัยกรรมเป็นอันใช้ได้เหมือนหนังสือพินัยกรรมที่ได้ทำถูกต้องตามพระราชกำหนดกฎหมายทุกประการ ตามสำเนาหนังสือพินัยกรรมและสำเนาพระบรมราชโองการเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ตามลำดับ ที่ดินพิพาททั้งหมดอยู่ในเขตที่ดินพระราชทานของโจทก์ คดีมีปัญหาว่าจำเลยทุกคนจะอ้างการได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ต่อโจทก์ได้หรือไม่ โดยจำเลยทุกคนฎีกาว่า ข้อความในพระบรมราชโองการพระราชทานที่ดินเอกสารหมาย จ.3 มิได้ระบุว่าที่ดินพิพาทเป็นที่หลวงหวงห้ามหรือสาธารณสมบัติของแผ่นดินและมิได้ระบุห้ามบุคคลเข้ายึดถือครอบครองหรือยกอายุความขึ้นต่อสู้ส่วนข้อความในพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.4 และพระบรมราชโองการหมาย จ.5 ก็ระบุให้ใช้ได้ระหว่างทายาทในตระกูลผู้รับโอนมรดกของพระยา รัตนเศรษฐี เท่านั้น มิได้หมายความถึงบุคคลภายนอกหรือจำเลยแต่อย่างใด ในข้อนี้ศาลฎีกาพิเคราะห์สำเนาพระบรมราชโองการพระราชทานที่ดินเอกสารหมาย จ.3 ปรากฏข้อความว่า “…เราได้อนุญาตยกที่นี้ให้แก่พระยา รัตนเศรษฐี แล้วพระยา รัตนเศรษฐี และผู้ที่จะสืบตระกูลต่อไปจะก่อสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นในที่นั้น ก็ก่อสร้างได้ตามประสงค์ ให้ที่ตำบลซึ่งกล่าวมานี้คงเป็นที่สำหรับฝังศพในตระกูลพระยา รัตนเศรษฐี สืบไป ผู้ใดผู้หนึ่งจะทำลายรื้อถอนสิ่งที่ตระกูลของพระยา รัตนเศรษฐี ก่อสร้างไว้โดยความกดขี่อย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้…”เห็นว่า ข้อความในพระบรมราชโองการ พระราชทานที่ดินเอกสารหมาย จ.3 แสดงถึงพระราชประสงค์ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานที่ดินให้พระยา รัตนเศรษฐีหรือพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิมก๊อง) เพื่อใช้เป็นฮวงซุ้ยฝังศพบุคคลในตระกูลพระยา รัตนเศรษฐี ตลอดไป ไม่พึงประสงค์ให้บุคคลภายนอกคนใดคนหนึ่งละเมิดสิทธิ ทำลายรื้อถอนสิ่งที่บุคคลในตระกูลพระยา รัตนเศรษฐี ก่อสร้างในที่ดินดังกล่าว ส่วนสำเนาพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.4ของพระยา รัตนเศรษฐี ก็ปรากฏข้อความในข้อที่ 3 ว่า “…เมื่อข้าพเจ้ามรณภาพแล้วให้ที่บ้าน…แห่งหนึ่ง ที่หวงจุ้ย…แห่งหนึ่งทั้งสองแห่งนี้…เป็นที่กลางสำหรับตระกูล มิให้ผู้หนึ่งผู้ใดในตระกูลของข้าพเจ้ามีอำนาจที่จะเอาไปจำหน่าย ให้ปัน ซื้อขายแลกเปลี่ยนหรือเอาไปตีเป็นประกันหนี้สินอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นอันขาด มิให้นับว่าที่ 2 รายนี้เป็นทรัพย์สมบัติส่วนตัวของผู้หนึ่งผู้ใดในตระกูลของข้าพเจ้าเป็นอันขาด” แสดงเจตนารมณ์ว่าให้ผู้สืบตระกูลต่างมีสิทธิร่วมกันในที่ดินไม่ให้โอนขายจำหน่ายที่ดินดังกล่าวทั้งยังมีหน้าที่ตามพินัยกรรมข้อ 5 ว่า “…ให้ผู้สืบตระกูล ของข้าพเจ้าเป็นผู้ปกครองรักษาที่ทั้งสองแห่ง…มีหน้าที่จะจัดการให้เป็นไปตามคำสั่ง..ถ้าและผู้สืบตระกูลไม่เอาใจรักษา…ถ้าและมีวงศ์ญาติ…ตั้งแต่สี่คนขึ้นไปพร้อมกัน ขอให้ผู้สืบตระกูลซึ่งปกครองรักษาที่จัดการอย่างหนึ่งอย่างใดให้ต้องตามเจตนาของข้าพเจ้าไม่ได้…ก็ให้เรียกแต่บรรดาวงศ์ญาติ…ประชุมกันปรึกษาหารือ…ถ้าไม่ตกลงกัน…ก็ให้ทำฎีกาขึ้นทูลเกล้าแล้วแต่จะทรงพระราชดำริห์เห็นสมควรว่าจะเปลี่ยนผู้ที่สืบตระกูลหรือจะมีพระราชดำรัส สั่งประการใดเป็นเด็ดขาด ต้องเป็นไปตามพระราชดำริห์…” ซึ่งแสดงว่า พระยา รัตนเศรษฐี เจ้ามรดกไม่ประสงค์ให้ที่ดินพิพาทเปลี่ยนมือเปลี่ยนเจ้าของไปอยู่กับบุคคลอื่น ถ้าหากทำตามความประสงค์ไม่ได้ ให้ทำฎีกาทูลเกล้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่วนพระบรมราชโองการเอกสารหมาย จ.5มีข้อความว่า “ด้วย พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิมกอง) ได้นำหนังสือพินัยกรรม…แสดงความประสงค์ถึงการรักษาที่ไว้ป้ายและที่ฝังศพ พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซุเจียง) ผู้บิดาเพื่อให้เป็นปกติถาวรสืบไปภายหน้า…เห็นว่าเป็นความประสงค์อันแท้จริง…เป็นการทำถูกต้องตามพระราชกำหนดกฎหมายแล้ว ถ้าจะมีผู้ใดไปฟ้องร้องว่ากล่าวขอให้เปลี่ยนแปลงไปจากความประสงค์ของ พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิมกอง) นี้อย่างหนึ่งอย่างใดห้ามอย่าให้ผู้พิพากษารับไว้พิจารณาให้ผิดไปจากความประสงค์นี้…”ก็แสดงถึงการที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับรองความถูกต้องของพินัยกรรม และมีพระราชประสงค์ให้ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ฝังศพบิดาของ พระยารัตนเศรษฐี หรือ พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิมก๊อง) กับบุคคลในตระกูลเป็นการถาวรดั่งข้อความในพินัยกรรม หากมีบุคคลใดก็ตามฟ้องร้องว่ากล่าวเพื่อบังคับเอาที่ดินพิพาทไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ก็ห้ามมิให้ผู้พิพากษารับฟ้องรับวินิจฉัยคดีให้ผิดไปจากพินัยกรรมพระบรมราชโองการดังกล่าวมีพระราชประสงค์รวมถึงการห้ามมิให้ฟ้องร้องเอาที่ดินพิพาทโดยอ้างการครอบครองปรปักษ์ด้วย เพราะถ้าหากยินยอมให้บุคคลภายนอกอ้างสิทธิดังกล่าวได้ ก็ย่อมเป็นช่องทางให้ทายาทหรือผู้จัดการมรดกในตระกูล พระยารัตนเศรษฐี เจ้าของที่ดินพิพาทคนใดคนหนึ่งหลีกเลี่ยงข้อความและขัดต่อพระราชประสงค์ในพระบรมราชโองการเอกสาร หมาย จ.3 จ.5 และพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.4 โดยวิธีปล่อยให้ผู้รับโอนที่ดินพิพาทครอบครองปรปักษ์และใช้ที่ดินพิพาทไปแสดงประโยชน์อย่างอื่นนอกจากใช้เป็นฮวงซุ้ยที่ฝังศพในตระกูล พระยารัตนเศรษฐี เป็นการทำให้วัตถุประสงค์ในพินัยกรรมไร้ผลไปได้ ส่วนที่จำเลยทุกคนฎีกาว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6ได้มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2468 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 3 บัญญัติว่า “…ให้ยกเลิกบรรดากฎหมาย กฎและข้อบังคับอื่น ๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในประมวลกฎหมายนี้หรือซึ่งแย้งกับบทแห่งประมวลกฎหมายนี้และ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 4 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2475 ฉะนั้นโจทก์จึงอาจสูญเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการที่บุคคลภายนอกรวมทั้งจำเลยครอบครองปรปักษ์ได้นั้น เห็นว่าพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีผลเด็ดขาดตามกฎหมาย เมื่อมิได้มีพระบรมราชโองการของพระองค์ท่านเองหรืออำนาจเด็ดขาดอื่นใดอันมีเจตนารมณ์ยกเลิกเพิกถอนโดยเฉพาะแล้วพระบรมราชโองการนั้นย่อมยังมีผลอยู่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 1 และบรรพ 4 ที่จำเลยทุกคนนำขึ้นมาอ้างเป็นกฎหมายทั่วไปที่มีผลเพียงยกเลิกกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีแล้วในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือซึ่งแย้งกับบทแห่งประมวลกฎหมายดังกล่าวเท่านั้น ไม่มีข้อความใดระบุว่าให้ยกเลิกพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งมีผลอย่างกฎหมายแต่อย่างใด ข้อความในพระบรมราชโองการเอกสารหมาย จ.3 จ.5 จึงยังมีผลบังคับอยู่ จำเลยทุกคนไม่อาจยกอายุความการครอบครองปรปักษ์ขึ้นต่อสู้โจทก์ ดังนั้น การที่จำเลยและบริวารเข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทและได้ขอออกโฉนดในที่ดินพิพาท จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์
มีปัญหาต่อไปตามฎีกาของจำเลยทุกคนว่า โจทก์มิได้นำสืบว่าโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างใด ทั้งพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.4ก็มีข้อความห้ามทายาทของ พระยารัตนเศรษฐี นำที่ดินพิพาทไปหาผลประโยชน์ โจทก์จะเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่เพียงใด เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทุกคนกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยทุกคนก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จากการที่โจทก์ไม่สามารถจะทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ โดยไม่คำนึงว่าทายาท พระยารัตนเศรษฐี จะมีสิทธินำที่ดินพิพาทไปหาผลประโยชน์ตามความหมายของพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.4 อย่างไรหรือไม่”
พิพากษายืน