คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1343/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บุคคลผู้จะได้มาซึ่งที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายซึ่งทำไว้ก่อนพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ต้องจดแจ้งสัญญานั้นไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 120 วัน นับแต่วันพระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ เมื่อได้มีการซื้อขายไปตามสัญญานั้นแล้วจึงจะถือว่าผู้ซื้อมีสิทธิในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ มิฉะนั้นจะมีผลให้ที่ดินตกเป็นของรัฐ ซึ่งผู้ยึดถือครอบครองอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน เว้นแต่บุคคลนั้นจะอ้างความคุ้มครองจากสิทธิครอบครองของผู้โอนที่ดินนั้นแก่ตนในฐานะผู้รับโอน (เทียบฎีกาที่ 1748/2505)
ในกรณีผู้โอนดังกล่าวได้มาซึ่งที่ดินโดยได้รับอนุญาตให้จับจองตามพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2479 แต่ยังมิได้รับคำรับรองว่าได้ทำประโยชน์แล้ว ก่อนวันที่พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ใช้บังคับนั้น ผู้โอนต้องขอคำรับรองภายใน 180 วันนับจากวันสิ้นสุดแห่งการจับจองตามพระราชบัญญัติดังกล่าว หรือหากระยะเวลาดังกล่าวได้สิ้นสุดลงก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ก็ให้ยื่นคำขอต่อนายอำเภอภายใน 180 วันนับแต่วันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ มิฉะนั้นจะถือว่าที่ดินนั้นเป็นอันปลอดจากการจับจองและตกเป็นของรัฐ อันมีผลให้ถือว่า ผู้นั้นเข้าครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต ฉะนั้น การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างผู้โอนกับจำเลยเมื่อปี 2501 โดยผู้โอนมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวจึงใช้ยันกันได้ระหว่างกันเท่านั้น จะใช้ยันต่อรัฐไม่ได้ เมื่อจำเลยไม่อาจอ้างความคุ้มครองจากสิทธิของผู้โอนที่พิพาทแก่ตนดังกล่าวจำเลยจึงต้องมีความผิดฐานยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (เทียบฎีกาที่ 1061/2503)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจยึดถือ ครอบครอง ก่นสร้างที่ดินของรัฐและแผ้วถางป่าในที่หมู่ ๗ และหมู่ ๘ ตำบลสีคิ้ว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา รวม ๒ แปลง แปลงที่ ๑ เนื้อที่ ๕ ไร่ แปลงที่ ๒ เนื้อที่ ๕๐ ไร่ โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และไม่อยู่ในเขตที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรประการในราชกิจจานุเบกษาให้แผ้วถางได้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๙, ๑๐๘ พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๕๔, ๕๕, ๗๒ ตรี และให้จำเลยออกไปจากที่
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๙, ๑๐๘ ให้ปรับ ๕๐๐ บาท
โจทก์จำเลยต่างอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ว่าจำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๙, ๑๐๘ ให้ยกข้อหานี้ด้วย
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๙, ๑๐๘
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาที่มาสู่ศาลฎีกาเฉพาะในข้อหาว่าจำเลยเข้ายึดถือครอบครองที่ดินของรัฐโดยไม่มีสิทธิในที่ดินนี้ตามโจทก์ฎีกาหรือไม่ว่าข้ออ้างของจำเลยว่าซื้อที่พิพาทจากนายสำราญเมื่อปี ๒๔๙๖ และเข้าครอบครองแต่นั้นมาโดยนายสำราญมอบการครอบครองและสลักหลัง ส.ค.๑ ให้นั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะในปี ๒๔๙๖ ยังไม่มีการแจ้งการครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งการแจ้ง ส.ค.๑ จะมีได้ตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๙๗ จนถึงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๔๙๘ เท่านั้น ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๕ ข้อเท็จจริงบ่งชี้ว่าจำเลยเพิ่งซื้อที่พิพาท เมื่อปี ๒๕๐๑ หาใช่ปี ๒๔๙๖ ซึ่งเป็นปีที่นายสำราญเพิ่งขอจับจองตามหลักฐานที่ปรากฏใน ส.ค.๑ ไม่
ถ้าหากจำเลยตกลงซื้อตั้งแต่ปี ๒๔๙๖ และตกลงชำระเงินในปี ๒๕๐๑ ก็เป็นเพียงสัญญาจะซื้อขายที่ดิน ซึ่งจำเลยจะต้องจดแจ้งสัญญานั้นต่อเจ้าพนักงานที่ดินตามมาตรา ๗๑ ภายใน ๑๒๐ วัน ตามที่พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๑๒ บังคับไว้ มิฉะนั้นจำเลยไม่มีสิทธิในที่ดินซึ่งตกเป็นของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๒ เว้นแต่จำเลยจะได้รับการคุ้มครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๔ ในฐานะผู้รับโอน
แต่จำเลยซื้อหรือรับโอนที่ดินเมื่อปี ๒๕๐๑ อันเป็นเวลาที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับแล้ว จำเลยจะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๔ ดังกล่าว ก็ต้องพิสูจน์ว่านายสำราญมีสิทธิครอบครองอยู่ก่อนวันใช้บังคับของกฎหมายดังกล่าว มิฉะนั้นต้องถือว่าเป็นที่ดินของรัฐซึ่งผู้ใดเข้ายึดถือครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตจะต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๙ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๔๘/๒๕๐๕) แต่ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบแสดงว่าก่อนจำเลยซื้อที่พิพาท นายสำราญมิได้ทำประโยชน์ให้เกิดสิทธิครอบครองตามกฎหมายสำหรับการแจ้ง ส.ค.๑ ไม่ทำให้ผู้แจ้งมีสิทธิครอบครองดังปรากฏตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๕ วรรคท้าย อีกประการหนึ่งหากนายสำราญได้ที่พิพาทมาโดยขอจับจอง เมื่อปี ๒๔๙๖ ซึ่งเป็นเวลาระหว่างใช้บังคับพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๔๗๙ และยังมิได้รับคำรับรองว่าได้ทำประโยชน์แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ นี้ใช้บังคับ นายสำราญจะต้องขอคำรับรองว่าได้ทำประโยชน์แล้วภายใน ๑๘๐ วันนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาแห่งการจับจองตามพระราชบัญญัติดังกล่าว หรือภายใน ๑๘๐ วันนับแต่วันใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน มิฉะนั้นให้ถือว่าที่ดินนั้นปลอดจากการจับจองตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๗ เมื่อนายสำราญมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวก็จะโอนที่ดินไปไม่ได้เว้นแต่จะตกทอดโดยทางมรดกตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๘ ฉะนั้นการซื้อขายระหว่างนายสำราญกับจำเลยเมื่อปี ๒๕๐๑ จึงใช้ยันกันได้แต่เฉพาะเอกชนด้วยกันเองเท่านั้นจะใช้ยันต่อรัฐไม่ได้ กรณีเช่นนี้ต้องถือว่าที่ดินตกเป็นของรัฐ จำเลยจึงต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๙ พิพากษาแก้ให้บังคับคดีตามศาลชั้นต้น

Share