คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3843/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยมีว่า ถ้ามีกรณีโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับข้อสัญญา อันคู่สัญญาจะตกลงประนีประนอมกันมิได้ ให้คู่สัญญาเสนอข้อพิพาทที่โต้แย้งต่ออนุญาโตตุลาการที่พักอาศัยในประเทศไทยเพื่อชี้ขาด โดยต่างฝ่ายต่างมีสิทธิตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายละหนึ่งคนนั้น หมายถึงข้อขัดแย้งอันเป็นอุปสรรคที่ทำให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่สามารถปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาได้ การที่จำเลยที่ 1 ส่งของไม่ตรงตามกำหนดสัญญาและส่งมอบเอกสารเกี่ยวกับพิธีศุลกากรให้โจทก์ล่าช้า จึงมิใช่ข้อขัดแย้งอันเกิดจากสัญญาซึ่งจะต้องเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ทั้งตามสัญญาก็ไม่มีข้อห้ามว่ากรณีที่มิได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการแล้ว ห้ามมิให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดฟ้องคดี โจทก์จึงฟ้องจำเลยต่อศาลได้
จำเลยมิได้ยกอายุความเกี่ยวกับค่าเสียหายเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การคงให้การต่อสู้เฉพาะเรื่องเบี้ยปรับ คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความเกี่ยวกับค่าเสียหายมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น แม้ศาลชั้นต้นจะรับวินิจฉัย หรือศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยไม่มีผลทำให้จำเลยมีสิทธิฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์คืนสัญญาค้ำประกันแก่จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกัน โดยเข้าใจผิดว่าจำเลยที่ 1 ชำระเบี้ยปรับกับค่าเสียหายให้โจทก์แล้ว ดังนี้ไม่ทำให้สัญญาค้ำประกันระงับ จำเลยที่ 2 ยังผูกพันต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ผิดสัญญา ส่งของลงเรือเกินกำหนดสัญญาส่งมอบของตามรายการไม่ครบชุด ส่งมอบเอกสารสำหรับใช้ในการออกของให้แก่โจทก์ล่าช้าทำให้โจทก์เสียหาย ส่วนจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกัน ขอให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่ามิได้ผิดสัญญาต่อโจทก์ โจทก์มิได้สงวนสิทธิที่จะเรียกค่าปรับ สิทธิเรียกร้องค่าปรับขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ มิได้ผิดสัญญา โจทก์ปลดภาระค้ำประกันและเวรคืนสัญญาค้ำประกันแก่จำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาซื้อขายกำหนดว่า เมื่อมีข้อโต้แย้งได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการชี้ขาดก่อนโจทก์ฟ้องคดีโดยมิได้แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาท ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาขายของให้โจทก์โดยกำหนดส่งของลงเรือเป็นงวด ถ้าผิดสัญญายอมให้ปรับเป็นรายเดือน จำเลยที่ ๒ ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ ๑ ปรากฏตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.๒ และสำเนาสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.๑๓, จ.๑๖ ต่อมาจำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาโดยส่งของลงเรือแต่ละงวดเกินกำหนด และส่งมอบของบางชิ้นล่าช้ากว่ากำหนด ซึ่งโจทก์มีสิทธิปรับจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๑ ส่งมอบเอกสารสำหรับใช้ในการออกของให้โจทก์ล่าช้าทำให้โจทก์เสียหาย ต้องเสียค่าเช่าโรงพักสินค้าและภาษีเพิ่มรวมเป็นเงิน ๔,๘๒๑ บาท ๗๘ สตางค์ โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์ได้คืนต้นฉบับหนังสือสัญญาค้ำประกันแก่จำเลยที่ ๒ ไปแล้ว
ในปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ข้อ ๑๓ ที่ว่า “ถ้ามีกรณีโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับข้อสัญญานี้ก็ดี อันคู่สัญญาจะตกลงประนีประนอมกันมิได้ ให้คู่สัญญาเสนอข้อพิพาทที่โต้แย้งต่ออนุญาโตตุลาการที่พักอาศัยในประเทศไทยเพื่อชี้ขาด โดยต่างฝ่ายต่างมีสิทธิตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายละหนึ่งคน” นั้น หมายถึงข้อขัดแย้งอันเป็นอุปสรรคที่ทำให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่สามารถปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาได้ คดีนี้มีการส่งของและรับมอบของกันเสร็จสิ้นไปแล้วโดยไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาที่ทำกันไว้ เพียงแต่จำเลยที่ ๑ ส่งของไม่ตรงตามกำหนดของสัญญา และส่งมอบเอกสารเกี่ยวกับพิธีศุลกากรให้โจทก์ล่าช้า จึงไม่ใช่ข้อขัดแย้งอันเกิดจากสัญญาซึ่งจะต้องเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ทั้งตามสัญญาก็ไม่มีข้อห้ามว่ากรณีที่มิได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการแล้วห้ามมิให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดฟ้องคดี โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง
ส่วนในปัญหาที่ว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความหรือไม่นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ มิได้ยกอายุความเกี่ยวกับค่าเสียหายเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การคงให้การต่อสู้เฉพาะเรื่องเบี้ยปรับ ฉะนั้น คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความเกี่ยวกับค่าเสียหายมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น แม้ศาลชั้นต้นจะรับวินิจฉัยหรือศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยไม่มีผลทำให้จำเลยที่ ๑ มีสิทธิฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สำหรับปัญหาที่ว่า สัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ ๒ ระงับหรือไม่ เห็นว่า แม้จะได้ความว่าโจทก์คืนต้นฉบับสัญญาค้ำประกันแก่จำเลยที่ ๒ ทั้งแจ้งว่าสัญญาค้ำประกันหมดภาระผูกพันก็ตาม แต่ได้ความตามคำเบิกความของนายเจริญ มากันต์พยานโจทก์ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกกฎหมายของโจทก์ว่า หัวหน้ากองจัดซื้อคืนสัญญาค้ำประกันแก่จำเลยที่ ๒ โดยเข้าใจผิดว่าจำเลยที่ ๑ ชำระเบี้ยปรับกับค่าเสียหายให้โจทก์จำเลยที่ ๒ มิได้นำสืบหักล้าง คำของนายเจริญมีเหตุผล เพราะปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๑๙ ซึ่งเป็นบันทึกภายในของโจทก์ว่าเจ้าหน้าที่ของโจทก์บันทึกเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้น ให้ดำเนินการเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระเบี้ยปรับและค่าเสียหายถ้าไม่ใช่กรณีเกิดจากความเข้าใจผิด ก็ไม่มีเหตุผลที่โจทก์จะยินยอมคืนสัญญาค้ำประกันแก่จำเลยที่ ๒ ทั้ง ๆ ที่ยังมิได้รับชำระหนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์คืนสัญญาค้ำประกันแก่จำเลยที่ ๒ ด้วยความเข้าใจผิด การที่โจทก์คืนสัญญาค้ำประกันแก่จำเลยที่ ๒ เช่นนี้ไม่ทำให้สัญญาค้ำประกันระงับ จำเลยที่ ๒ ผูกพันต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน
พิพากษายืน

Share