คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13416/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจ้างมีใจความว่า หากอายุสัญญาสิ้นสุดแล้ว ห้ามจำเลยทำงานในตำแหน่งใด ๆ หรือช่วยเหลือบริษัทอื่นใดในประเทศไทยซึ่งเป็นคู่แข่ง (ผู้ผลิตตัวเรือนนาฬิกา) ของโจทก์ เป็นเวลา 2 ปี ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเพียงข้อจำกัดห้ามการประกอบอาชีพอันมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับโจทก์โดยระบุจำกัดประเภทของธุรกิจไว้อย่างชัดเจน มิได้เป็นการห้ามประกอบอาชีพอันเป็นการปิดทางทำมาหาได้ของจำเลยอย่างเด็ดขาดและจำเลยก็สามารถที่จะประกอบอาชีพหรือทำงานในบริษัทประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการขายสินค้าหรือบริการอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือจากข้อตกลงนี้ได้ ขอบเขตพื้นที่ที่ห้ามก็เฉพาะประเทศไทย ลักษณะของข้อตกลงเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการตัดการประกอบอาชีพของจำเลยทั้งหมด เพียงแต่เป็นการห้ามประกอบอาชีพบางอย่างที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับโจทก์เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีที่เป็นไปโดยชอบในเชิงของการประกอบธุรกิจ ไม่เป็นการปิดทางทำมาหาได้ของฝ่ายใดโดยเด็ดขาดจนไม่อาจดำรงอยู่ได้ จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่เป็นโมฆะ
ข้อตกลงในการห้ามจำเลยทำงานหลังจากพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์เป็นข้อตกลงในการจำกัดสิทธิของจำเลย จึงต้องตีความในข้อตกลงดังกล่าวโดยเคร่งครัด เมื่อเงื่อนไขในข้อตกลงตามสัญญาจ้างที่ห้ามจำเลยเข้าทำงานหรือช่วยเหลือบริษัทอื่นใดซึ่งเป็นคู่แข่งของโจทก์กำหนดห้ามไว้เฉพาะบริษัทอื่นที่เป็นผู้ผลิตตัวเรือนนาฬิกาเท่านั้น การที่จำเลยลาออกจากการเป็นลูกจ้างโจทก์แล้วไปเข้าทำงานกับบริษัท ป. ซึ่งประกอบกิจการผลิตสายนาฬิกาส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ หาใช่เป็นบริษัทที่เป็นผู้ผลิตตัวเรือนดังที่ข้อสัญญาดังกล่าวกำหนดห้ามไว้ไม่ การเข้าทำงานของจำเลยกับบริษัท ป. จึงไม่เป็นการผิดสัญญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายตลอดระยะเวลาที่ผิดสัญญาจ้างในอัตราเดือนละ1,000,000 บาท ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ถึงเดือนธันวาคม 2550 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันสิ้นเดือนของแต่ละเดือนที่จำเลยผิดสัญญาจ้างจนถึงวันที่ชำระเสร็จแก่โจทก์ กับห้ามจำเลยทำงานในตำแหน่งใด ๆ หรือช่วยเหลือบริษัทโปร-ฟินิช จำกัด หรือบริษัทอื่นในประเทศไทยซึ่งเป็นคู่แข่งทางการค้ากับโจทก์ภายใน 2 ปี นับแต่วันสิ้นสุดสัญญาจ้างกับโจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาห้ามไม่ให้จำเลยทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่เทคนิคด้านการผลิต (ควบคุมคุณภาพ) ให้กับบริษัทโปร-ฟินิช จำกัด หรือช่วยเหลือหรือกระทำการใด ๆ ให้กับบริษัทดังกล่าวหรือบริษัทในเครือหรือบริษัทอื่นที่ประกอบกิจการแข่งขันกับโจทก์เป็นเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2548 เป็นต้นไป พร้อมทั้งให้ชำระค่าเสียหายเดือนละ 75,000 บาท ตลอดระยะเวลาเดียวกันให้แก่โจทก์ ทั้งนี้นับแต่วันที่มีคำพิพากษาเป็นต้นไป คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์ประกอบกิจการผลิตอุปกรณ์ สายนาฬิกา และชิ้นส่วนนาฬิกาข้อมือโดยไม่รวมถึงตัวเครื่องจักรนาฬิกา เพื่อส่งไปจำหน่ายยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ตั้งแต่ปี 2537 ทำสัญญาจ้างกันหลายฉบับ แต่ละฉบับมีระยะเวลาจำกัด เมื่อครบกำหนดแล้วมีการต่ออายุสัญญากันเรื่อยมา ฉบับสุดท้ายลงวันที่ 7 ธันวาคม 2545 ตามสัญญาจ้าง จำเลยมีหน้าที่หลักในการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพ ติดตั้งเครื่องจักรสำหรับผลิตตัวเรือนนาฬิกาและอุปกรณ์ทุกชนิดสำหรับนาฬิกาข้อมือ หลังลาออกจำเลยเข้าทำงานเป็นลูกจ้างบริษัทโปร-ฟินิช จำกัด ซึ่งประกอบกิจการผลิตสายนาฬิกาส่งไปจำหน่ายยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพื่อนำไปประกอบเข้ากับเครื่องจักรนาฬิกาแล้วนำออกจำหน่าย แล้ววินิจฉัยว่า บริษัทโปร-ฟินิช จำกัด มีบริษัทในเครืออีกหลายแห่งที่มีกรรมการชุดเดียวกันและประกอบกิจการคล้ายคลึงกัน ขณะทำงานกับโจทก์นั้นจำเลยมีตำแหน่งช่างเทคนิคการผลิตควบคุมดูแลซ่อมบำรุง ถ่ายทอดเทคโนโลยีของเครื่องจักรในการผลิตให้แก่ลูกจ้างโจทก์เช่นเดียวกับงานที่จำเลยทำให้แก่บริษัทโปร-ฟินิช จำกัด ซึ่งการทำงานดังกล่าวเป็นการควบคุมหัวใจการผลิตสินค้าจึงเป็นหน้าที่ที่สำคัญต่อธุรกิจของทั้งสองบริษัท จำเลยได้รับประสบการณ์เกี่ยวกับการผลิตตัวเรือนหรือสายนาฬิกาจากโจทก์ทำให้จำเลยนำประสบการณ์และเทคนิคต่าง ๆ ไปใช้ในบริษัทโปร-ฟินิช จำกัด จึงได้รับค่าจ้างเพิ่มสูงขึ้น สัญญาจ้างฉบับลงวันที่ 7 ธันวาคม 2545 ไม่เป็นโมฆะ ข้อสัญญาที่ระบุห้ามจำเลยทำงานกับบริษัทอื่นซึ่งประกอบกิจการแข่งขันกับโจทก์เป็นเวลา 2 ปี นับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดเมื่อเปรียบเทียบกับตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยแล้วไม่ขัดต่อกฎหมาย จึงมีผลใช้บังคับ โจทก์จึงมีสิทธิห้ามจำเลยทำงานกับบริษัทโปร-ฟินิช จำกัด การทำงานของจำเลยกับบริษัทดังกล่าวทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกที่ว่า ข้อสัญญาที่ระบุห้ามจำเลยทำงานกับบริษัทอื่นซึ่งประกอบกิจการแข่งขันกับโจทก์เป็นเวลา 2 ปี นับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดเป็นโมฆะหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่าการกำหนดเขตพื้นที่ห้ามไม่ให้จำเลยทำงานกับบริษัทคู่แข่งใด ๆ ของโจทก์ในประเทศไทย เป็นการจำกัดโอกาสในการประกอบอาชีพของบุคคลโดยเด็ดขาด และโจทก์ไม่ได้ให้สินจ้างหรือเงินตอบแทนพิเศษหรือให้ความรู้เพิ่มเติมเป็นการตอบแทนกับข้อตกลงห้ามประกอบอาชีพจึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ เห็นว่า สัญญาจ้างข้อ 6 มีใจความว่า หากอายุสัญญาสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2548 แล้ว ห้ามจำเลยทำงานในตำแหน่งใด ๆ หรือช่วยเหลือบริษัทอื่นใดในประเทศไทยซึ่งเป็นคู่แข่ง (ผู้ผลิตตัวเรือนนาฬิกา) ของโจทก์เป็นเวลา 2 ปี ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยดังกล่าวเป็นเพียงข้อจำกัดห้ามการประกอบอาชีพอันมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับโจทก์ โดยระบุจำกัดประเภทของธุรกิจไว้อย่างชัดเจน มิได้เป็นการห้ามประกอบอาชีพอันเป็นการปิดทางทำมาหาได้ของจำเลยอย่างเด็ดขาดและจำเลยก็สามารถที่จะประกอบอาชีพหรือทำงานในบริษัทประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการขายสินค้าหรือบริการอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือจากข้อตกลงนี้ได้ ขอบเขตพื้นที่ที่ห้ามก็เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ลักษณะของข้อตกลงที่ก่อให้เกิดหนี้ในการงดเว้นการกระทำตามที่กำหนดโดยความสมัครใจของคู่กรณีเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการตัดการประกอบอาชีพของจำเลยทั้งหมดเสียทีเดียว เพียงแต่เป็นการห้ามประกอบอาชีพบางอย่างที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับโจทก์เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีที่เป็นไปโดยชอบในเชิงของการประกอบธุรกิจ กรณีไม่จำต้องพิจารณาว่าการกำหนดห้ามประกอบอาชีพดังกล่าวมีการตกลงให้สินจ้างหรือเงินตอบแทนเป็นพิเศษหรือให้ความรู้เพิ่มเติมด้วยหรือไม่ เพราะข้อตกลงดังกล่าวไม่เป็นการปิดทางทำมาหาได้ของฝ่ายใดโดยเด็ดขาดจนไม่อาจดำรงอยู่ได้เสียแล้ว จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่เป็นโมฆะ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมาย โดยมีผลใช้บังคับนั้นชอบแล้ว แต่อย่างไรก็ตามข้อตกลงในการห้ามจำเลยทำงานหลังจากพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์นั้นเป็นข้อตกลงในการจำกัดสิทธิของจำเลย จึงต้องตีความในข้อตกลงดังกล่าวโดยเคร่งครัด เมื่อเงื่อนไขในข้อตกลงตามสัญญาจ้างที่ห้ามจำเลยเข้าทำงานหรือช่วยเหลือบริษัทอื่นใดซึ่งเป็นคู่แข่งของโจทก์กำหนดห้ามไว้เฉพาะบริษัทอื่นที่เป็นผู้ผลิตตัวเรือนนาฬิกาเท่านั้น เมื่อได้ความว่าหลังจากจำเลยลาออกจากการเป็นลูกจ้างโจทก์แล้วเข้าทำงานกับบริษัทโปร-ฟินิช จำกัด โดยประกอบกิจการผลิตสายนาฬิกาส่งไปจำหน่ายยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หาใช่เป็นบริษัทที่เป็นผู้ผลิตตัวเรือนดังที่ข้อสัญญาดังกล่าวกำหนดห้ามไว้ไม่ การเข้าทำงานของจำเลยกับบริษัทโปร-ฟินิช จำกัด จึงไม่เป็นการผิดสัญญา ซึ่งจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการเข้าทำงานของจำเลยกับบริษัทโปร-ฟินิช จำกัด เป็นการผิดสัญญาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายและกำหนดค่าเสียหายให้นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์และจำเลยอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

Share